วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
(National Wildlife Protection Day)

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ เสาร์, 11/10/2008 – 21:54
มีผู้อ่าน 9,769 ครั้ง (29/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16927

     สัตว์ป่าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในแต่ละพื้นที่ ทั้งชนิด จำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่า จึงช่วยค้ำจุนให้ทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ 
     ในอดีตประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการทำลายป่าและล่าสัตว์มากขึ้น เป็นผลให้แหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ของสัตว์ป่าถูกทำลาย สัตว์ป่าถูกล่าจนมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าหลายชนิดเกือบจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
     กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่าในขณะนั้น มีเพียง พระราชบัญญัติรักษาช้างป่า ร.ศ.1199(พ.ศ.2443) เท่านั้น ยังไม่มีการคุ้มครองสัตว์ป่าอื่น ๆ
     ต่อมาในปีพ.ศ.2503 รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น คือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503  โดยมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงลงนามในพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503
     ปี พ.ศ.2535 ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ใหม่ โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย  ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าและให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรทีสำคัญของโลก ดังนั้นเพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ  สมควรปรับปรุงกฏหมายนี้และต่อมาได้ถือเอาวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” อย่างไรก็ตาม สัตว์ป่าในธรรมชาติก็ยังคงถูกไล่ล่า และลดจำนวนลงเรื่อยๆ ภารกิจ ของผู้มีหน้าที่ในการปกป้องชีวิตสัตว์ป่ามีมากขึ้น การทำงานเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ลำพังเพียงเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนฝ่าย ประสานร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน เยาวชน และองค์กรเอกชนต่าง ๆ การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

     การบุกรุกพื้นที่ป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรมย่อมส่งผลให้ถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าถูกทำลาย   อีกทั้งยังมีการล่าสัตว์ป่าเพื่อนำไปบริโภคและค้าขายชิ้นส่วนของสัตว์ป่าที่ส่งผลให้สัตว์ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ และอีกหลายชนิดตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ แม้ว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 โดยมีการปรับปรุงใน พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2562 ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเพาะพันธุ์สัตว์ป่าบางประเภทได้ รวมถึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม โดยการสร้างเครือข่ายทั่วไปในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศทั้งสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีชีวิต ซาก และผลิตภัณฑ์  

     ปัจจุบันสัตว์ป่าบางชนิดยังคงถูกคุกคาม ไล่ล่า และลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จนต้องมีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมาย รวม 19 ชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ เลียงผา แมวลายหินอ่อน แรดชวา กระซู่ กูปรี กวางผา ควายป่า นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน พะยูน ละองละมั่ง สมเสร็จ สมัน เต่ามะเฟือง วาฬโอมูระ วาฬบรูด้า และปลาฉลามวาฬ นอกจากนี้ ได้มีการเสนอเพิ่มอีก 1 ชนิด ได้แก่ นกชนหิน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

     การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ลำพังเพียงเจ้าหน้าที่ป่าไม้อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรอื่น ภาคเอกชน และประชาชน ‘หยุดล่า หยุดฆ่า หยุดค้า หยุดกิน และหยุดเลี้ยงสัตว์ป่า’ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป 

กิจกรรม
     เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสูญเสีย ตลอดจนกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนและช่วยกันปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่ตลอดไป  โดยงดเว้นการตัดไม้ทำลายป่า ให้ความเมตตาแก่สัตว์ป่า งดล่าสัตว์ป่า และร่วมปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่อิสระภาพ ได้แก่
-การจัดนิทรรศการ บรรยาย จัดทำเอกสาร แผ่นพับ แผ่นภาพ
-ประกวดคำขวัญ ประกวดภาพถ่าย
-จัดประชุม สัมมนา
แหล่งที่มาข้อมูล :

  • forest.go.th
  • deqp.go.th
  • tungsong.com
  • https://www.tei.or.th/th/events_activities_detail.php?event_id=1545