อาณาจักรสุโขทัย

สร้างโดย : นางสาวอภัสรา มูลมณี นางมาลัยวรรณ จันทร
สร้างเมื่อ พฤ, 18/11/2010 – 10:10

อาณาจักรสุโขทัย

…………….สวัสดีคะทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม…………….

           บล็อกนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัย อาทิเช่น พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัย การติดต่อทำการค้าขายกับต่างประเทศ ด้านศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ เนื้อหาในส่วนนี้จะเกี่ยวเนื่องกับวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้น และผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมและศึกษาได้
           ข้าพเจ้าหวังว่าบล็อกนี้จะสามารถให้ความกระจ่างศาสตร์แก่ทุกท่าน หากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมานั้นที่นี้ด้วย แล้วทุกท่านก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือติชมบล็อกได้นะคะ ข้าพเจ้ายินดีที่จะปรับปรุงเมื่อมีข้อผิดพลาด ด้วยสุดความสามารถของข้าพเจ้า

ประวัติศาสตร์สุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย (1762-1981)

           อาณาจักร สุโขทัยได้รับการสถาปนาขึ้น ใน พ.ศ. 1762 เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ได้รวมกำลังกันขับไล่ขอมสมาดโขลญลำพงออกจากดินแดนสุโขทัยได้สำเร็จ  ซึ่งแต่เดิมกรุงสุโขทัยเคยมีผู้นำคนไทยปกครองมาก่อนคือพ่อขุนศรีนาวนำถม หลังจากพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขอมก็ได้มายึดอำนาจการปกครองไป  ดังนั้นทั้งสองพระองค์จึงมายึดอำนาจการปกครองคืน และได้สถาปนาให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองสุโขทัยทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย  และในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีการขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางจนทำให้กรุงสุโขทัยเป็นปึกแผ่นมั่นคง

(ที่มา:http://server.thaigoodview.com/files/u19918/246PX-_1.jpg)

ปัจจัยที่เอื้อต่อการสถาปนากรุงสุโขทัย

  1. ขอมเริ่มเสื่อมอำนาจ ใน พ.ศ. 1762 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ของขอมสิ้นสุดอำนาจการปกครองทำให้อาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอลง ทำให้สุโขทัยสามารถสร้างราชธานีได้สำเร็จ
  2. ความเข้มแข็งของผู้นำ คือพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ตลอดจนความสามัคคีของคนไทยทำให้สามารถ ต่อสู้กับทหารขอมจนกระทั่งได้รับชัยชนะและประกาศตนเป็นอิสระไม่ต้องอยู่ภาย ใต้อิทธิพลของขอมอีกต่อไป
  3. คนไทยมีนิสัยที่รักความมีอิสระเสรี ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติอย่างหนึ่งของคนไทย เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง มีนโยบายที่จะขับไล่พวกขอมจึงได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากคนไทยอย่างพร้อม เพรียง
  4. สภาพทำเลที่ตั้งของกรุงสุโขทัยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมทำให้มีความสะดวก ทั้งทางบกและทางน้ำ สามารถติดต่อกับเมืองอื่น ๆ ได้และไม่ต้องหวั่นเกรงกับการถูกปิดล้อมจากข้าศึก

พระมหากษัตริย์ของสุโขทัย

           พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงของอาณาจักรสุโขทัยและมีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อมารวมทั้งสิ้น 9 พระองค์ ดังต่อไปนี้

  1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง
  2. พ่อขุนบานเมือง เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
  3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และเป็นพระอนุชาของพ่อขุนบานเมือง
  4. พญาเลอไท เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
  5. พญางั่วนำถุม เป็นพระอนุชาของพญาเลอไท
  6. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เป็นพระราชโอรสของพญาเลอไท
  7. พระมหาธรรมราชาที่ 2 เป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1
  8. พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไทย) เป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 2
  9. พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 3

ลักษณะการเมืองการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย

1. การปกครองแบบปิตุราชา หรือ พ่อปกครองลูก ระยะแรกของการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยมีจำนวนประชากรไม่มากนักโดยเฉพาะสามรัชกาลแรกแห่งสุโขทัยตอนต้น ที่มีคำนำหน้าพระนามว่า พ่อขุนได้ใช้รูปแบบการปกครองที่ยึดหลักความสัมพันธ์ของครอบครัว พระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์เป็นเสมือนพ่อของประชาชนที่มีความใกล้ชิดกับราษฎร ยามใดที่ราษฎรเดือดร้อน สามารถสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่ประตูวังเพื่อร้องทุกข์ พระมหากษัตริย์สามรัชกาลแรกที่ใช้การปกครองแบบปิตุราชา ได้แก่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

(ที่มา http://www.bloggang.com/data/mystorymontonmai/picture/1226471623.jpg)

2. การปกครองแบบธรรมราชา ธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือกษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรงเกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย

สมัยสุโขทัยตอนต้น (พ.ศ.1762-1840)

           คือช่วงต้นของการสถาปนากรุงสุโขทัย จนสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยมีลักษณะการเมืองการปกครอง ดังนี้

การปกครอง  มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับราษฏรมีลักษณะเหมือนพ่อกับลูกดังจะเห็นได้จาก

  1. คำนำหน้าพระนามกษัตริย์ใช้เรียกว่า “พ่อขุน”
  2. ให้แขวนกระดิ่งไว้ที่หน้าประตูวังเพื่อให้ราษฎรที่เดือดร้อนได้ไปสั่นกระดิ่งร้องทุกข์
  3. ในบางครั้งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะทรงประทับบนพระแท่นมนังคศิลาบาตรเพื่อทรงอบรมสั่งสอนราษฎรด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดในวันธรรมสวนะ  

(ที่มา http://www.sahavicha.com/UserFiles/Image/IMG_0004%281%29.jpg)

อาณาเขตการปกครอง

           อาณาเขตการปกครองใน สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีการขยายออกไปกว้างขวางที่สุด ได้แก่

– ทิศเหนือ มีอาณาเขตไปถึงเมืองหลวงพระบาง
– ทิศตะวันออก มีอาณาเขตไปถึงเมืองเวียงจันทน์และเมืองเวียงคำ
– ทิศใต้ มีอาณาเขตไปถึงฝั่งทะเลจดเขตเมืองนครศรีธรรมราช
– ทิศตะวันตก มีอาณาเขตไปถึงเมืองหงสาวดี 

แผนที่สุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง

(ที่มา http://4.bp.blogspot.com/_gHZdLP0ORF4/TDGn9X5PYUI/AAAAAAAABGQ/RRKjMHjv0_…)

แบบแผนการปกครอง

           การจัดแบบแผนการปกครองในราชอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย
           อาณาจักรสุโขทัยโดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการจัดแบบแผนการปกครองในลักษณะกระจายอำนาจ จากราชธานีออกสู่หัวเมืองต่างๆ โดยแต่งตั้งให้เจ้าเมืองไปปกครองดูแลตามแต่ละหัวเมืองและได้จัดลำดับความสำคัญของเมือง ดังนี้

  1. เมืองราชธานีหรือเมืองหลวงตั้งอยู่ที่กรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่ประทับของพระมหากษัตริย์ มีพระราชวังและวัดวาอารามที่ใหญ่โตเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นศูนย์รวมด้านการปกครอง ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม พระมหากษัตริย์เป็นผู้บัญชาการและเป็นผู้ปกครอง
  2. หัวเมืองชั้นใน(เมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน) เป็นเมืองที่มีความสำคัญรองมาจากราชธานี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรส หรือบุคคลในราชวงศ์ไปปกครองดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ เมืองลูกหลวงมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ แต่ละเมืองตั้งอยู่รายรอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ และมีระยะทางห่างจากราชธานีประมาณ 2 วัน ได้แก่
    • ทิศเหนือ ศรีสัชนาลัย
    • ทิศใต้ สระหลวง
    • ทิศตะวันออก สองแคว
    • ทิศตะวันตก นครชุม
  3. หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เมืองนี้มีที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลูกหลวงไปอีกชั้นหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งชนชั้นเจ้านายและขุนนางไปปกครองดูแล เจ้าเมืองจะมีตำแหน่งเป็นขุนมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองตนเอง แต่ต้องเตรียมกำลังคนและเสบียงอาหารมาช่วยในยามมีศึกสงคราม เมืองพระยามหานคร ได้แก่เมืองนครสวรค์ เมืองกาญจนบุรี เมืองเชียงทอง เมืองชัยนาท
  4. เมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจนถึงชายพระราชอาณาเขตถูกรวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัยด้วยการทำสงคราม ชาวเมืองมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติต่างภาษา เจ้าเมืองเดิมมีสิทธิ์ขาดในการปกครองของตนเช่นเดิม เมื่อยามสงบ เมืองประเทศราชต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมายังกรุงสุโขทัยตามกำหนด 3 ปีต่อครั้ง หากเมืองขึ้นถูกรุกรานกรุงสุโขทัยจะส่งกองทัพไปช่วยเหลือ หากมีข้าศึกยกมาตีกรุงสุโขทัย บรรดาเมืองประเทศราชต้องส่งกำลังมาช่วยรบ เมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองเวียงจันทร์ เมืองหลวงพระบาง เมืองหงสาวดี

(ที่มา http://203.172.204.162/intranet/1046_e-learning/www.e-learning.sg.or.th/act4_3/pic/Picture.jpg)

สมัยสุโขทัยตอนปลาย (พ.ศ.1841-1981)

           คือช่วงตั้งแต่สมัยพญาเลอไทไปจนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)

การเมืองการปกครอง

           หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นข้อปฏิบัติ คือ “หลักทศพิธราชธรรม” อันกล่าวถึงลักษณะของกษัตริย์ที่เรียกว่า “ธรรมราชา” หรือ พระราชาผู้ประพฤติธรรม โดยพระองค์ทรงมุ่งใช้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เกิดประโยชน์ในการปกครองบ้านเมืองซึ่งลักษณะธรรมราชานี้ปรากฏอยู่ใน “ไตรภูมิพระร่วง”คือ วรรณกรรมที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 1888

อาณาเขตการปกครองของ สุโขทัยตอนปลาย

           หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ขณะเดียวกันอาณาจักรอยุธยาเริ่มเข้มแข็ง บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ก็ตั้งตนเป็นอิสระ อาณาจักรสุโขทัยจึงมีอาณาเขตลดน้อยลง

แบบแผนการปกครองของ สุโขทัยตอนปลาย

           ยังคงปกครองบ้านเมืองแบบเดิม แต่ได้นำเอาคติธรรมราชามาใช้ในการปกครองบ้านเมืองด้วย ซึ่งทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความสัมพันธ์อย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกษัตริย์กับราษฎร และหลักธรรมทางศาสนาและหลักธรรมทางศาสนาที่นำมาใช้ได้แก่ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชจรรยานุวัตร

ลักษณะทางสังคมและศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย

ลักษณะทางสังคมของอาณาจักรสุโขทัย
กลุ่มคนในสังคมสุโขทัยแบ่งเป็นชนชั้น แต่ละชนชั้น แบ่งออกเป็น ๖ กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ชนชั้นปกครอง ได้แก่ กษัตริย์ ราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนาง
2. ชนชั้นใต้ปกครอง ได้แก่ ไพร่ ข้า
3. ชนชั้นนักบวชในศาสนา ได้แก่ พระสงฆ์

1.ชนชั้นปกครอง ประกอบด้วย

ลำดับที่ 1 กษัตริย์หรือเจ้านายมีอำนาจสูงสุดในอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน สร้างความเป็นปึกแผ่นในอาณาจักร ตลอดจนการดำรงชีวิต และการทำมาหากินของประชาชน เป็นผู้นำกองทัพส่งเสริมทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ลำดับที่ 2 ราชวงศ์ชั้นสูงมีเชื้อสายเดียวกับพระมหากษัตริย์และเป็นชนชั้นที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางใจ และมีความใกล้ชิดพระองค์ โดยกษัตริย์จะส่งไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่สำคัญ

ลำดับที่ 3 ขุนนางหรือข้าราชการ มีหน้าที่ดูแลบ้านเมืองปกครองประชาชน ตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงโปรดใหขุนนาง ข้าราชการ มีส่วนร่วมในการปกครองแต่ไม่มีอำนาจใดๆ ต้องรับนโยบายปกครอง และการตัดสินพระทัยจากพระมหากษัตริย์

2.ชนชั้นใต้ปกครอง ประกอบด้วย

ลำดับที่ 1 ไพร่ คือราษฎรสามัญชนธรรมดา มีอิสระในการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของขุนนาง ตามพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ จะถูกขุนนางเกณฑ์แรงงานไปรับใช้แก่ราชการเป็นครั้งคราว เช่น การเกษตรกรรม การก่อสร้าง และการชลประทาน นอกจากนั้นไพร่ในสุโขทัยได้รับสิทธิหลายด้านได้แก่ สิทธิในการประกอบอาชีพ ทรัพย์สิน การรับมรดก จากหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 เรียกชนชั้นนี้ว่า ลูกบ้านลูกเมือง

ลำดับที่ 2 ข้า พวกข้ามิใช่พวกทาส ข้าในสมัยสุโขทัยเป็นผู้ติดตาม คอยรับใช้ชนชั้นปกครอง มีอิสระในการดำรงชีวิตของตนเองอยู่บ้าง

3.ชนชั้นนักบวชในศาสนา

ลำดับที่ 1 พระสงฆ์ เป็นผู้สืบทอดเผยแผ่พระพุทธศาสนา สั่งสอนประชาชน ให้ความศรัทธาต่อพระสงฆ์ ตลอดจนเป็นผู้เชื่อมโยงให้ชนชั้นปกครอง และชนชั้นใต้ปกครองอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ลักษณะทางเศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัย

           ลักษณะเศรษฐกิจสมัยสุโขทัย ขึ้นอยู่กับอาชีพหลักของราษฎร คือ การเกษตรกรรม หัตถกรรม และ ค้าขาย

การเกษตร

           อาชีพหลักของชาวสุโขทัย คือ เกษตรกรรมได้แก่ ทำนา ทำไร่ ทำสวน และการเลี้ยงสัตว์ ชาวสุโขทัยมีการสร้างระบบชลประทานที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากสุโขทัยมีปัญหาความแห้งแล้งในฤดูแล้ง เพราะดินเป็นดินปนทราย ทำให้ดินไม่อุ้มน้ำ จึงมีการสร้างเขื่อนดินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย เขื่อนดินนี้ เรียกว่า สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง สำหรับเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขา และขนระบายน้ำเข้าไปใช้ภายในตัวเมือง และบริเวณใกล้เคียงตัวเมือง นอกจากนี้ภายในตัวเมืองยังมีการขุดสระน้ำที่เรียกว่า ตระพัง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอย

           พืชที่ปลูกมาก คือ ข้าว รองลงมาเป็นผลไม้ เช่น มะม่วง มะขาม มะพร้าว หมากพลู เป็นต้น โดยพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มทางแถบเมืองศรีสัชนาลัย ชากังราว สองแคว และนครชุม

(ที่มา http://2.bp.blogspot.com/_MbRYxkD-emI/Suf9Uo4S_DI/AAAAAAAAKbE/WzKV2sRqUo…)

อุตสาหกรรม

           ผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงมากของสุโขทัยคือ เครื่องสังคโลก มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย สินค้าเครื่องสังคโลกที่ผลิต ได้แก่ ถ้วย โถ จาน ไห กระปุก เป็นต้น นอกจากค้าขายกันภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปขายต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจากการสำรวจทางโบราณคดีได้พบแหล่งเตาเผามากมาย โดยเฉพาะบริเวณทิศเหนือนอกกำแพงเมืองสุโขทัย น้ำโจน และเมืองศรีสัชนาลัย ริมฝั่งแม่น้ำยม  ที่รู้จักกันดี คือ เตาทุเรียงสุโขทัย เตาทุเรียงป่ายาง และเตาทุเรียงเกาะน้อย

เตาทุเรียง

(ที่มา http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192264874.jpg)

เครื่องสังคโลก

ที่มา http://www.amulet1.com/showimg.php?img=detail&id=47 

การค้าขาย

           การค้าขายในสุโขทัยที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 แสดงให้เห็นว่ามีการค้าขายอยู่ 2 ประเภท คือการค้าขายภายในอาณาจักรและการค้าขายกับต่างประเทศ การค้าภายในอาณาจักรเป็นการค้าแบบเสรี มีตลาดเป็นศูนย์กลางการค้า เรียกว่า ” ปสาน “ไว้สำหรับประชาชนจากถิ่นต่างๆ ที่เดินทางมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน การค้าขายระหว่างเมืองจะไม่มีการเก็บภาษีผ่านด่าน ที่เรียกว่า ” จกอบ ” ดังศิลาจารึก กล่าวว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” ทำให้ประชาชนค้าขายได้อย่างเสรี

ปสาน

(ที่มา http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/sukhotai/img24.jpg)

           การค้าขายกับต่างประเทศ เช่น การค้ากับหงสาวดี ขอม มลายู ชวา ซึ่งสินค้าออกที่สำคัญได้แก่ เครื่องเทศและของป่า เช่น พริกไทย ไม้ฝาง งาช้าง หนังสัตว์ ไม้หอม นอแรด ส่วนสินค้าเข้าเป็นประเภทผ้าไหม เครื่องประดับ โดยเฉพาะผ้าไหมที่พ่อค้าจีนนำมาขายเป็นที่ต้องการของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและขุนนางสุโขทัย

ระบบเงินตรา

           สุโขทัยมีการค้าขายในชุมชนของตนเองและกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง จึงมีการแลกเปลี่ยนสินค้าและการซื้อขายในระบบเงินตรา เงินตราที่ใช้ คือ “เงินพดด้วง” ซึ่งทำจากโลหะเงิน ก้นเบี้ยหอย มีขนาดตั้งแต่ 1-4 บาท โดยมีการใช้เงินตราเป็นสื่อการในการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการซื้อขาย

(ที่มา http://www.izeeyou.net/images/862_6.jpg )  

การเก็บภาษีอากร

           สุโขทัยไม่มีการเก็บภาษีผ่านด่าน หรือ จกอบ แต่จะเก็บภาษีอื่น ๆ เช่น ธรรมเนียมต่าง ๆ ภาษีรายได้การค้า ค่านา เป็นต้น 

ด้านภาษา

           การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 คือ ลายสือไทย สันนิษฐานว่า ดัดแปลงมาจากตัวอักษรขอมหวัด และมอญโบราณ นับว่าเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมสุโขทัย อักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะการวางรูปตัวอักษร คือ สระ พยัญชนะ จะอยู่บรรทัดเดียวกัน สระจะอยู่หน้าพยัญชนะ มีวรรณยุกต์เพียง 2 รูป คือ เสียงเอกและเสียงโท ในสมัยต่อมาได้มีการปรับปรุง โดยนำสระเขียนไว้ ข้างล่าง ข้างบน ข้างหน้า และข้างหลังของพยัญชนะ เพิ่มวรรณยุกต์จนออกเสียงได้ครบ และได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็นอักษรที่ใช้กันทุกวันนี้ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ตัวอักษรแล้ว โปรดฯให้จารึกเรื่องราวสมัยสุโขทัยลงในหลักศิลาจารึก โดยมีหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 เป็นหลักแรก ที่แสดงถึงเรื่องอักขรวิธีของภาษาไทยและเรื่องราวต่างๆ ด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของสุโขทัย

(ที่มา http://203.144.136.10/service/mod/heritage/king/sukhotai/th28.jpg )

ด้านวรรณกรรม

           วรรณกรรมในสมัยกรุงสุโขทัยมีอยู่หลายประเภท ส่วนใหญ่ออกมาในรูปของ การสดุดีวีรกรรม ศาสนา ปรัชญา โดยมีวรรณกรรม ที่สำคัญ ดังนี้

  • หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯให้จารึกตัวอักษร ลงบนหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 นับว่าเป็นหลักแรกที่แสดงถึงอักขรวิธีของภาษาไทย และเป็นวรรณกรรมที่แสดงถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณีของอาณาจักรสุโขทัย
  • ไตรภูมิพระร่วง (เตภูมิกถา) พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) เป็นผู้พระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ ใช้เทศนาโปรดพระราชมารดาและสั่งสอนประชาชนของสุโขทัย ให้บรรลุถึงนิพพาน วรรณกรรมไตรภูมิพระร่วงจะบรรยายถึงภาพของนรกสวรรค์ไว้อย่างชัดเจน โดยสอนให้รู้จักบาปบุญ คุณโทษ รู้ชั่ว เกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับจากการทำความชั่ว

(ที่มา http://www.thaisecondhand.com/view/productpic/09/01/p7193226n1.jpg)

  • สุภาษิตพระร่วง นับว่าเป็นวรรณกรรมที่มีค่ายิ่ง มีวัตถุประสงค์ที่จะสอนคน ให้มีความรู้และการปฏิบัติตนต่อบุคคลอื่น

(ที่มา http://www.info.ru.ac.th/province/sukhotai/Pasit2.jpg)

  • ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ วัตถุประสงค์ในการแต่งวรรณกรรมเรื่องนี้ เพื่อให้คำแนะนำตักเตือนข้าราชการ สำนักฝ่ายในให้มีกิริยามารยาทที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นการเชิดชูเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

(ที่มา http://i365.photobucket.com/albums/oo93/chirapattras/loykrathong.jpg)

ลักษณะทางศิลปและวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย

           สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปะ มีช่างที่ชำนาญหลายสาขา มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความงดงามมาก ได้แก่ ด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม ดังปรากฏจากซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ นับได้ว่าเป็นมรดก อันล้ำค่าที่คนไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไป ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ยังหลงเหลืออยู่ มีดังนี้

ด้านสถาปัตยกรรม

           สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย เป็นสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนา ได้แก่

  • เจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานพระมหาธาตุ และใช้สักการะพระพุทธเจ้า ก่อสร้างด้วยอิฐ หินหรือศิลาแลง มีลักษณะเป็นยอดแหลม เจดีย์ที่นิยมสร้างในอาณาจักรสุโขทัยมี 3 รูปทรง ดังนี้

           1. เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม เจดีย์รูปทรงนี้ส่วนฐานสร้างเป็น รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม บนยอดเจดีย์เป็นรูปดอกบัวตูม เช่น เจดีย์วัดตระพังเงิน จังหวัดสุโขทัย เจดีย์พระศรีมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย และเจดีย์ทรงพุ่ม ข้าวบิณฑ์ เป็นแบบเฉพาะของศิลปะสุโขทัย

ที่มา http://mcrutak.ob.tc/picture/12413/1241309812mcrutak.jpg

           2. เจดีย์ทรงกลมหรือทรงลังกา (ทรงระฆังคว่ำ)เจดีย์รูปทรงนี้เป็นพระเจดีย์ทรงกลม ลายกลีบบัวประกบบริเวณส่วนล่างขององค์ระฆัง เช่น เจดีย์วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย นอกจากนั้นเจดีย์ทรงกลมนิยมสร้างมากในกรุงสุโขทัย

ที่มา http://static.panoramio.com/photos/medium/32022618.jpg

           3. เจดีย์ทรงเรือนธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศรีวิชัยผสมลังกา เจดีย์รูปทรงนี้มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมสถูปแบบศรีวิชัย ตอนบนเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา เช่น เจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย

ที่มา http://www.pixpros.net/forums/attachment.php?attachmentid=206301&stc=1&d…

  • วิหาร อาณาจักรสุโขทัย นิยมสร้างวิหารที่มีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีอุปสมบท ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและใช้เป็นที่ประชุมเพื่อฟังธรรมของประชาชนจำนวนมาก วิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัสดุที่ใช้ในการสร้างวิหารได้แก่ ศิลาแลง อิฐ ไม้ วิหารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ได้แก่ วิหารหลวง ที่วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย

ที่มา http://www.pixpros.net/forums/attachment.php?attachmentid=219307&stc=1&d…

  • มณฑป เป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีขนาดเล็กกว่าวิหารลักษณะของมณฑป จะก่อเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีหลังคาสูง 

ด้านประติมากรรม

           ผลงานด้านประติมากรรมของอาณาจักรสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นการสร้างพระพุทธรูป มักนิยมหล่อด้วยสำริดและปั้นด้วยปูน โดยนิยมสร้างด้วยอริยาบททั้ง ๔ คือ ยืน นอน นั่ง และเดิน ร่องรอยที่ปรากฏแรกๆ การสร้างพระพุทธรูป มักสร้างด้วยปูน เช่น พระอจนะ ซึ่งประดิษฐานภายในมณฑปวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ต่อมาได้รับอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปมาจากศิลปะลังกา ได้มีการหล่อด้วยสำริด และโลหะ เช่น พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

พระอจนะ วัดศรีชุม

ที่มา http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/9/96/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B…

ลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

           พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เป็นศิลปะแบบไทยแท้จะต่างจากศิลปะของลังกาและอินเดีย มีลักษณะเด่น คือ มีลักษณะส่วนโค้งที่งามสง่าอ่อนช้อย ประณีต มีพระเกศาทำขมวดเป็นก้นหอยแหลมสูง ยอดพระเมาลีเป็นเปลวเพลิง พระพักตร์รูปไข่สงบ มีรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตรฉายแววเมตตา พระนาสิกแหลมงุ้ม และมีพระสังฆาฏิที่ยาวจรดพระนาภี นอกจากงานประติมากรรมของสุโขทัยที่มีการสร้างพระพุทธรูปแล้ว ยังมีการหล่อเทวรูปด้วยสำริดและโลหะ มักนิยมสร้างเป็นรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระวิษณุ ประดิษฐานไว้ที่หอเทวาลัยมหาเกษตร เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู

สาขาจิตรกรรม

           จิตรกรรมที่พบสมัยสุโขทัยมีทั้งภาพลายเส้น และภาพสีฝุ่น มีภาพจำหลักลายเส้นลงในแผ่นหินชนวนเป็นภาพชาดก พบที่วัดศรีชุมเมืองสุโขทัย

ที่มา http://www.jitdrathanee.com/thaksinawat/suwat/images/sri-chum_26.jpg

ด้านศาสนา

           ศาสนาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งในสมัยสุโขทัย เพราะถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอื่น เช่น การปกครอง ประเพณี เริ่มแรกคนไทยในสุโขทัยนับถือผีสางเทวดา ต่อมาได้มีชนชาติอื่นนำศาสนาที่มีหลักปฏิบัติที่มีแบบแผนเข้ามาเผยแผ่ จึงได้นำความเชื่อของศาสนาเหล่านั้นมาผสมผสานกับความเชื่อเดิมของตน เช่น จากขอม จากศาสนาพราหมณ์ จากพุทธนิกายมหายานจากจีน

ความเจริญทางพระพุทธศาสนา

  • สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา มีบทบาทมากในกรุงสุโขทัยพระองค์ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคง โดยประชาชนชาวสุโขทัยมีโอกาสศึกษาธรรมและฟังเทศน์จากพระสงฆ์ที่พระองค์ทรงอาราธนามาจากเมืองนครศรีธรรมราชทุกๆวันธรรมสวนะ จะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรไว้ที่กลางดงตาลเพื่อให้พระสงฆ์แสดงธรรมแก่ประชาชน นอกจากนั้นพระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์ศาสนา โดยพระองค์ทรงสร้างวัดวาอารามเป็นจำนวนมากในกรุงสุโขทัย
  • สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดในกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ โดยผ่านความเจริญเข้ามาทางเมืองนครพันและได้มีพระสงฆ์จากสุโขทัยหลายรูป เดินทางไปศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาที่เมืองนี้ แล้วนำเข้ามาเผยแผ่ยังกรุงสุโขทัย

ความเจริญทางพระพุทธศาสนาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1

  1. พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงศึกษาพระธรรมคำสอนจนแตกฉาน และทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาคือ ไตรภูมิพระร่วง
  2. พระองค์ทรงออกผนวชระหว่างครองราชย์ที่วัดป่ามะม่วง กรุงสุโขทัย พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์และธรรมราชา
  3. มีปูชนียสถานเกิดขึ้นมากมาย พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปด้วยสำริดหลายองค์ที่มีความงดงาม และทรงสร้างวัดในเขตกำแพงเมือง และนอกกำแพงเมือง
  4. พระพุทธศาสนาออกไปเผยแผ่ยังดินแดนอื่น โดยพระองค์ทรงส่งคณะสงฆ์จากสุโขทัย ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง

ประเพณีที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

  • ประเพณีการทำบุญตักบาตรและฟังธรรม ประชาชนชาวสุโขทัยยึดปฏิบัติเป็นประจำ คือ การทำบุญตักบาตรทุกวันตอนเช้า หรือไปทำบุญที่วัดในวันธรรมสวนะ วันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันทอดกฐิน
  • ประเพณีการบวชโดยมีความเชื่อว่าการบวช เป็นการช่วยอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีและทดแทนพระคุณพ่อแม่ ตลอดจนศึกษาพระธรรมวินัย
  • ประเพณีการสร้างวัดในเขตพระราชวังโดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดมหาธาตุ นับว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเขตพระราชวังแห่งกรุงสุโขทัย

พระราชพิธีที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

  1. พระราชพิธีจองเปรียง-ลอยพระประทีปหรือพิธีลอยกะทง
  2. พระราชพิธีวันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในวันสำคัญนี้ประชาชนชาวสุโขทัยทำบุญตักบาตร ถืออุโบสถ และรักษาศีล
  3. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศของไทยสมัยสุโขทัย

จุดมุ่งหมายของการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศของไทยสมัยสุโขทัย

  1. เพื่อขยายขอบเขตและอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยให้กว้างขวางออกไป
  2. เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูภายนอก
  3. เพื่อรักษาความมั่นคงของอาณาจักร
  4. เพื่อผลประโยชน์ด้านการค้า และเศรษฐกิจของอาณาจักร
  5. เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับดินแดนอื่น
  6. เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

สร้างความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง.

รูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์

อาณาจักรล้านนา

           ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาได้แก่ พญามังราย เป็นพระสหายสนิทกันรวมทั้งพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ได้ผูกมิตรไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้นเพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกมองโกล นอกจากนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพญางำเมือง ยังเสด็จขึ้นไปช่วยพญามังรายเลือกชัยภูมิที่เหมาะสมและวางผังเมืองแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา คือ เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

           ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) อาณาจักรสุโขทัยกับอาณาจักรล้านนา ได้มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมทาง พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ โดยพระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ได้แต่งทูตมาขอพระสุมนเถระ ซึ่งเป็นพระภิกษุของอาณาจักรสุโขทัยขึ้นไปสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อาณาจักรล้านนา

           ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) กษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยาได้ยกทัพไปตีหัวเมืองหลายแห่ง และพระมหาธรรมราชาที่ 2 ทรงขอกำลังทัพสนับสนุนจากเจ้าเมืองล้านนาในขณะนั้น ก็ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีและในขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีกำลังอ่อนแอมาก เกรงว่าอาณาจักรล้านนาจะเข้ามาครอบครองอาณาจักรสุโขทัย พระมหาธรรมราชาที่ 2 จึงยกทัพเข้าโจมตีอาณาจักรล้านนาจนได้รับความเสียหายมาก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับล้านนายุติลง

การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในทวีปเอเชีย

ความสัมพันธ์กับลังกา

           ลังกามีที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตอนใต้ เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดียอาณาจักร สุโขทัยกับลังกามีความสัมพันธ์กันทางด้าน พระพุทธศาสนาโดยสุโขทัยถ่ายทอดวัฒนธรรม การนับถือพระพุทธศาสนาให้กับสุโขทัย ในชั้นแรกผ่านมาทางแคว้นนครศรีธรรมราช และหัวเมืองมอญ ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ได้มีพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี พระภิกษุสงฆ์ที่มีเชื้อพระวงศ์กษัตริย์สุโขทัยได้ไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกาโดยตรง นอกจากนั้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งอาณาจักรสุโขทัย ยังได้ส่งคณะทูตจากสุโขทัยไปอาราธนามหาสามีสังฆราชจากเมืองพัน(เมืองเมาะตะมะ) ซึ่งมีวัตรปฏิบัติแบบลังกามายังสุโขทัย

           อาณาจักรสุโขทัยกับลังกาส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนา

           ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  สุโขทัยได้รับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาจากเมืองนครศรีธรรมราช  พระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปยังลังกาพร้อมกับราชทูตของเมืองนครศรีธรรมราช  เพื่อขอพระพุทธสิหิงค์มาไว้สักการบูชาที่อาณาจักรสุโขทัย  ทำให้อาณาจักรสุโขทัย ได้แบบอย่างพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาถือปฏิบัติกันในอาณาจักรสุโขทัยอย่างจริงจัง

           ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นสมัยที่ให้การยอมรับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  โดยพระองค์ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาประจำอยู่ที่สุโขทัยและแสดงธรรมในวันธรรมสวนะ (วันพระ) ที่กลางดงตาลให้กับประชาชนชาวสุโขทัย และช่วยส่งเสริมทางการศึกษาทางศาสนาและการปฏิบัติทางวินัย  นอกจากนั้นยังมีประเพณีในด้านศาสนาเกิดขึ้นแล้ว เช่น การทำบุญ การทอดกฐิน

           ในสมัยพระเจ้าเลอไท พระสงฆ์บางรูป เช่น พระมหาเถรศรีศรัทธา ได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกในประเทศลังกา  เมื่อเดินทางกลับได้นำพระศรีมหาโพธิ์  พระศีวาธาตุ (กระดูกส่วนบนร่างกาย เช่น กรามหรือไหปลาร้า) และพระทันตธาตุมาประดิษฐานไว้ที่กรุงสุโขทัย  นอกจากนั้นพระองค์ยังนำพระวินัยที่เคร่งครัดของพระสงฆ์ในนิกายมหาวิหาร  มาเผยแผ่ในกรุงสุโขทัย

           ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท)  เป็นสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญด้านพระพุทธศาสนามากที่สุด  โดยพระองค์ได้โปรดให้พิมพ์รอยพระพุทธบาท จากประเทศศรีลังกามาจำหลักลงบนแผ่นหิน  แล้วนำไปประดิษฐานยังยอดเขาสุมณกุฎ (ปัจจุบันคือ “เขาหลวง” อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัยเก่า) และเมื่อครั้งพระองค์ฯ เสด็จออกผนวชก็ได้โปรดให้เชิญพระอุทุมพรบุปผาสวามีชาวลังกามาเป็นพระอุปัชฌาย์

ความสัมพัน์กับจีน

           ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับจีน มีความสัมพันธ์ในลักษณะการค้าระบบรัฐบรรณาการ โดยเริ่มในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สุโขทัยได้ส่งคณะทูตพร้อมกับเครื่องราชบรรณาการไปจีน จากการที่สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับจีน ทำให้สุโขทัยได้รับประโยชน์จากจีนหลายอย่าง เช่น ทางการค้า ความรู้เรื่องการเดินทะเล เรียนรู้เรื่องเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผา (การทำสังคโลก) จนสามารถส่งขายเป็นสินค้าออก นอกจากนั้นพ่อค้าจากสุโขทัยที่ไปค้าขายยังเมืองจีน จะได้รับความสะดวกและสิทธิพิเศษในเรื่องการซื้อการขาย ทำให้การค้าระหว่างไทยกับจีนระยะต่อมามีความเจริญเป็นลำดับ

ผลจากการเปิดสัมพันธภาพกับจีน

  1. ทางด้านการเมือง ทำให้อาณาจักรสุโขทัยรอดพ้นจากการรุกรานจากจีน  นอกจากนั้นจีนยังไม่เข้าแทรกแซงการขยายอาณาเขตของไทยไปยังแหลมมลายูจนเกินขอบเขต
  2. ทางด้านเศรษฐกิจ  เป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับจีน  ในระบบบรรณาการทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการค้าระบบนี้  โดยคณะทูตได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษี
  3. ทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสังคโลกขึ้น  ผลิตตั้งแต่ชิ้นใหญ่ลงไปถึงชิ้นเล็ก ๆ โดยเฉพาะบริเวณสุโขทัยและสวรรคโลก  ต่อมาการผลิตเครื่องสังคโลกได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เศรษฐกิจ สุโขทัยเจริญขึ้นด้วยการส่งเครื่องสังคโลกไปจำหน่ายยังเมืองต่าง ๆ
  4. ทางด้านวัฒนธรรม ชาวไทยยุคนี้ได้รับวัฒนธรรมบางอย่างจากจีน เช่น การจุดดอกไม้ไฟ

พระมหากษัตริย์สุโขทัยที่สำคัญกับพระราชกรณียกิจ

           พระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยหลายพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เสริมสร้าง ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่น ของอาณาจักรก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรและอาณาจักร ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัด พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์ต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

           พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วง พระนามเดิม คือ พ่อขุนบางกลางหาว แห่งเมืองบางยาง พระองค์ทรงร่วมกับ พระสหาย พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ช่วยกันรวบรวมคนไทย ยึดเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งเข้าครอบครองเมืองสุโขทัยอยู่ขณะนั้นจนเป็นผลสำเร็จ และตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนบางกลางหาวทรงได้รับการสถาปนาจากพ่อขุนผาเมืองขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงมีพระมเหสี พระนามว่าพระนางเสือง มีพระราชโอรสที่ครองราชย์ต่อจากพระองค์อยู่ 2 พระองค์ คือ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระราชกรณียกิจ

  1. ทรงก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยโดยพระองค์ทรงรวบรวมผู้คน ยึดอำนาจจากขอมเป็นผลสำเร็จและทรงสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี ทำให้คนไทยมีอิสรภาพโดยไม่ตกอยู่ภายใต้ของอาณาจักรขอมต่อไป
  2. ทำศึกสงครามเพื่อป้องกันและขยายอาณาเขต ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้นำกองทัพเข้ามารุกรานเมืองตากซึ่งเป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พร้อมด้วยพ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสองค์เล็กทรงยกทัพเข้าสู้รบจนได้รับชัยชนะ ทำให้อาณาจักรสุโขทัยได้เมืองตากกลับคืนมา

พระมหาธรรมราชาที่ 1

           พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง อาณาจักรสุโขทัย เป็นพระราชโอรสของพญาเลอไท และเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษก

พระราชกรณียกิจ

  1. ด้านการเมืองการปกครอง
    หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอ ไม่มีความเป็นปึกแผ่น ดังนั้นเพื่อสร้างอาณาจักรสุโขทัยให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นให้เหมือนแต่ก่อน พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ทรงฟื้นฟูด้านการเมือง การปกครอง โดยพระองค์มุ่งด้านธรรมานุภาพมากกว่าเดชานุภาพ ทรงนำหลัก การปกครองแบบธรรมราชาซึ่งเป็นหลักธรรมกับคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา (หลักทศพิธราชธรรม) มาใช้ควบคุมดูแลราษฎรในอาณาจักร และสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงยึดปฏิบัติเพื่อปกครองราษฎรด้วยเมตตาธรรม
  2. ด้านวัฒนธรรมและประเพณี
    • ทรงออกผนวชระหว่างครองราชย์
      พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาพระธรรมระหว่างครองราชย์โดยผนวชที่วัดป่ามะม่วง กรุงสุโขทัย เมื่อพ.ศ. 1904 โดยมีพระอุทุมพรบุปผาสวามีแห่งเมืองพันเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำให้ชายไทยในสุโขทัยพากัน ออกบวชเป็นจำนวนมากถือว่าเป็นประเพณีการออกบวชของชายไทยมาจนถึงทุกวันนี้
    • ทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่งดงาม
      พระมหาธรรมราชาที่ 1 โปรดฯให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนสักการะพระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริด ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ทรงสร้างวัดในเขตกำแพงเมือง ได้แก่ วัดมหาธาตุ ที่สุโขทัย เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทรงโปรดฯให้สร้างหอเทวาลัยมหาเกษตรที่วัดป่ามะม่วง สำหรับประดิษฐานเทวรูป พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อให้ผู้คนชาวสุโขทัยมากราบไหว้บูชา
    • ทรงพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมไตรภูมิพระร่วง(เตภูมิกถา) เป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เล่มแรกของไทย กล่าวถึง ภูมิทั้ง 3 ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ บรรยายภาพนรกสวรรค์ ความดีความชั่ว และบาปบุญคุณโทษ พระพุทธศาสนา ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 มีความเจริญรุ่งเรืองมาก นอกจากนั้นพระองค์ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนอื่น โดยส่งพระสงฆ์หลายรูปเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่เมืองพัน เมื่อศึกษาสำเร็จแล้วได้ส่งไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ น่าน อยุธยา เป็นต้น

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

           เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงเป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง พระองค์ทรงได้รับการยกย่องเป็น “มหาราช” เนื่องจากพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อย่างมากแก่ชนชาวไทย นับว่าเป็นการวางรากฐานความมั่นคง ทางการเมือง และทางวัฒนธรรม

พระราชกรณียกิจ

  1. ด้านการเมืองการปกครอง
    ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการรบ เพื่อขยายอาณาเขตของอาณาจักร โดยพระองค์ทรงเสด็จไปนำกองทัพของพระราชบิดา (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) และทรงนำช้างเข้าชนขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด จนกองทัพขุนสามชนพ่ายไป อาณาจักรสุโขทัยได้รับชัยชนะ ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตที่กว้างไกล ตลอดจนเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง มาขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรสุโขทัยอีกหลายเมือง ทรงใช้รูปแบบการปกครองแบบปิตุราชาหรือแบบพ่อปกครองลูก โดยพระองค์ทรงสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนเป็นไปอย่างใกล้ชิดดุจดั่งพ่อปกครองลูก ประชาชนคนใดมีทุกข์ร้อน หรือมีเรื่องเดือดเนื้อ ร้อนใจก็สามารถไปสั่นกระดิ่ง ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดฯให้มีการแขวนไว้ที่หน้าประตูวังแล้วพระองค์ จะเสด็จออกมารับฟังเรื่องราวตัดสินปัญหาและคดีความด้วยความเป็นธรรม ทรงปกครองดูแลบ้านเมืองบริวารอย่างทั่วถึง อาณาจักรสุโขทัยมีรูปแบบการปกครองแบบกระจายอำนาจ โดยพ่อขุน รามคำแหงมหาราชทรงแต่งตั้งให้ชนชั้นเจ้านายและขุนนางไปปกครองยังเมืองลูกหลวง และเมืองพระยามหานคร ทั้งนี้อยู่ภายใต้นโยบายและอำนาจการตัดสินใจของส่วนกลางหรือพระมหากษัตริย์
  2. ด้านเศรษฐกิจ
    • ส่งเสริมการค้าขายแก่ประชาชน
      พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน โดยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถทำการค้าขายได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีสินค้าต้องห้ามและไม่เก็บภาษีผ่านด่าน(จังกอบ) จากพ่อค้าแม่ค้าภายในอาณาจักรสุโขทัย
    • จัดระบบชลประทาน
      อาณาจักรสุโขทัยมีสภาพทางธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก เนื่องจากในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำมาก ไหลบ่ามาจากทางตอนเหนือ ทำให้มีน้ำท่วมขังและในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ประกอบกับสุโขทัยมีสภาพดินเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่อุดมสมบูรณนัก์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดฯให้สร้างเขื่อนดินขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย ได้แก่ “เขื่อนสรีดภงส์” หรือทำนบพระร่วง และภายในตัวเมืองได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง เรียกว่า “ตระพัง” ทำให้อาณาจักรสุโขทัย มีน้ำใช้สอยได้อย่างเพียงพอ
    • ทรงโปรดฯให้สร้างเตาเผาเครื่องสังคโลก
      พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดฯให้สร้างเตาทุเรียง เพื่อใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา(เครื่องสังคโลก)เป็นจำนวนมากในอาณาจักรสุโขทัย เพื่อผลิตใช้ในอาณาจักร และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
  3. ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    • อาณาจักรล้านนา
      อาณาจักรสุโขทัยกับอาณาจักรล้านนา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดมา โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทกับพญามังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา ดังจะเห็นได้จาก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ทรงช่วยพญามังรายเลือกชัยภูมิที่เหมาะสมในการสร้างเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของอาณาจักร ล้านนา
    • แคว้นนครศรีธรรมราช
      ความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราช จะเน้นในเรื่องพระพุทธศาสนา โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไปสั่งสอนลัทธิลังกาวงศ์ ที่อาณาจักรสุโขทัยทุกๆวันธรรมสวนะ
  4. ด้านศิลปวัฒนธรรม
    ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยที่มีชื่อว่า “ลายสือไทย” ขึ้น สันนิษฐานว่าดัดแปลง มาจาก อักษรขอมหวัดและมอญโบราณเมื่อประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯให้จารึกตัวอักษรบนหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 นับเป็นหลักฐานที่สำคัญในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราชที่กลับจากการไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากลังกา มาสอนพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ที่กรุงสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตรไว้กลางดงตาล อยู่ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย ในวันธรรมสวนะโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์แสดงธรรมแก่ประชาชน

ความเสื่อมของอาณาจักรสุโขทัย

           อาณาจักร สุโขทัยมีการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงวาง รากฐานการปกครองแบบปิตุราชา (พ่อปกครองลูก) และในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ได้นำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง เป็นการปกครองแบบธรรมราชา ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีกำลังทหารเข้มแข็ง จนกระทั่งสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจและสูญเสียอำนาจโดยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในที่สุด เนื่องมาจากสาเหตุดังนี้

  1. การแตกแยกทางการเมืองภายในราชธานี เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจ ระหว่างเจ้านายในราชวงศ์ของอาณาจักรสุโขทัย จนถึงมีการรบพุ่งกันเองทำให้เกิดความอ่อนแอทางการเมืองภายในราชธานี เป็นเหตุให้อาณาจักรอยุธยาเข้าแทรกแซงอำนาจได้
  2. สุโขทัยมีการปกครองแบบกระจายอำนาจที่หละหลวม พระมหากษัตริย์ของอาณาจักรสุโขทัย ได้ให้อำนาจกับเจ้าเมืองต่างๆ ในการบริหารและควบคุมกำลังคนภายในเมืองของตนอย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้หัวเมืองเหล่านั้นแยกตัวเป็นอิสระได้โดยง่าย
  3. สุโขทัยมีข้อเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสุโขทัยมีสภาพที่ตั้งลึกเข้าไปในแผ่นดินซึ่งอยู่ห่างจากทะเลมาก ทำให้ไม่มีเมืองท่าเป็นของตนเอง เมื่อมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากับต่างชาติ ต้องอาศัยผ่านเมืองเมาะตะมะ หรือ ผ่านเมืองต่างๆ ตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่ทะเลอ่าวไทย
  4. อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีกำลังทหารและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าสุโขทัย ต่อมาอาณาจักรอยุธยาได้ยกทัพมาตีอาณาจักรสุโขทัยจนได้เป็นประเทศราช และต่อมาอาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ อาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 1981

ผู้จัดทำ

นางสาวอภัสรา มูลมณี

แหล่งข้อมูล

  • http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/utaradit/songsri-s/sukhothai/sec03p01.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/12.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/13.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/15.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/19.html
  • http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/utaradit/songsri-s/sukhothai/sec04p01.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/20.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/24.html
  • http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/24.html