โลกและการเปลี่ยนแปลง
สร้างโดย : นางดรุณี เสมอภาค และอาทร ยอดจันทร์
สร้างเมื่อ ศุกร์, 14/01/2011 – 00:53
มีผู้อ่าน 261,105 ครั้ง (26/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/90906
กำเนิดโลก (Origin of the Earth)
โลกและระบบสุริยะจักรวาล กำเนิดในเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณ 4.6 พันล้านปีมาแล้ว ขนาดและตำแหน่งของโลกมีความเหมาะสม ทำให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้น เมื่อประมาณ 3.8 พันล้านปีมาแล้ว โลกแบ่งตามวิวัฒนาการได้เป็น 5 ขั้น ได้แก่
ขั้นเริ่มแรก
ขั้นก่อเหล็ก
ขั้นแยกชั้น
ขั้นเกิดใหม่
ขั้นเย็นตัวลง
ในขั้นแรกเริ่มประมาณ 4.6 พันล้านปีมาแล้ว เป็นการรวมตัวกันของธาตุและสารประกอบต่างๆ ทำให้เกิดการพอกตัวจนเกิดพลังงานความร้อนเนื่องจากการชนกันของสารในที่สุดโลกจึงเกิดการหดตัวหลังจากมีการพอกตัว ทำให้อุณหภูมิโลกสูงมากขึ้น การสลายตัวของสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวช่วยเสริมความร้อนต่อมาในขั้นก่อเหล็ก เหล็กเกิดการละลาย จึงเกิดเป็นแกนโลกได้ ส่วนชั้นอื่น เช่น เนื้อโลกมีการจมตัวและลอยตัวของธาตุที่หนักและเบาเกิดเป็นขั้นแยกชั้น ต่อมาผลของการพาความร้อนในชั้นเนื้อโลก จึงเกิดเป็นเปลือกโลกทำให้ได้ขั้นเกิดใหม่ของโลกและในที่สุด เมื่อโลกเย็นตัวลงจึงเกิดกระบวนการการพื้นผิวในที่สุด จึงได้เปลือกทวีปและเปลือกมหาสมุทร ชั้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นเป็นผลเนื่องมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งปล่อยน้ำภายในโลกออกมามากมาย ซึ่งมีผลต่อการสร้างบรรยากาศใหม่ของน้ำ ,แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สไนโตรเจน นอกจากนี้ตำแหน่งของโลกที่สัมพันธ์กับของดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำกลั่นตัวเป็นมหาสมุทรในที่สุด เมื่อสภาพเหมาะสมจึงเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ ขนาดของโลกยังทำให้การระเบิดของภูเขาไฟ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ (ฐิติมา เจริญฐิติรัตน์และคณะ. 2546)
อ่านเพิ่มเติม...
กำเนิดชีวิต (Origin of Life)
โดยทั่วๆไปในจักรวาล จะพบสสารต่างๆ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน น้ำ มีเทน แอมโมเนียและธาตุหายาก ในหลายๆแห่ง แต่องค์ประกอบพื้นฐานของเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตเรียกว่า กรดอะมิโน (amino acid) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่ประกอบขึ้นด้วยสสารต่างๆข้างต้น ดังนั้นการอธิบายถึงการกำเนิดของชีวิต จึงเริ่มมีการสร้างกรดอะมิโนขึ้นมา
A.I.Oparin นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียเสนอแนะว่า การก่อตัวของสารประกอบเชิงซ้อนที่พบในสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นในบรรยากาศของโลกในสมัยเริ่มแรก โดยการสังเคราะห์จากไฮโดรเจน มีเทน แอมโมเนีย และน้ำ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า กรดอะมิโนพบอยู่ทั่วไปในระบบสุริยะ และจากการวิเคราะห์ ดินตะกอนจากดวงจันทร์ก็พบกรดอะมิโนด้วยเช่นกัน
เครื่องมือที่ใช้สำหรับสร้างประวัติของโลกและสิ่งมีชีวิตก็คือการเรียนรู้เรื่องของฟอสซิล หลักฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยาและชีววิทยา
โครงสร้างภายในของโลก
โลกของเรา มีสัณฐานเกือบเป็นทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางแนวนอนหรือเส้นศูนย์สูตรยาว 12,755 กิโลเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางแนวตั้งยาว 12,711 กิโลเมตร
จากการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหวทำให้นักวิทยาศาสตร์แบ่งโลกออกเป็นชั้นต่างๆจากผิวโลกถึงชั้นในสุดได้ 3 ชั้นใหญ่ๆ ดังนี้
1. ชั้นเปลือกโลก(Crust) เป็นชั้นนอกสุดมีความหนาระหว่าง 5-40 กิโลเมตรจากผิวโลก มีสภาพเป็นของแข็งทั้งหมด สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.1 เปลือกโลกภาคพื้นทวีป หรือเปลือกโลกชั้นบน(continental crust)เป็นส่วนของหิน ดินทราย ที่ปกคลุมโลกเป็นหินไซอัล (sial layer) ที่ประกอบด้วยธาตุ Si และ Al (หนา 5 กิโลเมตร)
1.2 เปลือกโลกใต้มหาสมุทร หรือเปลือกโลกชั้นใน (oceanic crust) เป็นหินไซมา (sima layer) เป็นชั้นหินที่ประกอบด้วยธุาตุ Si และ Mg (หนา 20-70 กิโลเมตร)
2. ชั้นกลางโลกหรือเนื้อโลก (Mantle) เป็นชั้นที่อยู่ระหว่างเปลือกโลกกับแก่นโลก มีความหนาประมาณ 2,885 กิโลเมตร มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม เหล็ก และซิลิกอนเป็นส่วนใหญ่โดยมีธาตุโลหะมากกว่าชั้นเปลือกโลก ชั้นกลางโลกเกือบทั้งหมดเป็นของแข็ง ยกเว้นที่ความลึกประมาณ70-260 กิโลเมตรมีการหลอมละลายของหินเป็นบางส่วน เรียกว่า ชั้นฐานธรณีภาค(Asthenosphere) โดยสามารถสรุปดังนี้
100 km แรก ชั้นเนื้อโลกส่วนบนกับชั้นเปลือกโลกรวมกัน เรียกว่า “ ธรณีภาค (Lithosphere) ”
ชั้นเนื้อโลกถัดไปที่ความลึก 100-300 km เรียกว่า “ ฐานธรณีภาค (Asthenosphere) ” มีแมกมาไหลวนอยู่
300-2,870 km ชั้นหินร้อนแดงซึ่งอยู่ตอนนอก และชั้นหินร้อนขาวซึ่งอยู่ตอนใน T=2,250 – 4,500 องศาเซลเซียส
3. ชั้นแก่นโลก(Core) เป็นส่วนชั้นในสุดของโลกที่มีความหนาแน่นมาก มีรัศมียาวประมาณ 3,486 กิโลเมตรประกอบด้วยโลหะผสมระหว่างเหล็กและนิกเกิล แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ
แก่นโลกชั้นนอก (outer core) มีลักษณะคล้ายของหนืด ยืดหยุ่นแบบพลาสติก
แก่นโลกชั้นใน (inner core) เป็นของแข็ง มีความหนาแน่นสูง ทรงกลมขนาดรัศมี 1,216 กิโลเมตร
เชื่อว่าประกอบด้วยเหล็กและนิเกิลเป็นหลัก มีความหนาแน่นมากกว่าหินทั่วไปถึง 5 เท่า (ความถ่วงจำเพาะมากกว่า 17) และมีความร้อนสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส
การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
เปลือกโลกมิใช่เป็นพื้นเดียวต่อกันแต่ประกอบด้วยแผ่นทวีปและแผ่นมหาสมุทร(Plate) หลายแผ่นที่เคลื่อนที่ไปบนชั้นฐานธรณีภาค บริเวณขอบหรือรอยต่อของแต่ละแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาเนื่องจากปัจจัย 3 ประการ คือ
1. โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์และหมุนรอบตัวเอง
2. การไหลเวียนของกระแสความร้อนในหินหนืด
3. ความหนาแน่นที่แตกต่างกันของเปลือกโลก
แผ่นเปลือกโลกสำคัญมี จำนวน 13 แผ่น โดยแต่ละแผ่นจะมีขอบเขตเฉพาะได้แก่
1. แผ่นอเมริกาเหนือ
2. แผ่นอเมริกาใต้
3. แผ่นยูเรเซีย
4. แผ่นแอฟริกา
5. แผ่นอินเดีย
6. แผ่น แปซิฟิก
7. แอนตาร์กติก
8. แผ่นฟิลิปปินส์
9. แผ่นอาหรับ
10. แผ่นสกอเทีย
11. แผ่นโกโก้
12. แผ่นแคริเบียน
13. แผ่นนาซก้า
แผนที่แสดงขอบเขตแผ่นเปลือกโลกและทิศทางการเคลื่อนที่
สัณฐานของโลก
โลกมีรูปทรงสัณฐานเกือบกลม โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของทรงกลมจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ยาวประมาณ 12,714 กิโลเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นศูนย์สูตรยาวประมาณ 12,757 กิโลเมตร จุดสูงสุดของโลกอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ จุดลึกสุดของพื้นมหาสมุทรอยู่ที่ร่องลึกมาเรียนา
ตำแหน่งที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร
คือ ตำแหน่งลึกชาเลนเจอร์(Challenger Deep) ในร่องลึกมาเรียน่า (Mariana Trench) โดยตำแหน่งนี้อยู่ลึกต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 10,924 เมตร (35,840 ฟุต)
ถ้าเอาเทือกเอเวอเรสต์(Mount Everest) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกไปวางไว้ในบริเวณนั้นก็จะถูกน้ำท่วมสูงหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว คำว่าตำแหน่งลึกชาเลนเจอร์นั้นได้มาจากชื่อเรือสำรวจชาเลนเจอร์ 2 ของสหราชอาณาจักร(British survey ship Challenger II) ซึ่งสำรวจพบจุดลึกนี้ในปี 1951
แนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก
โลกเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งส่วนที่เป็นบรรยากาศห่อหุ้มโลกและส่วนที่ประกอบอยู่ภายในของโลก อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ และรอบตัวเอง รวมไปถึงการที่โลกยังร้อนอยู่ภายในมีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่อธิบายถึงการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ดังนี้
ทฤษฎีทวีปเลื่อน (Continental Drift Theory)
ปี ค.ศ. 1915 Alfred Wegener นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้นำเสนอสมมุติฐาน ทวีปเลื่อน (continental drift) โดยกล่าวว่า ทวีปต่างๆ ที่เห็นอยู่บนโลกเราปัจจุบันนี้ ในอดีตได้เคยอยู่รวมกันเป็นทวีปเดียว เรียกว่า พันเจีย (Pangaea Supercontinent) และได้เกิดการแยกตัวและเคลื่อนที่ออกจากกันมาเมื่อกว่า 250 ล้านปีที่แล้ว โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ รูปร่างของทวีปต่างๆที่สามารถต่อติดกันได้พอดี พบซากดึกดำบรรพ์ชนิดเดียวกันในหินที่เกิดในสภาวะแวดล้อมเดียวกันแต่อยู่คนละทวีปที่ห่างไกลกันมาก หินอายุเดียวกันที่อยู่ต่างทวีปกันมีรูปแบบสนามแม่เหล็กโบราณคล้ายคลึงกันและขอบของทวีปสามารถเชื่อมตัวประสานแนบสนิทเข้าด้วยกันได้
จากภาพ ซ้ายคือแผ่นพันเจีย
ภาพขวามือธิบายเกี่ยวกับลอเรเชีย ประกอบด้วย ทวีปอเมริกาเหนือ เกาะกรีนแลนด์ ทวีปยูเรเชีย (ยกเว้นอินเดีย) และกอนด์วานา ประกอบด้วย ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา แอนตาร์กติกา อินเดีย ออสเตรเลีย และเกาะมาดากัสการ์
หลักฐานจากฟอสซิล
ทฤษฎีวงจรการพาความร้อน (Convection Current Theory)
ปี ค.ศ.1928 นักธรณีวิทยาชาวสก๊อต Arthur Holmes ได้อธิบายว่า ทวีปสามารถเคลื่อนตัวได้ เนื่องจากการนำพาคลื่นความร้อนภายในโลก (heat convection current) โดยคลื่นความร้อนจะเคลื่อนตัวขึ้นมาจากใจกลางของโลก แล้วเคลื่อนตัวในแนวระนาบและมุดตัวกลับลงไป การเคลื่อนตัวของกระแสคลื่นความร้อนนี้จะชักเหนี่ยวนำให้ทวีปมีการเคลื่อนตัวได้ ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายถึงการเกิดทวีปเลื่อนได้
ทฤษฎีเปลือกโลกใต้มหาสมุทรแยกตัว (Sea Floor Spreading Theory)
จากปรากฎการณ์การแตกตัวและแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปและใต้มหาสมุทรสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว การเกิดหมู่เกาะภูเขาไฟ การเกิดแนวเทือกเขากลางมหาสมุทร การขยายตัว และการเกิดใหม่ของมหาสมุทร ทำให้เกิดสมมติฐานและกลายเป็นทฤษฎีนี้ขึ้นเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกต่าง ๆ
ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก(plate Tectonic Theory)
ลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก แผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา โดยปกติ มนุษย์ไม่สามารถรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เช่นเดียวกับที่เราไม่รู้สึกถึงการหมุนรอบตัวเองของโลก แต่หากการเคลื่อนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและฉับพลัน จะก่อให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว มนุษย์จึงรับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกได้ การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 2-15 เซนติเมตร/ปี สามารถแบ่งประเภทของการเคลื่อนที่ได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ออกจากกัน (Divergent Plate Boundary)
เป็นการดันขึ้นมาของแมกมาจากชั้นฐานธรณีภาค เย็นตัวและแข็งกลายเป็นหินที่ยึดติดเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกที่กำลังเคลื่อนที่ที่ขอบของแผ่นเปลือกทวีปนี้ได้แก่ เทือกสันเขากลางมหาสมุทร (Mid-Oceanic Ridge) ที่ปรากฏอยู่บนเปลือกโลก พื้นมหาสมุทร เช่น เทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Atlantic Ridge) และบริเวณที่เป็นแนวร่องหุบเขา (Rift Valley) ที่แสดงถึงขอบเขตของแผ่นเปลือกโลกชนิดนี้ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ใต้เปลือกโลกพื้นทวีป
หินเก่าจะถูกดันออกไปขณะที่เกิดหินใหม่จาการแทรกตัวของแมกมาตามรอยแยกเย็นตัวลงการไหลของความร้อนทำให้ชั้นธรณีแตกออกเกิดเป็นแนวแยกหุบเขา
2. แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าหากัน (Convergent Plate Boundary)
มีลักษณะที่แผ่นเปลือกโลกหนึ่งจมตัวลงไปใต้อีกแผ่นเปลือกโลกหนึ่งตามแนวบริเวณที่เรียกว่า “เขตมุดตัว” (Subduction Zone) เมื่อแผ่นเปลือกโลกจมตัวลงสู่ใต้ผิวโลกมันจะร้อนขึ้นจนหลอมกลายเป็นแมกมา ซึ่งจะแทรกดันตัวขึ้นสู่ผิวโลกและอาจ “พุ” หรือ “ปะทุ” กลายเป็นแนวภูเขาไฟ ตัวอย่าง เช่น แนวเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น
แนวที่แผ่นธรณีมุดชนกัน/ซ้อนกันได้ 3 แบบ
1. แผ่นมหาสมุทร ชน แผ่นทวีป
2. แผ่นมหาสมุทร ชน แผ่นมหาสมุทร
3. แผ่นทวีป ชน แผ่นทวีป
แผ่นมหาสมุทร ชน แผ่นทวีป
แผ่นมหาสมุทรที่หนาแน่นกว่าจะมุดใต้แผ่นทวีป ทำให้เกิดเทือกเขาบนแผ่นธรณีทวีป เช่น ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เกิดร่องลึกใต้สมุทร ขนานกับขอบธรณีทวีป ทำให้มีภูเขาไฟปะทุ และแผ่นดินไหว
แผ่นมหาสมุทร ชน แผ่นมหาสมุทร
– แผ่นที่มีอายุมาก หนาแน่นมาก และ อุณหภูมิต่ำกว่า จะมุดลงที่ชั้นเนื้อโลก ทำให้เกิดร่องลึกใต้สมุทร
– แผ่นบนเกิดการหลอมเหลวเป็นแมกมา เกิดเป็นหมู่เกาะภูเขาไฟรูปโค้ง (vocanic island arc) ขนานกับแนวร่องลึกใต้สมุทรและเกิดแผ่นดินไหว
ขนาดลึก และภูเขาไฟที่มีพลัง
– แผ่นทวีปเป็นหินแกรนิต มีความหนาแน่นน้อยกว่าแผ่นมหาสมุทร ซึ่งเป็นหินบะซอลต์แผ่นมหาสมุทรที่หนาแน่นกว่าจะมุดลงใต้แผ่นทวีปเกิดเป็นร่องเหวมหาสมุทร trench อุณหภูมิและความดันที่สูงในชั้นฐานธรณีทำให้แผ่นที่มุดลงมาหลอมละลาย
แผ่นทวีป ชน แผ่นทวีป
– แผ่นธรณีทั้งสองมีความหนามาก เมื่อชนกันจึงมีการเกยกัย
– เกิดเป็นเทือกเขาสูงแนวยาวอยู่ในแผนธรณีทวีป เช่น เทือกเขาหิมาลัยในทวีปเอเชีย เทือกเขาแอลป์ในทวีปยุโรป
3. แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไถลตัวขนานกัน (Transform Plate Boundary)
บริเวณการเคลื่อนตัวลักษณะนี้ ที่รู้จักกันดี ได้แก่ รอยเลื่อนซานแอนเดรียสในแคลิฟอร์เนียซึ่งแบ่งแผ่นแปซิฟิกกับแผ่นอเมริกาเหนือ จึงมักเกิดแผ่นดินไหวจากการเคลื่อนที่ขนานกันของแผ่นเปลือกโลกทั้งสองเสมอ
ทฤษฎีธรณีแปรสัณฐานนี้ถือเป็นทฤษฎีแม่บทสำหรับการศึกษาด้านธรณีวิทยา ในการเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างๆ ด้านธรณีวิทยาที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันเข้าหากัน นอกจากทำให้ทราบถึงลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏบนเปลือกโลกแล้ว การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ยังสามารถอธิบายการเกิดและการกระจายตัวของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการแพร่กระจายและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
การเคลื่อนที่ของประเทศไทย
การศึกษาธรณีวิทยาของประเทศไทยโดยอาศัยทฤษฎีธรณีแปรสัณฐานทำให้ทราบว่าในช่วงเวลา 465 ล้านปีที่ผ่านมา ผืนแผ่นดินไทยในอดีตเคยอยู่บริเวณซีกโลกใต้ที่เรียกว่าแผ่นดินกอนด์วานา(Gondwanaland) โดยแยกเป็น 2 ส่วนเรียกว่า จุลทวีปฉานไทย (ส่วนของภาคเหนือลงไปถึงภาคตะวันออกและภาคใต้) และจุลทวีปอินโดจีน (ส่วนของภาคอีสาน)ซึ่งอยู่ติดกับทิศตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย จุลทวีปทั้งสองขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินกอนด์วานาต่อมาได้เคลื่อนตัวแยกออก และหมุนตัวตามเข็มนาฬิกาขึ้นไปทางเหนือ จนเมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน จุลทวีปทั้งสองจึงเคลื่อนตัวมาชนกัน ดังจะเห็นหลักฐานได้ว่า รอยชนกันของ สองจุลทวีป มีหินภูเขาไฟ เป็นแนวยาวตั้งแต่ จังหวัดเชียงราย ผ่านลงมายังจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี ซึ่งแนวรอยต่อของจุลทวีปนี้ เป็นที่สะสมของแหล่งแร่ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ทองคำ
การเคลื่อนที่ของประเทศไทย
การแปรสัณฐานของเปลือกโลก
การเปลี่ยนแปลงของลักษณะเปลือกโลก แบ่งได้ดังนี้
1. ชั้นหินคดโค้ง(fold) เกิดจากความเค้น(stress) และความเครียด (strain)ของเปลือกโลกจากแรงที่มากระทำกับชั้นเดิม ซึ่งอาจวางตัวอยู่ในแนวราบ แต่เมื่อมีแรงบีบอัดทำให้เกิดการโค้งงอของชั้นหิน เกิดกับหินที่มีสมบัติเป็นพลาสติก (เปลี่ยนรูปแล้วไม่คืนตัวกลับสู่สภาพเดิม)
แบ่งรูปแบบการโค้งงอได้ 2 ประเภท
1. หินคดโค้งรูปประทุน (anticline)
2. หินคดโค้งรูปประทุนหงาย (syncline)
ลักษณะที่สังเกตเห็น
มักเกิดรูปประทุน และ รูปประทุนหงาย สลับกัน
ระนาบสมมติที่แบ่งผ่านส่วนที่โค้งที่สุดของชั้นหิน เรียกว่า “ระนาบแกนชั้นหินคดโค้ง (axial plane)”
2. รอยเลื่อน (fault)
รอยเลื่อน คือ ระนาบแตกตัดผ่านหินซึ่งมีการเคลื่อนที่ผ่านกัน และหินจะเคลื่อนที่ตามระนาบรอยแตกนั้น
แบ่งรอยเลื่อนได้ 3 ประเภท
1. รอยเลื่อนปกติ (normal fault) เป็นการเคลื่อนตัวตามแนวยืนหรือเลื่อนตัวลงมาตามความลาดชันของระนาบรอยเลื่อน
2. รอยเลื่อนย้อน (reverse fault)เป็นการเลื่อนตัวย้อนแนวระนาบรอยเลื่อนขึ้นไปทำให้ชั้นหินด้านหนึ่งเคลื่อนย้อนไปบนชั้นหินอีกด้านหนึ่ง
3. รอยเลื่อนเหลื่อมข้าง เป็นการเลื่อนตัวตามแนวราบทำให้ชั้นหินหรือพื้นที่ที่เคยเป็นบริเวณเดียวกันเลื่อนเหลื่อมจากกันและรอยเหลื่อมซ้อน เกิดจากการที่ชั้นหินเลื่อนไถลทับซ้อนกัน
3. รอยแยก (joint) มักเกิดในหินที่มีความแข็งเปราะเมื่อได้รับความเค้นและความเครียดจะเกิดรอยแตกในเนื้อหินได้ง่ายรอยแตกที่หลุดเลื่อนจากกัน เป็นแนวยาว เรียกว่า รอยเลื่อน
ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา
1. แผ่นดินไหว (earthquake)
– เป็นการไหวสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงาน เพื่อระบายความเครียด (strain)ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันทันที ซึ่งถือว่าเป็นการปรับความสมดุลของเปลือกโลก
– ถ้าหากมีแรงมากระทำกับแผ่นหินต่อไปเรื่อยๆ แผ่นหินจะสะสมความเครียดใหม่ จนกว่าจะไม่มีแรงมากระทำอีก ดังนั้นแผ่นดินไหวจึงเกิดเป็นช่วงๆ เรียกว่า “คาบอุบัติซ้ำ (return period)”
– “คาบอุบัติซ้ำ”หมายถึง ระยะเวลาครบรอบของแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่นั้น แล้วกลับมาเกิดซ้ำในที่เดิมอีก อาจเป็นร้อยปีพันปีหรือน้อยกว่านั้น
– ตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดการไหวสะเทือนของแผ่นดิน เรียกว่า “ศูนย์เกิดแผ่นดินไหว(focus)”
– ตำแหน่งบนผิวโลกที่อยู่เหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เรียกว่า “จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (epicenter)”
เราสามารถแบ่งศูนย์เกิดแผ่นดินไหวตามระดับความลึกได้ 3 ระดับ
1. แผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวระดับตื้น ลึก 0-70 กิโลเมตร
2. แผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวระดับปานกลาง ลึก 70-300 กิโลเมตร
3. แผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวระดับลึกลึก 300-700 กิโลเมตร
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว พลังงานที่ถูกปลดปล่อยจะอยู่ในรูปคลื่นไหวสะเทือน 2 ชนิดคือ
1. คลื่นในตัวกลาง แผ่กระจายทุกทิศทางจากศูนย์เกิดแผ่นดินไหว มี 2 ชนิด คือ
– คลื่น p (ปฐมภูมิ) ผ่านตัวกลางได้ทุกชนิด เป็นคลื่นตามยาว
– คลื่น s (ทุติยภูมิ) ผ่านตัวกลางที่เป็นของแข็ง เป็นคลื่นตามขวาง
2. คลื่นพื้นผิว เคลื่อนที่บนผิวโลก หรือใต้ผิวโลกเล็กน้อย และเคลื่อนที่ช้ากว่าคลื่นในตัวกลาง มี 2 ชนิด คือ
– คลื่นเลิฟ (love wave) หรือ คลื่น L เป็นคลื่นที่ทำให้อนุภาคตัวกลางสั่นในแนวราบบริเวณใกล้ผิวโลก ทิศทางตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของคลื่นสร้างความเสียหายกับฐานอาคาร สิ่งปลูกสร้าง
– คลื่นเรย์ลี (rayleigh wave) หรือ คลื่น R เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่ในแนวดิ่งทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ของคลื่น
แนวเกิดแผ่นดินไหว
แนวการเกิดแผ่นดินไหวแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. แนวรอยต่อที่เกิดล้อมรอบมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงและมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 ของการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวที่ระดับตื้นปานกลาง และลึก เรียก วงแหวนไฟ (Ring of Fire)เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาเป็นต้น
2. แนวรอยต่อภูเขาแอลป์ในยุโรป และภูเขาหิมาลัยในเอเชีย เป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวที่ระดับตื้นและปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 15 เช่น พม่า อิหร่าน ตุรกี อัฟกานิสถาน แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรป
3. บริเวณสันกลางมหาสมุทรต่างๆของโลก คิดเป็นร้อยละ 5 เช่น เทือกเขากลาง มหาแอตแลนติก สันเขาใต้ มหาอินเดียและอาร์กติก แผ่นดินไหวบริเวณนี้เกิดระดับตื้น และแนวแคบๆ
ขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Magnitude and Intensity of Earthquake)
การวัดความสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มี มาตราวัด 2 แบบได้แก่
1. มาตราริคเตอร์ (Richter) ใช้วัดจากค่าพลังงานที่แผ่นดินปลดปล่อยออกมา
2. มาตราเมอแคลลี่ (Mercalli) ใช้วัดจากความรู้สึกและผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างและภูมิประเทศ
เครื่องมือที่ใช้วัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดิน คือ ไซส์โมกราฟ (seismograph)
ระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวตามมาตราเมอแคลลี่
สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย
1. แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีแหล่งกำเนิดจากภายนอกประเทศ
ส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย โดยมีแหล่งกำเนิดบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน พม่า ลาว ทะเลอันดามันตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ส่วนมากบริเวณที่รู้สึกสั่นไหว ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพฯ
2. แผ่นดินไหวเกิดจากแนวรอยเลื่อนที่ยังสามารถเคลื่อนตัว (ภายในประเทศไทย)
ส่วนใหญ่แนวรอยเลื่อนเหล่านี้อยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนทางตะวันตก ของประเทศ ที่ต่อเนื่องมามาก จากรอยเลื่อนสะแก และรอยเลื่อนพานหลวง ซึ่งได้แก่ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เป็นต้น
อธิบายจากภาพ ซ้าย ยอดเจดีย์หลวงหักที่จังหวัดเชียงใหม่(พ.ศ.2088)
ขวา อาคารโรงพยาบาลอำเภอพาน จังหวัดเชียงรายเสียหาย จากแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริคเตอร์ (พ.ศ. 2537)
การสังเกตการณ์เกิดแผ่นดินไหวก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
น้ำในบ่อน้ำ ขุ่นมากขึ้น ไหวหมุนเวียน ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และรสขม
ปริมาณก๊าซเรดอนเพิ่มขึ้น
แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตกใจ
หนู งู วิ่งออกมาจากรู
ปลา กระโดดขึ้นจากฝั่งน้ำ
ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว
เกิดการเลื่อนเคลื่อนที่ของผิวโลก (Surface faulting)
การสั่นสะเทือนของผิวดิน (ground shaking)
การพังทลายของดิน (landslides)
ภาวะดินเหลว (liquefaction)
การทรุดตัวของพื้นดิน (subsidence)
สึนามิ (Tsunami)
ภูเขาไฟระเบิด (volcanoes)
การป้องกันอันตรายจากการเกิดแผ่นดินไหว
ผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ภูเขาไฟ (volcano)
ก่อรูปมาจากหินหลอมเหลวที่อยู่ภายในโลก และถุกแรงกระทำให้เคลื่อนที่มาสู่ผิวของโลก
ภูเขาไฟ มี 4 ประเภท
1. กรวยภูเขาไฟสลับชั้น (strato volcano)
2. โดมภูเขาไฟ (volcanic dome)
3. ภูเขาไฟรูปโล่ (shield volcano
4. ภูเขาไฟรูปกรวยกรวดภูเขาไฟ (cinder cone volcano)
1. กรวยภูเขาไฟสลับชั้น (strato volcano)
เรียกอีกชื่อว่า ภูเขาไฟแบบรูปผสม (composite volcamo) มีการสลับชั้นของหินลาวาและขี้เถ้า เถ้าถ่าน มีรูปร่างแบบกรวยสูงชันมาก ขณะปะทุจะรุนแรง ตัวอย่างได้แก่ ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น ภูเขาไฟวิซูเวียส ประเทศอิตาลี และภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จากภาพ บน (ซ้ายไปขวา) ภูเขาไฟวิสุเวียส ประเทศอิตาลี และ ภูเขาไฟ Fujiyama ประเทศญี่ปุ่น
ล่าง (ซ้ายไปขวา) ภูเขาไฟกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย และภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
2. โดมภูเขาไฟ (volcanic dome)
ก่อรูปจากหินไรโอไลต์ ที่มีความหนืดมาก มีรูปร่างแบบโดม ด้านข้างสูงชัน มีมวลของลาวาที่เดือดอยู่ภายในปากปล่องภูเขาไฟ ตัวอย่างภูเขาไฟแบบนี้ ได้แก่ ภูเขาไฟเคลลูท (Kelut) ประเทศอินโดนีเซีย ลาวาปาฮอยฮอย ภูเขาไฟโมนาลัว (ใหญ่ที่สุด) ในหมู่เกาะฮาวาย ไอซ์แลนด์และในอเมริกาเหนือ
จากภาพ บน ภูเขาไฟลาวาปาฮอยฮอย
ล่าง (ซ้ายไปขวา) ภูเขาไฟโมนาลัว(ใหญ่ที่สุด)ในหมู่เกาะฮาวายและภูเขาไฟไอซ์แลนด์และในอเมริกาเหนือ
3. ภูเขาไฟรูปโล่ (shield volcano)
ก่อรูปจากลาวาหลากของหินบะซอลต์ มีความชันอยู่ระหว่าง 2-20 องศา มีรูปร่างแบบโล่ ตัวอย่างภูเขาไฟแบบนี้ ได้แก่ ภูเขาไฟที่อยู่ในหมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟคิลาว์เอีย รวมทั้งภูเขาไฟเซอร์ทเซย์ ภูเขาไฟเฮลกาเฟล และภูเขาไฟลากี ประเทศไอซ์แลนด์
4. ภูเขาไฟรูปกรวยกรวดภูเขาไฟ (cinder cone volcano)
เป็นภูเขาไฟที่ก่อรูปจากการปะทุอย่างรุนแรง และพ่นเศษของลาวาที่อยู่ในรูปของเถ้าถ่านออกมาภายนอก มีความสูงชันอยู่ระหว่าง 35-40 องศา
ตัวอย่างของภูเขาไฟแบบนี้ ได้แก่ ภูเขาไฟคาพูลิน ในมลรัฐนิวเม็กซิโก และภูเขาไฟพีลี บนหมู่เกาะของมาร์ตินี
เมาท์เมยอน (Mount Mayon) ในฟิลิปปินส์ ภูเขาไฟคาพูลิน ในมลรัฐนิวเม็กซิโก
ผลกระทบจากการเกิดภูเขาไประเบิด
ภูเขาไฟระเบิดในที่ต่างๆทั่วโลก
คลื่นยักษ์ “สึนามิ” (Tsunami)
โดยทั่วไปเกิดจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางการเกิดอยู่ในทะเล และมีขนาดมากกว่า 7 ริกเตอร์ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากดินถล่มใต้ทะเล การชนของอุกาบาตขนาดใหญ่ที่ตกลงในมหาสมุทร และการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ตัวอย่างเช่น การระเบิดของภูเขาไฟการากาตัว ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2426 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สูงถึง 40 เมตร เข้าทำลายหมู่บ้านชายทะเลหมดและมีผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 คน เป็นต้น คลื่นยักษ์สามารถพบได้ในมหาสมุทรทุกแห่งในโลก แต่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลที่ใกล้ขอบทวีปมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีขนาดใหญ่และมีพลังการทำลายสูงมากกว่า เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีจุดที่เกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟบ่อยครั้งมากกว่าที่ใดในโลกโดยเฉพาะบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกว่า วงแหวนไฟ (ring of fire)
การเกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” (Tsunami)
สาเหตุของการเกิดคลื่นยักษ์
การเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัว ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงตรงบริเวณจุดศูนย์กลางของการเคลื่อนที่ และแรงกระเพื่อมนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่น้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลเกิดคลื่น ในระยะแรกคลื่นจะมีลักษณะความยาวช่วงคลื่นมาก ความสูงของคลื่นน้อยแพร่ออกไปเป็นวงทุกทิศทุกทางด้วยความเร็วประมาณกว่า 700 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อคลื่นดังกล่าวเคลื่อนเข้าหาชายฝั่งทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงความยาวช่วงคลื่นลดลง แต่ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้น ทำให้มีพลังทำลายล้างอย่างรุนแรง ซึ่งความเร็วของคลื่นยักษ์ในแต่ละส่วนของท้องทะเลจะมีสูตรคำนวณความเร็วของคลื่นยักษ์ เท่ากับรากที่สองของผลคูณระหว่างความเร่งจากแรงโน้มถ่วง (9.8 เมตร/วินาที) และความลึกของน้ำ ตัวอย่างเช่น ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความลึกประมาณ 4,000 เมตร คลื่นจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 200 เมตร/วินาทีหรือ 720 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนที่ชายฝั่งที่มีความลึก 40 เมตร คลื่นจะมีความเร็วช้าลงเหลือ 20 เมตร/วินาทีหรือ 72 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้น
มาตรการป้องกันภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ
• เมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้น ขณะที่อยู่ในทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ให้รีบออกจากบริเวณชายฝั่งไปยังบริเวณที่สูงหรือที่ดอนทันทีโดยไม่ต้องรอประกาศจากทางการ เนื่องจากคลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
• เมื่อได้รับฟังประกาศจากทางการเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ให้เตรียมรับสถานะการณ์ที่อาจจะเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้โดยด่วน
• สังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่งหากทะเลมีการลดระดับของน้ำลงมาก หลังการเกิดแผ่นดินไหวให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้อพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างจากฝั่งมาก ๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่น้ำท่วมไม่ถึง
• ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ในท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่าจะเกิดคลื่น สึนามิพัดเข้าหาเพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมาก ๆ จะมีขนาดเล็ก
• คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอกจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากมีการแกว่งไปมาของน้ำทะเล ดังนั้นควรรอซักระยะเวลาหนึ่งจึงสามารถลงไปชายหาดได้
• ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
• หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ ลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรงในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยในเรื่องคลื่นสึนามิ
• หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่งในย่านที่มีความเสี่ยงภัยสูง
• วางแผนในการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่นกำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด เป็นต้น
• จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อาศัยควรมีระยะห่างจากชายฝั่ง
• ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหว
• วางแผนล่วงหน้าหากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขั้นตอนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาภัย ด้านสาธารณะสุข การรื้อถอนและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
• อย่าลงไปในชายหาดเพื่อดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็ใกล้เกินกว่าจะหลบหนีได้ทัน
• คลื่นสึนามิในบริเวณหนึ่ง อาจมีขนาดเล็ก แต่อีกบริเวณหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวการเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กในสถานที่หนึ่ง จงอย่าประมาทให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
1. การผุพังอยู่กับที่(weathering)
คือกระบวนการที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพที่ทำให้วัตถุหลุดล่วง ผุสลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและองค์ประกอบเคมีของอนุภาคที่สลายตัว โดยการผุพังสามารถเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการกร่อนร่วมด้วยเสมอ
ปัจจัยทางกายภาพ ที่ทำให้เกิดการผุพังอยู่กับที่ เช่น น้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ลม เป็นต้น
แสดงการผุพังที่เกิดจากปฎิกิริยาเคมี
จากภาพ บนซ้าย คือ ถ้ำที่เกิดหินงอกหินย้อย บนขวา คือ ถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูล
ภาพล่าง คือ ถ้ำเลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
การผุพังชั้นหินอีกสาเหตุหนึ่ง คือ พืช เช่น รากพืชที่ชอนไชไปในรอยแตกของหิน หรือ สาหร่ายที่เกิดตามผิวของก้อนหินทำให้หินแตกเป็นชั้นๆ นอกจากนี้คนและสัตว์ก็เป็นสาเหตุทำให้หินผุพังหรือแตกสลายได้เช่น การระเบิดภูเขา การทดลองระเบิดปรมาณู การตัดไม้ทำลายป่า การขุดรูของตัวตุ่น หนูและแมลงบางชนิดช่วยทำให้หินในดินแตกทลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น
2. เกิดมวลเลื่อน(mass wasting) แบ่งได้ดังนี้
2.1 การคืบตัว (creep) เป็นการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ของหินหรือดินตามความลาดชัน
2.2 การไหล (frow) เป็นการเคลื่อนที่ของมวลโดยน้ำเป็นตัวทำให้ลื่นและแรงโน้มถ่วงเป็นตัวดึงให้มวลเคลื่อนลงมาตามความลาดชัน
2.3 การเลื่อนถล่ม (slide) เป็นการเคลื่อนตัวของหินหรือดินเป็นก้อนหรือแท่งขนาดใหญ่จากบริเวณที่มีความชัน
2.4 หินพัง (rockfall) เกิดขึ้นกรณีที่หินบริเวณหน้าผาชันรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหว เมื่อเกิดรอยแตกหรือแรงสั่นสะเทือนก็หล่นกลิ้งลงมา
การทรุดตัว (subsidence) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่นสูญเสียน้ำหรืออนุภาคในชั้นดินจากการละลายหรือถูกเคลื่อนย้ายออกไป การลดลงของระดับน้ำใต้ดิน ทำให้แผ่นดินเกิดการทรุดตัว
3. การสึกกร่อนพังทลายและการกัดเซาะ คือ กระบวนการที่ทำให้เปลือกโลกได้แก่ หิน ดิน ทราย หลุดล่วงไป โดยสาเหตุต่างๆจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวการที่เคลื่อนที่เท่านั้นเช่น กระแสน้ำ ธารน้ำแข็ง กระแสลม คลื่น เป็นต้น จึงทำให้เปลือกโลกมีการสึกกร่อนพังทลาย ถูกกัดเซาะ
อธิบายจากภาพความเร็วกระแสน้ำหมายเลข 1 ,4,5 จะมีความเร็วมากกว่า หมายเลข 2 ,3,6 จึงทำให้บริเวณที่มีความเร็วกระแสน้ำเร็วกว่าพุ่งปะทะ ถูกกัดเซาะ ส่วนบริเวณที่มีความเร็วกระแสน้ำน้อยกว่าจะมีการตกตะกอนและทับถม เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ บริเวณหมายเลข 1,4,5 ที่ดินจะพังทลายไป แล้วตะกอนจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปทับถมบริเวณหมายเลข 2,3,6 แทนเพราะความเร็วกระแสน้ำลดลง ตะกอนจะเริ่มมีการตกทับถม เกิดพื้นดินงอกขึ้นมาแทน
การสึกกร่อนพังทลายและการกัดเซาะจากกระแสน้ำ
การกัดกร่อนจากกระแสลม
บริเวณที่มีภูมิอากาศแห้งแล้งและพื้นที่ที่ปราศจากพืชปกคลุม เช่น บริเวณทะเลทราย ที่ราบสูง ภูเขาที่ถูกตัดทำลายจนโล่งเตียน กระแสลมที่พัดผ่านบริเวณเหล่านี้ เป็นประจำจะทำให้เปลือกโลกเกิดการกร่อนและเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆทำให้เกิดโขดหินรูปเห็ด เขาโดดในทะเลทราย เสาดิน หรือกำแพงดินรูปต่างๆ เป็นต้น
“ ละลุ ” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ ทะลุ ” อันเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการยุบตัวหรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินแข็งจะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกลม(และน้ำ)กัดกร่อนจึงมีลักษณะเป็นรูปต่าง ๆ มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ คล้ายกับ “ แพะเมืองผี ” ที่จังหวัดแพร่ บางคนจึงเรียกว่า “ แพะเมืองผีแห่งใหม่ ”
การกัดกร่อนเนื่องจากธารน้ำแข็ง
พื้นที่ที่มีอากาศหนาวจัด เช่น บริเวณใกล้แถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ น้ำในแม่น้ำลำธารจะแข็งตัว หรือบางแห่งมีหิมะตกลงมาในปริมาณมาก แรงกดดันของผลึกน้ำแข็งข้างบนจะทำให้ส่วนล่างสุดละลายแทรกซึมลงไปชั้นล่างมวลน้ำแข็งที่รวมตัวกันมากจนมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ซึ่งเรียกกันว่า ธารน้ำแข็ง( Glacler)จะค่อยๆเคลื่อนที่ลงสู่ที่ต่ำอย่างช้าๆจะทำให้เกิดการบด การกระแทกและขัดสีทำให้หินเกิดการแตกสลายและถูกพัดพาไป
หลุมยุบ
หลุมยุบ (Sinkhole) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดินยุบตัวลงเป็นหลุมลึกและมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 ถึงมากกว่า 20 เมตร เมื่อแรกเกิดปากหลุมมีลักษณะเกือบกลมและมีน้ำขังอยู่ก้นหลุม ภายหลังน้ำจะกัดเซาะดินก้นหลุมกว้างขึ้น ลักษณะคล้ายลูกน้ำเต้า ทำให้ปากหลุมพังลงมาจนเหมือนกับว่าขนาดของหลุมยุบกว้างขึ้น
การเกิดหลุมยุบ
โดยปกติหลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่ราบใกล้กับภูเขาที่เป็นหินปูน เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนได้ ประกอบกับภูเขาหินปูนมีรอยเลื่อนและรอยแตกมากมายดังจะสังเกต เห็นได้ว่าภูเขาหินปูนมีหน้าผาชัน หน้าผาเป็นรอยเลื่อนและรอยแตกในหินปูนนั่นเอง
บริเวณใดที่รอยแตกของหินปูนตัดกันจะเป็นบริเวณที่ทำให้เกิดโพรงได้ง่าย โพรงหินปูนถ้าอยู่พ้นผิวดิน ก็คือถ้ำ ถ้าไม่โผล่เรียกว่า โพรงหินปูนใต้ดิน ซึ่งจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร)
ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น ภายหลังการเกิดธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พบว่ามีหลุมยุบเกิดขึ้นมากมาย โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดใน 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ อีกทั้งเกิดในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและในภูมิภาคอื่นด้วย
เอกสารอ้างอิง
คมศร เลาห์ประเสริฐ. แผ่นดินไหว. วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2553.
จาก www.prc.msu.ac.th/th2007/fileupload/datanews/06.ppt
ฐิติมา เจริญฐิติรัตน์และคณะ.โลกและการเปลี่ยนแปลง. วันที่สืบค้น 20 มกราคม 2553.
จาก http:www.geo.sc.chula.ac.th/Geology/Thai/…/physical%20geology%201.ppt
ประกาย เลิศรัตนคาม.โลกและการเปลี่ยนแปลง. วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2553.
จาก http://www.damrong.ac.th/krukay/lesson2_data.html
ปัญญา จารุศิริ.และคณะ. 2550 .พื้นที่อันตรายจากแผ่นดินไหว. วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน
2553. จาก www.geo.sc.chula.ac.th/…/Seismic%20Hazard%20Area.ppt
พรศิริ ดีเลิศ. โลกและการเปลี่ยนแปลง. วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2553.
จาก web.ku.ac.th/schoolnet
ภาควิชาธรณีวิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.แผ่นดินไหว.วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน
2553. http://teenet.chiangmai.ac.th/sci/documents/quake.ppt
เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์.2551. ธรณีวิทยาสู่ครูวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักธรณีวิทยา
กรมทรัพยากรธรณี
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย. 2545. ธรณีน่ารู้.
Lamb S. and Sington D., 1998, Earth History BBC The Shaping of Our World.
http://www.dmr.go.th/
202.129.0.134/courses/533/51scM5-SOsU5S301.ppt
http://www.geo.sc.chula.ac.th/Geology/Thai/Knowledge/html/Earthquake/Seismic%
20Hazard%20Area.ppt
http://www2.srp.ac.th/~saowanee/prian.ppt
http://earthquake.usgs.gov/
http://www.tmd.go.th/knowledge/know_earthquake01.html
http://www.dmr.go.th/geohazard/earthquake/EQthaiHAZARD.htm
www.geo.sc.chula.ac.th/Geology/Thai/…/physical%20geology%201.ppt
http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Oceanic_spreading.svg
http://www.dmr.go.th/
http://www.siamvolunteer.com/disaster_knowledge/1disas_volcano.ppt
http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/main.php?filename=index_geo
www.stfx.ac.th/stfxnew53/so002.ppt
http://www.tat.or.th/
www.oknation.net/blog/A-nan/2007/06/04/entry-1
ผู้จัดทำ
ครูหัวหน้าทีม
นางดรุณี เสมอภาค (ครูแก้ว)
เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนผักไหมวิทยานุกูล
E-mail : druneesp@poonsak
สมาชิกร่วมทีม
นายอาทร ยอดจันทร์ (ทร)
เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนผักไหมวิทยานุกูล
E-mail : babymike_club@hotmail.com
ย่อ