ภาคตะวันออกของไทย
สร้างโดย : นางรัชญา ไชยนา
สร้างเมื่อ เสาร์, 29/11/2008 – 20:26
มีผู้อ่าน 160,068 ครั้ง (16/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18565
ภาคตะวันออกของไทย
1. ที่ตั้งและขนาด
ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีพื้นที่หลายรูปแบบทั้งภูเขา ที่ราบลูกฟูก ที่ราบลุ่มและที่ราบชายฝั่ง เป็นภาคที่มีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะมีชายหาดที่สวยงามมีชื่อเสียงอย่างมาก ในปัจจุบันพื้นที่นี้ได้รับการพัฒนาเป็นเขตที่เรียกว่าอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกจึงเป็นภาคที่มีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ตั้งของภาคนี้อยู่ระหว่างละติจูดที่ 1 องศาเหนือ ถึง 14 องศาเหนือ และลองจิจูด 101 องศาตะวันออก ถึง 103 องศาตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ – จดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทิศใต้ – จดทะเลด้านอ่าวไทย
ทิศตะวันออก – จดประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย
ทิศตะวันตก – จดภาคกลาง
พื้นที่ของภาคตะวันออก ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระนอง จันทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด มีจังหวัดเดียวในภาคนี้ที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล คือ ปราจีนบุรี
2. ลักษณะทางภูมิประเทศ
ภาคตะวันออกเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก ทำให้เกิดที่ราบระหว่างทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาจันทบุรีเชื่อมโยงเข้าไปยังที่ราบในประเทศกัมพูชา เรียกว่าฉนวนไทย ภาคตะวันออกมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชาจากด้านจังหวัดสระแก้ว พรมแดนอยู่บนพื้นที่ราบฉนวนไทยต่อลงทางใต้แนวพรมแดนผ่านจังหวัดจันทบุรีและทิวเขาบรรทัพในจังหวัดตราด ลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันออกแบ่งออกได้ ดังนี้
2.1 ทิวเขาในภาคตะวันออก
- ทิวเขาจันทบุรี เริ่มจากเขาตะแบงใหญ่ในทิวเขาบรรทัด ทอดตัวลงไปทางตะวันตก 281 กิโลเมตร เป็นต้นน้ำที่ไหลลงด้านใต้จะเป็นแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ยอดเขาสูงในทิวเขานี้ คือ เขาสอยดาวเหนือ และเขาสอยดาวใต้
- ทิวเขาบรรทัด เป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา เริ่มจากแหลมสารพัดพิษในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดขึ้นไปทางเหนือตามแนวพรมแดนจนถึงเขาตะแบงใหญ่ ยอดเขาที่สูงที่สุดในที่นี้ คือ เขาตะแบงใหญ่ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ภาคตะวันออกมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 500 กิโลเมตร มีความสำคัญทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมือง เพราะเขตชายฝั่งนี้เป็นส่วนที่ตั้งฐานทัพเรือ ชายฝั่งทะเลมีลักษณะกว้างขวาง เป็นอ่าวเล็ก เพราะส่วนหนึ่งของอ่าวไทย เช่น อ่าวพัทยา อ่าวเกล็ดแก้ว เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศอีกประการ คือ เกาะซึ่งในภาคนี้มีเกาะมากมาย เกิดจากทรุดตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดน้ำขังส่วนที่ยังสูงอยู่จึงเป็นเกาะ
2.2 แม่น้ำในภาคตะวันออก
- แม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุด ของภาคนี้เกิดจากแม่น้ำสองสายไหลลงมารวมกัน คือ แม่น้ำหนุมาน
- แม่น้ำจันทบุรี ยาวประมาณ 100 กิโลเมตร เกิดจากภูเขาสอยดาวเหนือผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี และไหลลงสู่ทะเล ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ จึงเรียกว่า ปากแม่น้ำแหลมสิงห์
- แม่น้ำเวฬุ เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ยาว เพียง 50 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาสระบาป แล้วไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเทือกเขานี้ไปบรรจบกับลำธารต่าง ๆ แล้วไหลสู่ทะเลบริเวณอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เรียกว่า ปากน้ำวน
3. ลักษณะทางภูมิอากาศ
ภาคตะวันออกมีบริเวณพื้นที่ที่เป็นชายฝั่งยาวไปตามแนวอ่าวไทย และทางตอนกลางของภาคที่มีภูเขาสูง ลักษณะเช่นนี้มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศ จึงทำให้ภาคตะวันออกได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านอ่าวไทย เข้าสู่ตอนในของภาค จึงทำให้ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกแตกต่างกัน คือ ทำให้บริเวณชายฝั่งมีฝนตกชุก ส่วนตอนในของภาคมีฝนตกน้อยและเนื่องจากบริเวณน้ำฝนที่แตกต่างกัน ทำให้แบ่งภูมิอากาศของภาคตะวันออกได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของภาคและแบบมรสุมเมืองร้อนอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของภาค
- อุณหภูมิ อุณหภูมิเฉลี่ยของภาคตะวันออกอยู่ระหว่าง 65-30 องศาเซลเซียสความแตกต่างอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว มีไม่มากนัก แต่อุณหภูมิของบริเวณชายฝั่งกับตอนในของภาคแตกต่างกัน โดยบริเวณชายฝั่งนั้นอุณหภูมิจะไม่สูงนักในฤดูร้อน แต่ในฤดูหนาวไม่หนาวมาก ส่วนเขตด้านหลังของเทือกเขาจันทบุรี คือ ปราจีนบุรี จะมีอากาศร้อนและหนาวจัดตามฤดูกาล
- ปริมาณน้ำฝน บริเวณที่มีฝนตกชุกที่สุด คือ บริเวณชายฝั่งจันทบุรีและตราด ส่วนบริเวณที่ฝนตกน้อย คือ บริเวณที่อยู่ลึกจากชายฝั่งเข้าไปในพื้นดินของภาค
4. ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- ทรัพยากรดิน ภาคตะวันออกเป็นภาคที่ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ โดยมีลักษณะของดินแตกต่างกัน ดังนี้
- ดินบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ใช้ในการเพาะปลูกข้าว บางบริเวณจะได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำทะเลที่หนุนขึ้นมาท่วม ทำให้คุณภาพของดินไม่ดี
- ดินบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล เป็นเขตที่ปลูกพืชบางประเภทได้ เช่น มะพร้าว
- ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญของภาค ได้มาจาก 2 แหล่ง คือ
- แหล่งน้ำบนผิวดิน ได้แก่ แม่น้ำสายต่าง ๆ อ่าง เก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ
- แหล่งน้ำใต้ดิน จะมีมากในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำบริเวณอื่น ๆ มีแหล่งน้ำใต้ดินน้อย เพราะลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลูกฟูก
- ทรัพยากรแร่ ภาคตะวันออกมีแร่หลายชนิด แต่ปริมาณการผลิตยังไม่มากพอแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่
- แร่เหล็ก พบมากที่จังหวัดชลบุรี และระยอง
- แร่แมงกานีส พบที่ระยอง
- แร่พลวง แหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และระยอง
- แร่ทรายแก้ว ใช้ในกิจกรรมอุตสาหกรรมผลิตแก้ว พบมากที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
- แร่รัตนชาติ เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญของภาค พบมากที่จังหวัดจันทบุรีโดยเฉพาะ ทับทิมสยาม ที่มีชื่อเสียง
- ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ของภาคตะวันออกในปัจจุบันถูกทำลายลงไปมาก เพราะการขยายตัวของการ อุตสาหกรรมทุกประเภท จังหวัดที่ยังมีป่าไม้หลงเหลืออยู่ คือ ปราจีนบุรี ลักษณะป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ผลัดใบ สัตว์ป่าในภาคตะวันออก เหมือนกับทุกภาคที่มีจำนวนลดน้อยลงแม้ว่าจะมีเขตอุทยานหลายแห่งในภาคตะวันออก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว อุทยานแห่งชาติทุ่งสียัด (ฉะเชิงเทรา)
5. ประชากร
ประชากรในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จังหวัดที่มีประชากรมาก และหนาแน่นมาก คือ ชลบุรี ส่วนจังหวัดตราดมีประชากรน้อยและหนาแน่นที่สุด ประชาชนจากทุกภาคหลั่งไหลมาภาคตะวันออก เพราะภาคนี้เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นเขตที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวกและเป็นเขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตระหว่างสัตหีบไปยังระนองซึ่งเป็นเขตการขยายแหล่งอุตสาหกรรมหนักโดยอาศัยก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาตามท่อในทะเลเป็นเชื้อเพลิง ทำให้บริเวณนี้มีคนอพยพเข้าไปอยู่หนาแน่นมาก
6. สภาพทางเศรษฐกิจ
- การเพาะปลูก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคได้แก่ ข้าว ผลไม้ เครื่องเทศ พืชไร่ และบริเวณที่มีฝนตกมากจะปลูกยางพารา และสะตอ เช่น จังหวัดตราด
- การประมง มีทั้งการประมงน้ำลึก ประมงชายฝั่ง และน้ำกร่อย มีการเลี้ยงปลาในกระชัง ทำฟาร์มหอยนางรม ฟาร์มหอยมุก ทำให้เกิดอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน
- การทำป่าไม้ ปัจจุบันมีการทำลดน้อยลง เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจอื่น ๆ
- การทำเหมืองที่สำคัญ คือ แร่รัตนชาติ โดยเฉพาะจันทบุรีมีการทำเป็นอุตสาหกรรมทั้งครัวเรือนและขนาดใหญ่ คือ การเจียระไนพลอย
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากสภาพด้านภูมิศาสตร์ของภาคนี้ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นรวดเร็ว เช่น อุตสาหกรรมหลัก คือ การทำครกที่อ่างศิลา
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเป็นภาคที่มีลักษณะธรรมชาติเอื้ออำนวย คือ มีทั้งภูเขา ป่าไม้ ชายทะเล เกาะแก่งต่าง ๆ
- อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รัฐบาลได้กำหนดภาคนี้เป็นอุตสาหกรรมฝั่งทะเลตะวันออกขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีอุตสาหกรรมแปรรูป วัตถุดิบต่างๆ
- อุตสาหกรรมพื้นเมืองหรืออุตสาหกรรมครัวเรือน ได้แก่ การทำเครื่องจักสาน ทำครกหินโม่หิน ของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมเจียรไนพลอย เป็นต้น
7. คมนาคมการขนส่ง
- การคมนาคมขนส่งทางบก
- ทางรถยนต์ มีเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 คือ ถนนสุขุมวิท เป็นเส้นทางหลักของการคมนาคมของภาค แต่ในปัจจุบันการสร้างทางรถยนต์ติดต่อระหว่างภาคระหว่างจังหวัด และยังมีมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด เชื่อมโยงอีอีซี
- ทางรถไฟ เป็นเส้นทางเดินรถไฟทางไกลระหว่างจังหวัดของการรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มต้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เช่นเดียวกันกับสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ โดยเส้นทางตอนบนจะสิ้นสุดที่สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ส่วนเส้นทางตอนล่างจะสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- การคมนาคมทางน้ำ ส่วนใหญ่แล้วการคมนาคมในเขตแม่น้ำไม่แพร่หลาย เพราะเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นการคมนาคมทางทะเล และเป็นภาคที่มีท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการส่งสินค้าออกไปจำหน่วยยังต่างประเทศ
- ทางอากาศ สนามบินอู่ตะเภา
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3″ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาสนามบินภายในพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก
ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาส่วนที่ใช้อยู่ ประกอบด้วย ทางวิ่งที่ 1 มีขนาดมาตรฐานยาว 3,500 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถรองรับอากาศยานได้ 52 หลุมจอด (หากใช้ทางวิ่งได้เต็มศักยภาพ จะรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 รองรับผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศ ประมาณ 7 แสนคนต่อปี และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (หากเปิดใช้บริการ) จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี - การสื่อสารโทรคมนาคม ในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียม ที่ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านการสื่อสารในปัจจุบันมากขึ้น
8. สถานที่ท่องเที่ยว
- จันทบุรี คำขวัญ – น้ำตกลือเลี่ยง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี
- ชลบุรี คำขวัญ – ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย
- ตราด คำขวัญ – เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา
- ระยอง คำขวัญ – ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก
9. ปัญหาสำคัญ
- ปัญหามลพิษทางทะเล เช่น น้ำเสีย สัตว์ทะเลถูกทำลาย แนวปะการังและหาดสกปรก
- ปัญหาป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่ของภาคนี้เคยมีป่าอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าบกและป่าชาย และปัจจุบันถูกใช้พื้นที่เพื่อการอื่น
- ปัญหาอพยพของประชาชน มีการอพยพเข้ามามากขึ้น มีผลให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัย การบริการด้านสาธารณูปการ ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาชุมชน
- ปัญหาชายแดน เนื่องจากเป็นภาคที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งมีปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศ
- ปัญหาการประมงและน่านน้ำ ขณะนี้ประเทศต่างประกาศเขตน่านน้ำสากลขยายเป็น 200 ไมล์ทะเล ทำให้เกิดกรณีพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน
การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวได้ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสภาพแวดล้อมโดยออกกฎหมายควบคุมแหล่งการบริการและโรงงานอุตสาหกรรมในการปล่อยน้ำเสีย คือ ต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง หรือ ทะเล ส่งเสริมให้สถานบริการด้านการท่องเที่ยว จัดให้แนวทางการพัฒนาเป็นเขตเป้าหมาย เพื่อสะดวกและเป็นสัดส่วน