ศิลปะสมัยศรีวิชัย
ประติมากรรม
ในปัจจุบันนี้ได้มีการค้นพบประติมากรรมที่เนื่องในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่ทั่วทั้งคาบสมุทรไทย ประติมากรรมดังกล่าวสามารถที่จะจำแนกออกได้เป็นห้าประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ ประติมากรรมลอยตัว ประเภทที่สอง ได้แก่ สถูปจำลอง ประเภทที่สาม ได้แก่ พระพิมพ์ ประเภทที่สี่ ได้แก่ จารึกหลักธรรม และประเภทที่ห้า ได้แก่ แม่พิมพ์
ประติมากรรมลอยตัว
ในศิลปะแบบศรีวิชัยของคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยได้มีการค้นพบประติมากรรม แบบลอยตัวของรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน เป็นจำนวนมาก รูปเคารพที่สำคัญเป็นรูปเคารพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายองค์ อาทิ
- พระพุทธเจ้าอักโษภยะ ซึ่งประดิษฐานไว้ที่ซุ้มทางทิศตะวันออกของสถูปวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำด้วยศิลา มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสาถนแห่งชาติ ไชยา พระพุทธเจ้าพระองค์นี้พระนามของพระองค์มีความหมายว่าพระผู้ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเป็นพระธยานิพุทธเจ้า (หมายถึงพระพุทธเจ้าแห่งจักรวาลหรือพระพุทธเจ้าองค์แรก อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์สูงสุดในลัทธิมหายาน นิกายวัชรยาน ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดโลกและพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ) องค์หนึ่งในจำนวนห้าองค์ของนิกายวัชรยาน ทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ทางทิศตะวันออก ประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่เหนืออาสนะรูปสิงห์หรือสิงหาสน์ โดยมีรูปสิงห์สลักอยู่ที่ด้านข้างของฐานข้างละตัว เบื้องหน้าของฐานมีวัชระประดับอยู่
- พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา ลัทธิมหายานองค์นี้ เกิดจากพระพุทธเจ้าในลัทธิมหายานที่ทรงพระนามว่า พระพุทธเจ้าอมิตาภะ จึงมักจะปรากฏภาพของพระพุทธเจ้าองค์นี้ประทับนั่งอยู่เหนือศิราภรณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงได้รับการเคารพนับถือมาก เพราะว่าทรงเป็นผู้คุ้มครองผู้ที่นับถือลัทธิมหายานในยุคปัจจุบัน พระองค์ทรงมีหลายรูปแบบและหลายพระนาม การนับถือพระองค์ได้แพร่ไปยังดินแดนทั้งมวลที่ลัทธิมหายานได้แพร่ไปถึง เมื่อมีสองกรพระหัตถ์ขวามักจะแสดงปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายทรงถือบัวชมพู (ปัทมะ) ถ้ามีสี่กรมักจะทรงถือลูกประคำ หนังสือ ดอกบัว และหม้อน้ำมนต์ ตามลำดับ ชายาของพระองค์ คือ พระนางตารา
ที่มา : http://www.google.co.th/imgres?imgurl=http://www.oknation.net/blog/home/...
- พระโพธิสัตว์เมตไตรยหรือพระโพธิสัตว์ไมเตรญะ พระโพธิสัตว์องค์นี้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญองค์หนึ่งของพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้าหรือพระ อนาคตพุทธเจ้า ในปัจจุบันพระองค์ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต และทรงรอคอยเวลาที่จะเสด็จลงมาจุติในมนุษย์โลก
ในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยได้มีการค้นพบประติมากรรมที่เก่าแก่ที่สุดของ พระโพธิสัตว์องค์นี้ชิ้นหนึ่ง เป็นประติมากรรมที่ทำด้วยสำริด ค้นพบที่บ้านลานควาย อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นประติมากรรมที่ประทับยืนในท่าตริภังค์ มุ่นพระเกศาเป็นรูปชฎามงกุฎ มีรูปสถูปซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระโพธิสัตว์เมตไตรยประดับอยู่ทางด้านหน้า ของชฎามงกุฎ เครื่องตกแต่งมีเพียงศิราภรณ์หรือเครื่องประดับศีรษะที่มีลายดอกไม้ประดับ อยู่ 3 ดอกเท่านั้น ทรงมีสายยัชโญปวีตเป็นผ้าสะพายเฉียงคลุมพระอังสาซ้าย ที่ขอบของผ้านุ่งด้านบนคาดทับไว้ด้วยเชือกที่ทำด้วยผ้า ในชวาภาคกลางได้มีการค้นพบประติมากรรมสำริดของพระโพธิสัตว์เมตไตรยที่คล้าย คลึงกันนี้ที่สุรการ์ตา (Surakarta) ประติมากรรมดังกล่าวนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 14