คุณค่าของงานใบตอง
สร้างโดย : นางทิศนา เหมือนวงค์
สร้างเมื่อ อังคาร, 29/09/2009 – 14:42
มีผู้อ่าน 273,965 ครั้ง (17/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/39935
วิชางานใบตอง เรื่อง คุณค่าของงานใบตอง
วิชางานใบตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระเพิ่มเติม ในระดับช่วงชั้นที่ 3 (ชั้น ม.1-ม.3) เรื่อง คุณค่าของงานใบตองนี้ ทุกคนจะได้เรียนรู้และเข้าใจ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมาช้านาน สำหรับใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ของสามัญชน จนถึงงานพระราชพิธีที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้แล้วสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและเข้าใจได้โดยง่ายอีกด้วยค่ะ
พร้อมรึยังค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเริ่มศึกษาบทเรียนกันได้เลยค่ะ ขอให้สนุกกับ..คุณค่าของงานใบตอง..นะค่ะ
งานประดิษฐ์จากใบตอง เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความละเอียดอ่อนสวยงาม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทยสมัยก่อนที่ได้รู้จักประดิดประดอยวัสดุธรรมชาติ มาใช้เป็นภาชนะห่อหุ้มอาหารได้อย่างวิจิตรสวยงามเรียบง่าย ความสำคัญและคุณค่าเหล่านั้น ได้แก่
อ่านเพิ่มเติม...
คุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม
ใบตองกับวิถีชีวิตของคนไทยเป็นของคู่กัน ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ต้นกล้วย ถือเป็นไม้มงคลในการประกอบพิธีและประเพณีไทยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะงานศิลปะจากกระทง บายศรี พานขันหมาก พานขันหมั้น เป็นต้น การประดิษ์งานใบตองแต่ละอย่างล้วนงดงาม ประณีต ซึ่งแสดงถึงความเป็นชนชาติที่มีจิตใจงดงาม ละเอียดอ่อน ความสามารถของคนไทยไม่มีชนชาติใดในโลกเหมือน ซึ่งสมควรที่เยาวชนรุ่นหลังจะถือเป็นหน้าที่ ที่ควรหวงแหน และรักษาไว้เป็นศิลปะและวัฒนธรรมประจำชาติสืบไป
คุณค่าทางเศรษฐกิจ
งานประดิษฐ์จากใบตอง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประกอบอาชีพถาวร หรืออาชีพเสริม เช่น การจัดทำบายศรี การประดิษฐ์กระทงลอย กระทงดอกไม้ การจัดทำพานต่าง ๆ ในงานมงคลสมรส เป็นต้น
คุณค่าทางจิตใจ
นอกจากมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม คุณค่าทางเศรษฐกิจ ผลพลอยได้ ที่เกิดจากการประดิษฐ์งานใบตอง คือ คุณค่าทางจิตใจ ซึ่งในขณะที่ปฏิบัติงานนั้นย่อมเกิดความเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิในการทำงาน ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้ มีจิตใจที่เยือกเย็น สุขุม นอกจากจะเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่สำเร็จ และยังเป็นการช่วยดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
ใช้ในชีวิตประจำวัน
ในชีวิตประจำวันของคนไทยนั้น มีการนำใบตองมาห่อขนม อาหารต่าง ๆ เช่น การห่อทรงเตี้ย ห่อหมก ห่อข้าวต้มมัด ห่อขนมสอดไส้ ห่อขนมเทียน ฯลฯ นอกจากจะได้รับความสะดวกในการหยิบแล้ว ยังช่วยให้อาหารและขนมางอย่างมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น
ใช้ในโอกาศพิเศษต่างๆ
สามารถนำใบตองมาประดิษ์เป็นภาชนะใส่อาหาร หรือขนม ได้หลากหลายแบบ เช่น กระเช้าใบตอ ถาดใบตอง ผอบ เพื่อมอบให้บุคคลหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันคล้ายวันเกิด โอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนัถือ ผู้ได้รับย่อมเกิดความซาบซึ้ง และชื่นชมในน้ำใจไมตรี และยังช่วยรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย
ใช้ในงานประเพณีต่างๆ
ใบตอง มีคุณค่านานัปประการต่อความเป็นอยู่ของคนไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย การสร้างสรรค์วัสดุธรรมชาติจนกลายเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีคุณค่า และเนส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตไทย เช่น บายศรี พานขันหมาก กระทงลอย ซึ่งเป็นงานที่ใช้ในประเพณีที่ดีงามของไทย และยังได้รัการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ใช้ในงานพิธีทางศาสนา
ใบตอง ถือว่าเป็นไม้มงคล นำมาประดิษฐ์เป็นงานประณีตศิลป์ใช้ในงานพิธีทางศาสนา เช่น กระทงดอกไม้
กระทงสังฆทาน สลากภัตร พานพุ่ม พุ่มคู่สวด กรวยอุปัชฌาย์ เป็นต้น
รูปแบบการประดิษฐ์งานใบตอง ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
ภาชนะใบตอง
การประดิษฐ์ภาชนะจากใบตอง เช่น จาน ชาม พาน ผอบ กระทง กระเช้า เป็นต้น ภาชนะใบตองรูปทรงต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีความสวยงามเรียบง่าย สื่อถึงความละเมียดละไมของคนไทย การเตรียมใบตอง เพื่อประดิษฐ์เป็นภาชนะต่าง ๆ นั้น ข้อสำคัญคือ การเช็ดทำความสะอาดใบตองก่อนนำมาประดิษฐ์ชิ้นงาน เพราะตัวชิ้นงานนั้นจะต้องสัมผัสกับอาหาร
เทียนพรรษา
พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญหล่อเทียนใหญ่แห่ไปถวายวัด ถวายเทียนพรรษาในเทศกาลเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์จะต้องหยุดการเดินทางไปค้างแรมที่อื่นจะอยู่จำพรรษาที่วัด วัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน เข้าบวชเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นเวลา ๓ เดือน
การตกแต่งเทียนพรรษา จะนิยมตกแต่งด้วยงายใบตอง และดอกไม้สด อย่างวิจิตรสวยงาม เพื่อรองรับเทียน มีการร้อยตาข่ายคลุมต้นเทียนตกแต่งยอดเทียน สำหรับฐานรองรับเทียนนิยมการเย็บแบบ เย็บกระทงร้อยมาลัยตกแต่ง
พานขันหมาก
พานขันหมากที่จัดตกแต่งเครื่องขันหมากต่าง ๆ ลงไปในพานให้สวยงาม ถูกต้องตามประเพณี ในขันจะมี หมาก ๙ ลูก พลู ๙ เรียง ใบเงิน ใบทอง ใบนาก อย่างละ ๙ ใบ เครื่องมงคล ๔ อย่าง มี ข้าวเปลือก ข้าวตอก ถั่วทอง งาดำ ใส่ถุงเงิน ถุงทอง เพื่อความงอกงามสมบูรณ์ ดอกไม้ ใบไม้ ที่มีชื่อความหมายเป็นมงคล เช่น ใบแก้ว ใบมะยม ดอกรัก ดอกพุด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกเฟื่องฟ้า เป็นต้น สามารถนำมาตกแต่งในพานขันหมาก
พานสินสอดทองหมั้น
เป็นพานที่จัดไว้สำหรับใส่เงินสินสอดที่ฝ่ายชายนำมามอบให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง ดอกไม้ใบไม้ที่ใช้จัดพานสินอด ควรมีชื่อและความหมายที่เป็นสิริมงคล
กระทงดอกไม้
กระทงดอกไม้ ประดิษฐ์คล้ายลอยกระทง แต่มีขนาดเล็กกว่า มีกรวยครอบในกระทง มีการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม โดยมากมักวางบนธูปเทียนแพ บางคนเรียกกระทงดอกไม้ว่ากระทงไหว้ พานไหว้ผู้ใหญ่ พานดอกไม้ธูปเทียนแพ กระทงสักการะ ใช้ในโอกาสทูลเกล้าฯถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ก่อนที่สามัญชนจะเข้าเฝ้า เป็นเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย กราบไหว้บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ถวายพระอุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท สำหรับคู่บาวสาวนำไปไหว้ผู้ใหญ่หลังการสมรส กราบไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อขอพรในโอกาสต่าง ๆ ทำพิธีขอขมาลาโทษ หรือใช้ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเปิดกรวยออกให้เห็นดอกไม้ ธูป เทียน เมื่อเริ่มทำพิธี
พานดอกไม้ไหว้ครู
คำอธิบายความหมายของพานไหว้ครู
– พานดอกไม้
พานที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น ประกอบด้วยสองพาน คือ พานดอกไม้ และพานธูปเทียน โดยพานทั้งสองจะตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ที่สวยงามต่างๆ แต่ทั้งนี้ ดอกไม้และสิ่งของสำคัญที่ต้องมีประดับอยู่ในพานคือ 1) ดอกมะเขือ 2) หญ้าแพรก 3) ดอกเข็ม 4) ข้าวตอก เพราะดอกไม้และสิ่งของทั้งสี่ มีความหมายต่อวันไหว้ครู ดังนี้
- ดอกมะเขือ หมายถึง ความเคารพนพน้อมต่อผู้อื่น และยังแสดงถึงความเคารพเหมือนดอกมะเขือที่ออกดอกโค้งลงเหมือนคนที่กำลังแสดงความเคารพอยู่
- หญ้าแพรก หมายถึง ความอดทน คุณสมบัติของหญ้าแพรก คือความอดทน ตามสนาม ตามทางเดิน เมื่อมีคนเหยียบย่ำมากๆ หญ้าชนิดอื่นทนไม่ได้ก็เฉาตาย ส่วนหญ้าแพรกนั้นแค่สลบฟุบใบเรียบลงดิน ครั้นมีฝนตกก็จะตั้งยอดขึ้นมาใหม่ทันที
- ดอกเข็ม หมายถึง ความฉลาดเฉียบแหลมของสติปัญญา เปรียบดังเข็ม ซึ่งมักจะมีลักษณะแหลมคมอยู่เสมอ
- ข้าวตอก มีความหมายว่า ข้าวเปลือกเรารับประทานไม่ได้ แต่ถ้าเอาไปคั่ว เป็นข้าวตอก สามารถนำมาปรุงเป็นกระยาสารทรับประทานได้หรือรับประทานเปล่าๆก็ได้เช่นกัน เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว”นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว” คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตกฉาน” สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้
– พานธูปเทียน
พานธูปเทียนเป็นพานคู่กับพานดอกไม้ โดยถือว่าเป็นพานที่ประกอบไปด้วย เครื่องสักการะแด่ครูบาอาจารย์ นั่นคือ ธูป เทียน และตกแต่งด้วยดอกไม้ให้สวยงาม ความหมายของพาน ธูป เทียน นอกจากเป็นสิ่งสักการะ ครู – อาจารย์แล้วเทียนนั้นเปรียบเสมือนสิ่งที่ให้แสงสว่าง สามารถส่องให้เห็นทาง ดุจดั่งครู ผู้ให้ความรู้ส่องทางแก่นักเรียน ครูเสมือนผู้จุดเทียนนำทางชีวิตให้แก่นักเรียน เพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ ถือเป็นแม่คนที่สองของนักเรียนทุกคน อย่างไรก็ตาม พานธูป เทียน ก็ยังคงประกอบไปด้วย ดอกไม้สำคัญสามชนิดเช่นเดียวกับพานดอกไม้ นั่นคือ ดอกเข็ม , หญ้าแพรก , ดอกมะเขือ ทั้งนี้ความหมายของดอกไม้ทั้งสามชนิด ก็ได้กล่าวไว้แล้วในความหมายของพานดอกไม้
พานรับน้ำพระพุทธมนต์
พานรับน้ำพระพุทธมนต์ หรือพานรับน้ำสังข์ในงานแต่งงานตามประเพณีไทย พิธีรดน้พดำหัว หรือรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ วันเกษียณอายุราชการ วันคล้ายวันเกิดครบรอบสำคัญ ๆ พานรับน้ำโดยทั่วไปนิยมจัดรูปแบบทรงเตี้ย
กระทงลอย
ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๑๒ (ตามปฏิทินทางจันทรคติ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อแม่พระคงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้ กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง ผู้คนจึงคิดประดิษฐ์กระทงเพื่อใช้ลอยเป็นรูปแบบต่าง ๆ วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบกระบือ ใบหมากผู้ หมากเมีย หยวกกล้วย ผักตบชวา ดอกดาวเรือง ดอกพุด ดอกกล้วยไม้ ฯลฯ พร้อมด้วยธูปเทียน และหมากพลู
บายศรี
ในปัจจุบันการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งยังมีการผูกพันกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ และมักจะหาสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสิ่งที่ยังพบอยู่และนับวันจะมีความนิยมมากขึ้นและพบมาก ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในช่วงต่าง ๆ ของมนุษย์ สิ่งนั้นคือ บายศรี
บายศรีเป็นงานเครื่องสดประเภทงานใบตอง เป็นการประดิษฐ์ใบตองเป็นนิ้ว หรือเป็นกาบ หรือเป็นเกร็ด เข้าตัวเป็นชั้น ๆ จัดลงในชาม หรือพาน หรือภาชนะอื่น ตกแต่งด้วยดอกไม้มงคล บายศรีเป็นของสูงเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับชาวไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงบัดนี้นับแต่แรกเกิดจนเติบใหญ่เราจะจัดพิธีสังเวย และทำขวัญในวาระต่าง ๆ ซึ่งต้องมีบายศรีเป็นสิ่งสำคัญในพิธีนั้น ๆ มีผู้รู้ได้ให้ความหมายของบายศรีไว้ดังนี้
บายศรี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกนมีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี บายศรีมีหลายอย่าง เช่น บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่”
บายศรี ในภาษาถิ่นอีสานแปลความหมายเป็นดังนี้ บาย ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า จับต้อง สัมผัส ศรี เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตตรงกับ ภาษาบาลี ว่า สิริ แปลว่า มิ่งขวัญ คำว่า “บายศรี” ความหมายของชาวอีสาน แปลว่า ข้าวขวัญ หรือ สิ่งที่น่าสัมผัสกับความดีงาม
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า บายศรี หมายถึงภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมงคลเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เป็นมงคล โดยอาจประดิษฐ์ตกแต่งด้วยเครื่องสด เช่น ใบตอง ดอกไม้ จัดตกแต่งบนภาชนะรองเช่นพาน โตก วางเรียงเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จำนวนชั้นขึ้นอยู่กับโอกาสการใช้งาน
การทำบายศรีในสมัยโบราณ มีรูปแบบที่นิยมทำกันคือ บายศรีต้น บายศรีปากชาม และบายศรีใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้มีการทำบายศรีประยุกต์ขึ้นเพื่อความสวยงาม และความเชื่อของผู้ทำบายศรี
โอกาสงานพิธีที่นิยมใช้บายศรีขึ้นบูชา มีดังนี้
- ในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น การบวงสรวงเทพ เทวดา และดวงพระวิญญาณของบูรพมหากษัตริย์
- การทำขวัญต่าง ๆ เช่น ทำขวัญแรกเกิด ทำขวัญเดือน สู่ขวัญรับขวัญ และส่งขวัญ
- การสังเวยพระภูมิเจ้าที่
- การยกเสาเอก
- การไหว้ครูต่าง ๆ เช่น ครูดนตรี โขน ละคร ฯลฯ
- การบวงสรวงสังเวยเทวาอารักษ์ในกรณีต่าง ๆ
อยากรู้วิธีการพับใบตองกลีบแบบต่าง ๆ คลิ๊กเลยค่ะ
https://thaigoodview.com/grade/4403/folding-banana-leaves
แหล่งอ้างอิง: พรยุพรรณ พรสุขสวัสดิ์. ตองนวลมวลบุปผา, ศักรินทร์ หงส์รัตนาวรกิจ. งานใบตอง, สุพัสดา ศรีอุดร. งานใบตอง 1 , http://www.bwit.ac.th/members/kruyaow/page.pdf
ย่อ