คาร์บอนฟุตพริ้นท์ : Carbon Footprint

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ : 12 มกราคม 2565

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ : Carbon Footprint

เมนูใดต่อไปนี้สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด

  1. ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย
  2. ราดหน้าหมู
  3. สเต็กปลาแซลมอน
  4. สุกี้ทะเลรวมมิตร

    ข้อสอบข้างบนนี้ เป็นข้อสอบข้อหนึ่งจากจำนวนข้อสอบ 200 ข้อ ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 3 ชั่วโมงของการทำข้อสอบวัดสมรรถนะทั่วไป (Thai General Aptitude Test) หรือที่เรียกันว่า TGAT เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย กลายเป็นประเด็นถกเถียงของคนในสังคมและสื่อออนไลน์นับตั้งแต่วันแรกด้วยคำถามที่ทำให้สังคมกังขาว่าควรเลือกคำตอบใดที่ถูกต้อง

    คำถามนี้ถูกแชร์โดยผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ @6inthesun และเป็นประเด็นที่ทำให้ #dek66 #TGAT #TGAT3 ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2565 และข้อความดังกล่าวมีผู้รีทวีตกว่า 1.62 หมื่นครั้ง

    นอกจากสื่อต่างๆที่ออกมานำเสนอแล้ว ยังมีผู้เกี่ยวข้องออกมาให้ความคิดเห็นกันอย่างมากมาย

  • นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS66 ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ วันที่ 11 ธันวาคม 2565 ว่า เป็นการวัดความรู้เรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) หรือแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีการกล่าวถึงเป้าหมาย 17 ประการ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการลดโลกร้อน

“โดยปกติแล้วเรามีส่วนร่วมได้หลายวิธี รวมทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร อาหารแต่ละประเภทจะมีคาร์บอนฟุตพรินท์ หรือ การผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ อาหารทะเล หรือว่าปลาแซลมอนนะครับ เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ การตระหนักรู้ในเรื่องปริมาณ คาร์บอนฟุตพรินท์ เราก็ใช้ข้อมูลระดับโลกในการที่จะกำหนดข้อมูลของคาร์บอนฟุตพรินท์แต่ละชนิด”

    ผู้จัดการระบบ TCAS66 ยืนยันว่า ข้อสอบนี้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวตามหลักวิชาการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

  • ต่อมาสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ออกเอกสารชี้แจงประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจข้อสอบ TGAT โดยอธิบายในลักษณะเดียวกันกับนายชาลี

  • กรีนพีซเห็นแย้งข้อสอบคลุมเครือ-กำกวม

    แม้ว่าผู้จัดการระบบ TCAS66 ออกมาย้ำข้อสอบเป็นไปตามหลักวิชาการ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า เป็นเรื่องยากและซับซ้อนในรายละเอียดทั้งในแง่การผลิตวัตถุดิบ การขนส่งสินค้า หรือกระบวนการแปรรูปอาหาร จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินคำตอบที่ถูกต้องได้

    หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยกรีนพีซประจำประเทศไทย และผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ข้อสอบนี้สะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ ตั้งแต่การเน้นให้ท่องจำ ไปจนถึงการขาดการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ”

    เขาระบุว่าคำถามของข้อสอบมีความคลุมเครืออย่างยิ่ง และทำให้ตัวเลือกทั้ง 4 ยิ่งคลุมเครือหนักขึ้นไปอีก

ความคลุมเครือของคำถามคือ

(1) คำว่า “สร้างก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งอาจเป็นชนิดของก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่คาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว) ชนิดใดชนิดหนึ่ง/หลาย ๆ ชนิดก็ได้ หรือพิจารณาในแง่ Carbon Footprint ก็ได้

(2) ความคลุมเครือของคำว่า “ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน…” เพราะก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดมีศักยภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อน(Global Warming Potential) ต่างกันไป

    พอคำถามมีความคลุมเครือ/กำกวม การหาคำตอบว่าข้อไหนถูกจึงเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ต่อผู้ทำข้อสอบ บางคนอาจคิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งไก่ หมู ปลาแซลมอนและสัตว์ทะเล (หมึก กุ้ง ฯลฯ) ว่าเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมหรือเลี้ยงแบบบ้าน ๆ บางคนอาจคิดจาก Carbon Footprint ของแต่ละเมนู บางคนอาจคิดไปไกลถึงห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ตั้งแต่ต้นจนจบของแต่ละเมนู

    “การตั้งคำถามที่ชัดเจนและชาญฉลาดจึงมีความสำคัญ” เขาระบุ

Carbon Footprint คืออะไร

ที่มาข้อมูล : https://www.pttgrouprayong.com/newsroom/ptt-group-sharings/83/carbon-footprint-คืออะไร

    Carbon Footprint คือแนวทางที่ใช้ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิด ซึ่งก๊าซแต่ละชนิดจะมีผลในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกัน การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นหนึ่งในแนวทางการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ แปรรูป จัดจำหน่ายไปจนถึงการกำจัดของเสียหลังใช้งาน (Entire Lifecycle) ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

    ทุกคนมีส่วนในการปล่อย Carbon Footprint อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการบริโภค เพราะการเกิดก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 4 มาจากกระบวนการผลิตอาหาร และไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของเรา ซึ่งจากผลกาศึกษาในวารสาร Science เมื่อปี 2018 ที่เปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหารชนิดต่างๆ 29 ชนิด ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ พบว่าการผลิตเนื้อวัวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด และจากข้อมูลยังบอกอีกว่าการทำฟาร์มยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในห่วงโซ่การผลิต ซี่งก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรมีทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่น ๆ เช่น มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เพราะฉะนั้นการเลือกอาหารและพฤติกรรมการกินอย่างเหมาะสมช่วยลด carbon footprint ได้

    ในอีกด้านการกินของสัตว์เลี้ยงเราก็สร้าง Carbon Footprint จำนวนมหาศาลเหมือนกัน จากการคำนวณค่า Greenhouse Gas Equivalencies Calculator พบว่าด้วยนิสัยการกินของสุนัขและแมว ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศถึง 64 ล้านตันทุกปี ซึ่งเท่ากับปริมาณที่ปล่อยก๊าซจากการขับรถมากกว่า 13 ล้านคัน ปัญหานี้เป็นที่น่าจับตามองเพราะว่าความนิยมการเลี้ยงหมาและแมวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชียนั่นหมายถึง ปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากหมาและแมว สู่สภาพแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่มักจะให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารเหลือต่อจากคน ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้เนื้ออย่างดีและมีราคา ส่งผลให้มีความต้องการเนื้อสัตว์ในตลาดเพิ่มมากขึ้น

    ในขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เริ่มมีการนำแนวคิดเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ผลิตในการใช้เทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่นกัน

โลกร้อนเกี่ยวกับอาหารที่เรากินอย่างไร

ที่มาข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/thailand-63933018

    เมื่อปี 2019 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) เผยแพร่รายงานที่ศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ 107 คน ในการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในประเทศตะวันตกที่มีปริมาณสูงมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

    ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของวงจรอาหารของมนุษย์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น และสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์

อาหารที่เรากินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน

  • 26%ของก๊าซเรือนกระจกมาจากอาหาร
  • 58%ของก๊าซเรือนกระจกจากอาหารที่เรากินมาจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์
  • 50%ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฟาร์มสัตว์ เป็นฟาร์มที่ผลิตเนื้อวัวและเนื้อแกะ

ที่มา: คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

    อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารก็ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมป่าไม้ กินสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ส่วนการเลี้ยงปศุสัตว์ก่อโลกร้อนด้วยการปล่อยก๊าซมีเทน รวมทั้งการทำให้พื้นที่ป่าลดลงจากการรูปแบบการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง

    ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติและวีแกนหลายคนเปลี่ยนวิถีการบริโภคของตัวเองส่วนหนึ่งเพราะเหตุผลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ มีกลุ่มรณรงค์กลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ชื่อว่า #nobeef พยายามรณรงค์ให้ผู้ค้าอาหารเอาเนื้อวัวและแกะออกจากเมนูอาหารที่จัดให้นักเรียน

จะรู้ได้อย่างไรว่า เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่

ทำไมต้องวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    เนื่องจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของพวกเราก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การอาบน้ำ รับประทานอาหาร เดินทางไปโรงเรียน ไปทำงาน การทำงาน การพักผ่อน การเดินทางทางท่องเที่ยว เป็นต้น
    ดังนั้น ความเป็นไปได้ทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงการลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะต้องสูญเสียไปด้วย
    ดังนั้น เรามาวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสากลนิยมเรียกกว่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” เมื่อเราทราบว่าในชีวิตประจำวันของพวกเรามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าใด จากกิจกรรมหรือพฤติกรรมใดบ้าง ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได

ฉลากคาร์บอนของประเทศไทย

    ประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ได้พัฒนาฉลากคาร์บอนขึ้น 3 แบบ ได้แก่
1) เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product)
2) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือเรียกสั้นๆว่า “ฉลากลดโลกร้อน”
3) ฉลากคูลโหมด (CoolMode)

1) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของ ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต/การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน คำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

2) เครื่องหมายรับรองการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฉลากลดโลกร้อน” สำหรับรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

3) CoolMode หรือคูลโหมด เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ทำให้สวมใส่สบาย ไม่ร้อนอบอ้าว

ที่มาข้อมูล : http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/admin/uploadfiles/download/ts_411c543bad.pdf