รำวงมาตรฐาน
สร้างโดย : นางสาวจิตราวดี กลิ่นหอมดี
สร้างเมื่อ เสาร์, 18/10/2008 – 13:52
มีผู้อ่าน 175,822 ครั้ง (01/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/17209
รำวงมาตรฐาน
รำวงมาตรฐาน ในปัจจุบันนี้เป็นศิลปะแห่งการรำวงที่งดงาม ซึ่งในสมัยก่อนยังมิได้มีคำว่า “มาตรฐาน” จะเรียกกันเพียงว่า “รำวง” เท่านั้น การรำวงนี้เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสนุกสนาน การเล่นรำวงนั้นสืบเนื่องมาจากการเล่นรำโทน นั้นเพราะในสมัยก่อนเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ประกอบจังหวะก็คือ โทน ฉิ่ง และกรับ โดยจังหวะการฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นเสียงหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกกันว่า “รำโทน” ในด้านของบทร้องจะเป็นบทร้องที่มีภาษาเรียบ ง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด ตามลักษณะของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่ การเกี้ยวพาราสีหยอกล้อของหนุ่มสาว การเชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่น
ในเรื่องของเครื่องแต่งกายในสมัยก่อนก็ไม่เน้นถึงความพิถีพิถันมากนัก เน้นเพียงความสะดวกสบายของชาวบ้านเอง ไม่ได้ประณีตแต่อย่างใด เมื่อประมาณ พ.ศ. 2488 ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุความนิยม เป็นอย่างมากนี้เองจึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม ส่วนเนื้อร้องใดที่นิยมก็จะร้องกันอยู่ได้นาน เพลงใดเนื้อร้องไม่เป็นที่นิยมก็จะไม่นำมาร้องเท่าใดนักและก็จะเป็นที่ลืมเลือนไปในที่สุด จากนั้นก็จะมีเนื้อเพลงใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนที่ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อเจรจาขอตั้งกองทัพในประเทศไทยโดยใช้เส้นทางต่างๆ ในแผ่นดินไทยลำเรียงเสบียงอาหาร อาวุธและกำลังพล เพื่อใช้ในการต่อสู้กับประเทศพันธมิตร ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีจอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะเกรงว่าหากปฏิเสธคงจะถูกปราบปรามแน่ ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบจากการรุกรานของฝ่ายพันธมิตร ที่ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นทางอากาศโดยเฉพาะในยามที่เป็นคืนเดือนหงายจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ข้าศึกมักจะเข้ามาโจมตีอย่างหนักด้วยการทิ้งระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น เมื่อช่วงคืนเดือนหงายผ่านไป คืนเดือนมืดเข้ามา ข้าศึกจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนจึงพักการรุกราน
ประชาชนชาวไทยได้รับความเดือนร้อน ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงได้หาวิธีการผ่อนคลายความตึงเครียด ความหวาดผวา ด้วยการนำศิลปะพื้นบ้านที่ซบเซาไป กลับมาร้องรำทำเพลง นั้นก็คือ “การเล่นรำโทน” คำร้อง ทำนองและการแต่งกาย ก็ยังคงเรียบง่ายเน้นความสะดวกสบาย สนุกสนานเช่นเดิม เพลงที่นิยมได้แก่ เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล่ เป็นต้น ต่อมารัฐบาลได้เล็งเห็นศิลปะพื้นบ้านอันสวยงามของไทยที่มีอยู่อย่างแพร่หลายควรที่จะเชิดชูให้มีระเบียบแบบแผนตามแบบนาฏศิลป์ไทย เพราะหากชาวต่างชาติมาพบเห็นจะตำหนิได้ว่าศิลปะการฟ้อนรำของไทยนี้มิได้มีความสวยงาม ประณีตแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีศิลปะที่แสดงออกว่าเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม จึงได้มอบให้ กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ(รำโทน) ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบแบบแผน มีความงดงามมากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนเครื่องแต่งกาย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้แต่งบทร้องขึ้นมาใหม่ 4 บทคือ “เพลงงามแสงเดือน” “เพลงชาวไทย” “เพลงรำซิมารำ” “เพลงคืนเดือนหงาย” ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้แต่งบทร้องขึ้นมาใหม่อีก 6 บท คือ “เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ” “เพลงดอกไม้ของชาติ” “เพลงหญิงไทยใจงาม” “เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า” “เพลงยอดชายในหาญ” “เพลงบูชานักรบ” ในด้านทำนองนั้นรับผิดชอบโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนท่ารำนั้นนาฏศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร คือ จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) และนางลมุล ยมะคุปต์ ร่วมกันคิดท่ารำขึ้นประกอบการรำโดยนำท่ารำมาจากการรำ “แม่บท” และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกการ “รำโทน” เป็น “รำวง” ตามลักษณะของการเล่น ซึ่งวิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวไทยก็ยังคงให้ความนิยมการเล่น รำวง สืบมาจนถึงปัจจุบัน และชาวต่างชาติก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานเต้นรำต่าง ๆ จนกระทั้งมีนักประพันธ์ผู้หนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ที่ชื่อว่า Foubion Bowers ที่ได้มาพบเห็นศิลปะการรำวงของไทย และนำไปกล่าวไว้ในหนังสือ Theatre in the East ซึ่งมีสำเนียงการเรียก “รำวง” เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเป็น “รำบอง” (Rombong) ( อมรา กล่ำเจริญ , 2531 : 111) แต่อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของกรมศิลปากร ในการปรับปรุงศิลปะการรำวงทั้งหมด 10 เพลง ก็เพื่อเป็นศิลปะการรำวงที่มีระเรียบแบบแผน ทั้งคำร้อง ทำนอง ท่ารำ ตลอดจนการแต่งกายให้เป็นแบบฉบับมาตรฐาน สะดวกในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยและสืบสานต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงเรียก “รำวง” ที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับมาตรฐานว่า “รำวงมาตรฐาน” สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
เพลงรำวงมาตรฐาน มีทั้งหมด 10 เพลงคือ
- เพลงงามแสงเดือน ใช้ท่าสอดสร้อยมาลา
- เพลงชาวไทย ใช้ท่าชักแป้งผัดหน้า
- เพลงรำมาชิมารำ ใช้ท่ารำส่าย
- เพลงคืนเดือนหงาย ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง
- เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ ใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง ท่าผาลาเพียงไหล่
- เพลงดอกไม้ของชาติ ใช้ท่ารำยั่ว
- เพลงหญิงไทยใจงาม ใช้ท่าพรหมสี่หน้า ท่ายูงฟ้อนหาง
- เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า ใช้ท่าช้างประสานงา จันทร์ทรงกลดแปลง
- เพลงยอดชายใจหาญ ใช้ท่าชะนีร่ายไม้ ท่าจ่อเพลิงกาฬ
- เพลงบูชานักรบ ใช้ท่า(หญิง) ขัดจางนาง(ชาย) จันทร์ทรงกล(หญิง) ล่อแก้ว (ชาย) ขอแก้ว
การแต่งกายในรำวงมาตรฐาน
การแต่งกายของชายและหญิงในสมัยก่อนจะแต่งตามความสะดวกสบายของผู้เล่นเท่านั้น ต่อมาเมื่อปรับปรุงเป็นรำวงมาตรฐาน การแต่งกายจึงเน้นให้มีความพิถีพิถันมากขึ้นและนิยมแต่งกายเข้าคู่กัน การแต่งกายที่นิยมเป็นส่วนมากสามารถแยกได้
ลักษณะการแต่งกายรำวงมาตรฐาน มี 3 ลักษณะ คือ
1. การแต่งกายแบบพื้นเมือง
2. การแต่งกายแบบสากลนิยม
3. กายแต่งกายแบบไทยพระราชนิยม (มีหลายแบบ)
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง “รำโทน”หรือ รำวง นั้น แต่เดิมมีเครื่องดนตรีประกอบการรำ คือ โทน ฉิ่ง กรับ ต่อมาเมื่อมีการพัฒนารำโทนขึ้นจนเป็นรำวงมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน จึงได้เพิ่มเครื่องดนตรีประกอบเป็นวงดนตรีไทยหรือใช้ในวงดนตรีสากล บรรเลงประกอบรำวงมาตรฐาน