วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และการเกิดสุริยุปราคา
สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 10/08/2008 – 22:39
มีผู้อ่าน 112,967 ครั้ง (07/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/7773
วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
และการเกิดสุริยุปราคา
วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี
ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งในวงการศึกษา วงการดาราศาสตร์ และวงการวิทยาศาสตร์ของไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และสถลมารค เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ต.หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นปรากฏการณ์ที่พระองค์ ทรงคำนวณทำนายไว้ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปี คือทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2409
ประวัติ
รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและทางสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึง จ.ชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคมเป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ ทั้งในด้านการทหาร การปรับปรุงประเทศ และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์
กิจกรรม
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- ร่วมพิธีวางมาลาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดกิจกรรมส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
อ่านเพิ่มเติม...
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับปรุงสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงรับเอาศิลปวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์
เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์ของมอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเครื่องหมายเรียงเป็นแถว 10 แถว แต่ละแถวมีจำนวนต่างกัน และมีเครื่องหมายแทนดวงดาว 5 ดวง เดินเคลื่อนไหวเหนือแถวเหล่านั้นคล้ายกับเดินตัวหมากรุก ก็จะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เรียกว่า กระดานปักขคณนา ปัจจุบันนี้คณะธรรมยุตยังคงใช้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่จุดประกายให้พระองค์ทรงเริ่มสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์อย่างจริงจัง
ในพระราชฐานของพระองค์ทั้งที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะหอชัชวาลเวียงไชยนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์
นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงคำนวณเหตุการณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปีว่า วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 จะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย ที่ที่จะเห็นเหตุการณ์สุริยุปราคาชัดเจนที่สุดก็คือ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาที่นั่น และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์จึงคิดกันว่า น่าจะถือว่าวันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”
ดังนั้นในวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี ได้มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ในงานนี้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งการแข่งขันโครงการทางวิทยาศาสตร์ และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
- เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
- เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
- เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีชวด วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงมีพระนามเดิม ตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวงค์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร”
ในสมัยทรงพระเยาว์ได้เริ่มเรียนอักขระสมัย ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆจารย์ (ขุน) วัดโมฬีโลกยาราม และได้ทรงศึกษาวิชาความรู้ สำหรับพระราชกุมาร จากผู้เชี่ยวชาญ พระองค์ได้เสด็จออกผนวช เป็นพระภิกษูตามประเพณี เมื่อพระชันษา 21 ปี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนก ก็เสด็จสวรรคต โดยมิได้รับสั่งให้ผู้ใด เป็นรัชทายาท เมื่อพระบรมวงศานุวงค์เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้ประชุมหารือกันแล้ว จึงไปกราบทูลพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ เมื่อทราบว่า พระองค์มีพระราชประสงค์จะอยู่ในสมณเพศต่อไป เจ้านายและข้าราชการชั้นผูใหญ่ จึงถวายพระราชสมบัติแด่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอ เจริญพระชันษากว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกฏ 17 ปี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บรรดาเหล่าเสนาอามาตย์ ข้าราชการบริพาร จึงพร้อมใจกัน กราบบังคมทูลอัญเชิญ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกฏขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 และพระองค์ ได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระอนุชา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 2 (Second King ) ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” รวมเวลาที่ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกฏทรงสมณเพศ 27 พรรษา
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์มีพระชันษาได้ 47 ปี ทรงใส่ใจในการศึกษา และปรับปรุงบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าเหมือนดังนานาอารยประเทศ ทรงให้มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม ในปี พ.ศ. 2394 ให้มีการสร้างป้อมปราการต่างๆ ให้มีการสร้าง ถนนเจริญกรุง ถนนพระรามที่ 4 ถนนสีลม ต่อมาให้มีการสร้างถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร โปรดให้มีการตั้งโรงพิมพ์ มีการออกหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือพระราชกิจจานุเบกษา
พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาว บนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า “หอชัชวาลเวียงชัย” ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้ทรงทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวงคือ
- ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฏมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษา เรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์ทรงมีประกาศฉบับแรกชื่อว่า ” ประกาศดาวหางขึ้น อย่าได้วิตก” แจ้งแก่ประชาชน”
- ดาวหางโดนาติ ( Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อๆมา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2401 ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้ว จะตื่นเต้นไปตามคำลือต่างๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” นับเป็นประกาศ ทางวิทยาศาสตร์ ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า “ดาวหางนี้ ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้ มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมา ได้เห็นในประเทศนี้อีก เพราะเหตุนี้ อย่าให้ราษฎรทั้งปวง ตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่า มิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นก็หามิ ได้ ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล”
- ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet ) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวหาง ที่พระองค์ ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชน ตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผล ตามแบบวิทยาศาสตร์
สุริยุปราคา (Solar Eclipse)
บนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การตกของดวงดาวและอุกกาบาต ไปจนถึงการมาเยือนของดาวหางแต่ละดวงแต่ปรากฏการณ์อันน่ามหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าที่มีดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยที่จู่ๆก็มีเงาดำเคลื่อนเข้าไปทับดวงอาทิตย์ บังแสงสว่างที่สาดส่องลงมาให้หมดไปในชั่วเวลาที่ไม่นาน จนที่สุดเราจะเห็นแต่เงามืดซึ่งมีขอบเป็นแสงสว่างประกายเจิดจ้าเป็นวงกลมลอยอยู่บนท้องฟ้าอันมืดมิด ยามนี้จะเห็นดาวปรากฏขึ้นในท้องฟ้าเพียงบางส่วน นกที่เคยออกหากินในเวลากลางคืนจะตื่นบินออกจากรังด้วยเข้าใจว่าถึงเวลาหากิน ตอนนี้ดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์ได้หายไปจากท้องฟ้าชั่วขณะหนึ่ง
ตรงตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์อยู่นั้น เราจะมองเห็นรูปกลมสีดำสนิทมีรังสีทรงกลดโดยรอบปรากฏอยู่แทนที่ เงาสีดำสนิทนั้นคือดวงจันทร์ และรังสีทรงกลดที่งดงามนั้นคือรังสีขอบนอกของดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก เราเรียกว่า สุริยุปราคา (Solar Eclipse หรือ Eclipses of sun)
สาเหตุการเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาพื้นโลก ทำให้พื้นที่บนโลกบริเวณใต้เงาของดวงจันทร์มืดลง เรียกกันง่ายๆว่า สุริยุปราคา คือการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่มาบังดวงอาทิตย์นั้นเอง จะเกิดเมื่อ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน บนพื้นระนาบ (พื้นราบ) เดียวกัน โดยดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ขณะเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคา
สุริยุปราคามีกี่ประเภท
ลักษณะเงาของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์เป็นวัตถุทึบแสงและมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก เมื่อมันโคจรมาบังแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะทำให้เกิดเงา 2 ลักษณะคือ เงามืด (Umbra) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึงผู้ที่อยู่ใต้เงามืดจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มืดไปทั้งดวงก็จะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง และ เงามัว (Penumbra) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่งออกไปถึงได้บ้าง ผู้ที่อยู่ใต้เงามัวจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ก็จะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากกว่าปกติเงามืดจะทอดไปไม่ถึงโลก คงมีแต่เงามัวเท่านั้น ดวงจันทร์จึงบังดวงอาทิตย์ไม่มิด คนที่อยู่ใต้เงามัวส่วนในจะเห็นดวงอาทิตย์เป็น รูปวงแหวน มีดวงจันทร์อยู่กลาง ก็จะเห็นสุริยุปราคาเป็นรูปวงแหวน ซึ่งเราแบ่งสุริยุปราคาออกตามลักษณะการเกิดได้ 3 ประเภท คือ
1. ถ้าเงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เห็นมืดเป็นบางส่วน จะเรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
2. ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ซึ่งจะเกิดให้เราได้เห็นไม่บ่อยนัก และเกิดให้เห็นในระยะอันสั้น เราเรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) โอกาสที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงให้เห็นได้นานที่สุดเท่าที่มีมา ไม่เคยถึง 8 นาทีเลยสักครั้งเดียว
3. ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เฉพาะตรงกลาง ทำให้เกิดขอบแสงสว่างปรากฏออกโดยรอบดุจมีวงแหวนล้อมรอบ ก็เรียกว่า สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)
ปรากฏการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ในตอนกลางวันของแรม 14-15 ค่ำ และวันขึ้น 1 ค่ำ ปรากฏการณ์ของสุริยุปราคานั้น เห็นได้ในบางส่วนของโลก และสุริยุปราคาเต็มดวงมีระยะการเห็นได้กว้างไม่เกิน 167 ไมล์ ซึ่งเป็นเขตให้เงาดำสนิทเคลื่อนผ่านไป แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่นอกเขตเงาดำสนิท ก็จะเห็นปรากฏการณ์ของสุริยุปราคาด้วยเหมือนกัน หากไม่เห็นเต็มดวง คงเห็นเพียงบางส่วนเท่านั้นและอาณาบริเวณที่เห็นได้บางส่วนนี้มีความกว้างยิ่งกว่าที่เห็นเต็มดวง
โคโรนา (Corona) คืออะไร
ปรากฏการณ์ของสุริยุปราคาเต็มดวงนั้น เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เข้ามาบังดวงอาทิตย์จนมืดมิดทั้งดวง เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบังอยู่เบื้องหลังดวงจันทร์หมดทั้งดวงนั้น เราจะเห็นแสงสว่างเรืองๆ เย็นตาที่กระจายออกมาเป็นชั้นบางๆรอบดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า โคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นบรรยากาศอันเบาบางชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ แสงจากชั้นโคโรนามีความสว่างน้อยมากประมาณ 1 ใน 3 ของแสงดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เกิดจากก๊าซไอออนที่มีบางส่วนสว่างด้วยแสงอาทิตย์และบางส่วนสว่างด้วยแสงที่คายออกเมื่อไอออนรวมกับอิเล็กตรอน แสงโคโรนาจะแผ่ไปได้ไกลถึง 2 ล้านกิโลเมตรจากขอบดวงอาทิตย์ ลักษณะของโคโรนาที่แผ่ออกไปขึ้นอยู่กับจำนวนมากหรือน้อยของจุดบนดวงอาทิตย์ตอนที่มีจุดบนดวงอาทิตย์น้อยที่สุด โคโรนาจะมีรูปร่างโค้งรอบขั้วแม่เหล็กทั้งสอง และมีส่วนขยายยืดยาวไกลออกจากบริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่วนตอนที่มีจุดบนดวงอาทิตย์มากที่สุดโคโรนาจะขยายไปทุกทิศทางเท่ากันรอบดวงอาทิตย์ แสงของโคโรนานี้มองดูได้โดยตาเปล่าโดยไม่เป็นอันตรายแก่ดวงตาตามปรกติเราจะมองไม่เห็นโคโรนาเพราะมันมีแสงสว่างน้อยเมื่อถูกแสงจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่จะแผ่รังสีสว่างกลบเสียหมด ต่อเมื่อดวงจันทร์บดบังผิวดวงอาทิตย์ที่มองเห็นนั้นเสียระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เราจึงจะสามารถเห็นแสงอันขาวเรืองของโคโรนาได้
แสงเรืองรองที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า โคโรนา
ทำไมดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์หลายร้อยเท่า จึงสามารถบังดวงอาทิตย์จนมืดมิดทั้งดวงได้
การที่ดวงจันทร์สามารถบังดวงอาทิตย์ได้หมดดวงทั้งๆที่มีขนาดเล็กกว่าถึง 400 กว่าเท่านั้น ก็เป็นเพราะดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากดวงจันทร์ (โดยวัดจากโลก) เกือบ 400 เท่าด้วยเหมือนกัน ดังนั้นภาพที่ปรากฏบนท้องฟ้าเราจะเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดเกือบเท่ากันในท้องฟ้า
ลำดับเหตุการณ์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง
การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนั้น จะเริ่มต้นด้วยการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนก่อน คือการที่ดวงจันทร์เริ่มต้นโคจรเข้ามาบังดวงอาทิตย์ทีละน้อยๆ ต่อเมื่อดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดดวงจึงจะเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แต่ในบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นไปหรือใต้แนวที่ถูกทำให้มืดลงมา ซึ่งจะเห็นเฉพาะสุริยุปราคาบางส่วนก็จะไม่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวง คงจะเห็นแต่สุริยุปราคาบางส่วนไปตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์เพราะสุริยุปราคาบางส่วนจะมีเฉพาะสัมผัสที่ 1 และ 4 เท่านั้น การสัมผัสของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ในขณะเกิดสุริยุปราคา มี 4 จังหวะด้วยกันคือ
1. สัมผัสที่ 1 (First Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์
2. สัมผัสที่ 2 (Second Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดดวง
3. สัมผัสที่ 3 (Third Contact) เป็นจุดสุดท้ายที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิด
4. สัมผัสที่ 4 (Fourth Contact) เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่ดวงจันทร์จะหลุดพ้นออกจากดวงอาทิตย์
ภาพลำดับการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่สัมผัสที่ 1 ถึง 4 ในปี ค.ศ. 1973
ระยะเวลาในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง
ส่วนระยะเวลาการเกิดว่าจะกินเวลานานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าขณะเกิดปรากฏการณ์นั้น ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้หรือไกลจากโลกเพียงใด ถ้าดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมากขนาดของดวงอาทิตย์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ในขณะที่ขนาดปรากฏของดวงจันทร์ก็โตกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อยการเกิดสุริยุปราคาก็จะกินเวลาสั้น อาจไม่ถึง 2 นาที แต่ถ้าขณะนั้นดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากโลกมาก ขนาดที่ปรากฏจึงเล็กกว่าปกติ ในขณะเดียวกันดวงจันทร์ก็อยู่ใกล้โลก (ใกล้ที่สุดประมาณ 348,000 กิโลเมตร และไกลที่สุดประมาณ 400,000) ขนาดปรากฏของดวงจันทร์จึงใหญ่กว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์มาก ผลก็คือดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์กินเวลามืดมิดนาน นานที่สุดเท่าที่บันทึกไว้ คือการเกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวน เมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี พ.ศ.2534 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่ออสเตรเลียตะวันตก, นิวซีแลนด์และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งกินเวลาถึง 7 นาที 55 วินาที แต่ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้
และการคำนวนของนักดาราศาสตร์ การเกิดสุริยุปราคาที่จะกินเวลานานที่สุดซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต คือในวันที่ 26 มกราคม ปี พ.ศ. 2552 จะเกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวน เห็นได้ชัดที่มหาสมุทรแอตแลนติกใต้, มหาสมุทรอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย จะกินเวลานานถึง 7 นาที 56 วินาที ซึ่งในประเทศไทยมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้บางส่วนเท่านั้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสุริยุปราคา
ก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น จะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดเป็นประกายแวววาวในรูปแบบต่างๆคือ
1. ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads) จะเกิดก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นจะส่องลอดผ่านบริเวณที่ลุ่ม ที่ต่ำ หุบเขา หุบเหวลึกบนพื้นผิวดวงจันทร์อันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ปรากฏเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัดสีสวยสดใสที่เรียงร้อยกันล้อมรอบดวงจันทร์สวยงามมากเราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ ฟรานซิสเบลีย์ (Francis Baily) ซึ่งเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเป็นคนแรก เมื่อเกิดสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2379
ปรากฎการณ์ลูกปัดเบลีย์ อันสวยงาม
2. ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) จะเกิดก่อนดวงอาทิตย์มืดหมดดวง ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏเป็นเสี้ยวเล็กมากๆ บรรยากาศของโลกจะส่งผลให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมาจากเสี้ยวเล็กๆ นั้นมีการกระเพื่อม ซึ่งช่วงนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นริ้วเป็นแถบของการกระเพื่อมของแสงอันเนื่องมาจากบรรยากาศของโลกรบกวน เป็นแถบเงารูปคลื่นสีดำซึ่งจะทอดเป็นริ้วๆทั่วไป เหมือนแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่สะท้อนขึ้นไปบนเรือดูแปลกตามาก จะเห็นได้ชัดเจนหากปูพื้นด้วยผ้าสีขาวกลางแจ้ง ผู้สังเกตพบเป็นคนแรก คือ เอช. โกลด์ชมิดท์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศโลก ไม่ได้เกี่ยวกับดวงจันทร์
3. ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect) จะเกิดขึ้นเมื่อลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลอดผ่านหลุมอุกกาบาตใหญ่บนดวงจันทร์ลงมา ซึ่งจะเกิดก่อนและหลังการบังมืดหมดดวงประมาณ 10 วินาที ปรากฏการณ์เป็นดวงสว่างจ้าอยู่เพียงดวงเดียวบนขอบเสี้ยวของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับไป เป็นรูปคล้ายแหวนเพชรส่องประกายสวยงามมาก
ภาพขณะเกิดปรากฎการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect)
การดูสุริยุปราคาให้ปลอดภัย
ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า การมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสายตาของเรา คืออาจจะทำให้ตาบอดได้ (เว้นแต่เมื่อเกิดสริยุปราคาเต็มดวงในช่วงที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มืดสนิทจริงๆ แล้วเท่านั้นจึงจะมองด้วยตาเปล่าได้)
วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการมองดูดวงอาทิตย์ในขณะเกิดสุริยุปราคาก็คือ การมองผ่านแผ่นกรองแสง ซึ่งใช้กับกล้องดูดาวหรือกล้องส่องทางไกล เมื่อซื้อมาใช้ควรตรวจดูว่ามีรูรั่วให้แสงลอดผ่านบ้างหรือไม่ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม เพราะแม้มันจะลดความเข้มของแสงอาทิตย์ลง คือสามารถมองผ่านดวงอาทิตย์ได้โดยไม่แสบตา แต่มันไม่ได้สกัดกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีอินฟราเรดให้ได้มากนัก จึงถือว่ายังไม่ปลอดภัยต่อสายตา อาจทำให้เราเป็นต้อกระจกได้ในอนาคต แต่ในกรณีที่หาแผ่นกรองแสงไม่ได้จริงๆ จะใช้กระจกรมควัน (เปลวเทียน) ให้ดำสนิทก็ได้ แต่ให้ดูเพียงช่วงสั้นๆ อย่าส่องนานเกินไป หรือจะใช้ฟิล์มถ่ายรูปขาวดำที่โดนแสงแดดแล้วนำไปผ่านกระบวนการล้างในร้านถ่ายรูปจะได้ฟิล์มสีดำ ตัดฟิล์มสีดำนี้ 2 แผ่นประกบกัน แล้วหุ้มด้วยแผ่นกระจกใส จะได้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่ปลอดภัย
การมองผ่านแว่นตาส่องดูดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา (Eclipse Glasses) หรือ แว่นตากันแสงสุริยุปราคา (Eclipse Goggles) ที่มีจำหน่าย ก็ขอให้ทดสอบดูว่า สามารถกรองความเข้มของแสงได้ 99.999% และต้องผ่านการทดสอบแล้วว่าป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีอินฟราเรดได้ 100% จึงจะนับว่าปลอดภัย
แต่วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การดูโดยทางอ้อม คือการดูบนฉาก โดยอาศัยกล้องชนิดต่างๆ เช่น กล้องรูเข็ม กล้อง 2 ตา และกล้องโทรทรรศน์ เป็นต้น
– กล้องรูเข็ม มีวิธีทำแบบง่ายๆ โดยใช้ท่อกระดาษแข็งหรือท่อพีวีซี. มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 7 เซนติเมตรขึ้นไป ยาวประมาณ 1 เมตร ใช้แผ่นไม้อัดบางๆ หรือกระดาษแข็งปิดปลายทั้งสองข้าง ด้านหนึ่งเจาะรูเท่าเข็มตรงจุดศูนย์กลางอีกด้านหนึ่งใช้เลื่อยเฉือนปลายท่อให้เป็นรูเฉียงออก แล้วใช้กระดาษสีขาวปิดทับด้านในของแผ่นปิดปากท่อ จะกลายเป็นฉากรองรับภาพดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาได้ โดยหันด้านรูเข็มไปทางดวงอาทิตย์ โดยยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์ปรับท่อจนกระทั่งภาพดวงอาทิตย์หรือสุริยุปราคาปรากฏบนฉาก
ส่วนการดูอีกแบบหนึ่งที่เรียกกันว่าดูด้วย กล้องรูเข็มธรรมชาติ คือการดูภาพใต้ต้นไม้ที่มีใบดกหนาเป็นตัวปิดกั้นแสง ให้แสงลอดจากใบไม้เหล่านั้นลงมาสู่พื้นดิน จะเห็นตะวันเสี้ยวเต็มไปหมด หรือจะเอากระดาษไปวางรองเป็นฉากก็ได้
แว่นตากันแสงสุริยุปราคา (Eclipse Gogggles)
– กล้องโทรทรรศน์ (Telescope) การใช้กล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องดูดาวส่องดูพระอาทิตย์ ต้องไม่ส่องดวงอาทิตย์โดยตรงจากกล้องโทรทรรศน์ เพราะกล้องจะขยายแสงแรงมาก ต้องดูภาพบนฉากหรือใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) ที่เขาสร้างหรือทำไว้โดยเฉพาะเท่านั้นเอามา สวมครอบหน้าเลนส์ไว้ และควรเน้นให้ใช้แบบครอบปิดหน้ากล้อง ไม่ควรใช้แบบปิดครอบเลนส์ตาเพราะอยู่ใกล้ตามากอาจแตกได้เมื่อโดนความร้อนจากดวงอาทิตย์แรงๆ ซึ่งถ้าเกิดแตก แสงอาจจะพุ่งเข้าตาเราอาจทำให้ตาบอดได้ และการติดแผ่นกรองแสงครอบเลนส์หน้ากล้องก็ต้องติดตั้งให้มั่นคงไม่ให้หลุดร่วงง่าย
– กล้องสองตา (Binoculars) กล้องสองตาเป็นกล้องที่มีกำลังขยายต่ำ แต่ให้ภาพหัวตั้งเหมือนของจริงเหมาะสำหรับใช้ส่องดูนก ดูกีฬา และก็ใช้ดูดาวได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะดาวที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า การใช้กล้องสองตาส่องดูพระอาทิตย์ หรือสุริยุปราคา ต้องมีความระมัดระวังมากเพราะดูตรงๆ อาจทำให้ตาเสียได้จะต้องเอาภาพดวงอาทิตย์ให้ผ่านเลนส์ใกล้ตามาปรากฏบนฉากเสียก่อน
– การบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป เราสามารถบันทึกภาพสุริยุปราคาได้ด้วยกล้องถ่ายรูป หรือภาพสุริยุปราคาได้ด้วยกล้องถ่ายรูป หรือกล้องถ่ายวิดีโอได้โดยไม่ยุ่งยากอะไรมากนัก กล้องถ่ายรูปที่ใช้ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ควรเป็นชนิดสะท้อนแสงแบบเลนส์เดี่ยว (slingle Lens Reflex) ไม่ควรใช้กล้องสะดวกใช้หรือที่เรียกกันว่ากล้องปัญญาอ่อน (Compact) เพราะต้องสวมแผ่นกรองแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า โซลาร์ฟิลเตอร์ (Solar Fliter) ครอบหน้าเลนส์เพื่อลดความเข้มของแสงจากดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังช่วยป้องกันสายตาไว้มิให้เป็นอันตรายจากแสงอันแรงกล้าของดวงอาทิตย์ และควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้เกิดความมั่นคงไม่เอียงไปมา
ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะสุริยุปราคาเต็มดวงเพราะคนในสมัยนั้น ยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดสุริยุปราคาที่แท้จริง การได้เห็นท้องฟ้ามืดมิดไปชั่วขณะทั้งๆ ที่เมื่อครู่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ ต่างก็เกิดความเกรงกลัวคิดว่าเป็นการลงโทษจากพระเจ้าหรือเทพยดาเบื้องบน การปฏิบัติที่แสดงความเคารพบูชาของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้น โยมีแนวความคิดและการปฏิบัติแตกต่างกันไปตังอย่างเช่น
คนจีนในสมัยโบราณคิดว่า สุริยุปราคา หรือจันทรุปราคาเกิดจากมังกรไล่เขมือบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ จึงต้องจุดประทัดและตีกลองไล่เพื่อให้มังกรคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมา
ส่วนคนไทยในสมัยโบราณ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเกิด “คราส” หรือ “สุริยคราส” (คราส แปลว่า กิน) ก็มีความเชื่อที่เกิดจากเทพองค์หนึ่งชื่อ “ราหู” เกิดความโกรธที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ฟ้องร้องพระอิศวรว่า พระราหูกระทำผิดกฎของสวรรค์ คือแอบไปดื่มน้ำอมฤตที่ทำให้ชีวิตเป็นอมตะ พระอิศวรจึงลงโทษโดยตัดลำตัวราหูออกเป็น 2 ท่อน พระราหูจึงทำการแก้แค้นโดยการไล่ “อม” พระอาทิตย์และพระจันทร์ ดังนั้นเมื่อเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาครั้งใดผู้คนก็จะช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ตีปี๊บ หรือส่งเสียงดังๆ เพื่อขับไล่พระราหูให้ปล่อยดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เสีย นอกจากนี้คนไทยในสมัยโบราณยังเชื่ออีกว่า สุริยุปราคานำความโชคไม่ดีหรือลางร้ายมาสู่โลกเช่นเดียวกับการมาของดาวหาง
ความเชื่อแบบนี้ดำเนินมาเป็นเวลานานนับร้อยๆ ปีจนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าและศึกษาถึงการเกิดปรากฏการณ์นี้ และได้อธิบายให้เห็นว่าสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามปรกติ และมนุษย์สามารถคำนวนได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเมื่อใด ที่ไหน และกินเวลานานเพียงใด
ประโยชน์และคุณค่าของการเกิดสุริยุปราคา
นอกจากการเกิดสุริยุปราคาจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นเต้นแล้ว สุริยุปราคายังมีคุณค่าทางดาราศาสตร์และการศึกษาหาข้อมูลทางด้านฟิสิกส์และเคมีของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานใหญ่และเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาลเป็นอย่างมาก พอจะรวบรวมประโยชน์และคุณค่าได้ดังนี้คือ
1. สามารถตรวจสอบสภาพกาลอากาศได้ว่าสุริยุปราคาโดยเฉพาะสุริยุปราคาเต็มดวงมีผลทางอุตุนิยมวิทยา ใช้ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบรรยากาศของโลกระดับต่างๆ ตั้งแต่ชั้นไอโอโนสเฟียร์ลงมา
2. สามารถศึกษาสมบัติบางประการในการกระจายแสงของบรรยากาศของโลก
3. สามารถศึกษารูปร่างและการแผ่ขยายรูปร่างโคโรนา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กหรือการเกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์ เพราะเราจะเห็นโคโรนาได้ชัดเจนต่อเมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น เพราะมันมีแสงอ่อนมาก จนในช่วงเวลาปกติจะไม่มีทางมองเห็นโคโรนาได้ชัด
4. สามารถตรวจสอบเส้นรุ้ง (Latitude) และเส้นแวง (Longitude) ให้ถูกต้องแท้จริง
5. สามารถวิเคราะห์ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้จากการศึกษาสเปกตรัมของดวงอาทิตย์ในขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งในอดีตนักดาราศาสตร์ชาวนักกฤษได้ค้นพบธาตุฮีเลียมในดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา เมื่อปี พ.ศ. 2411
6. ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์สนใจใคร่รู้ในเรื่องของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกได้ อาทิเช่น การเกิดสุริยุปราคาในปี พ.ศ. 2103 ทำให้เด็กหนุ่มชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง เกิดความสนใจดาราศาสตร์อย่างจริงจัง เขาเริ่มบันทึกผลการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์โดยดารตรวจสอบตำแหน่งปรากฏการณ์ของดาวเคราะห์บนท้องฟ้า จนเกิดการสร้างเครื่องมือวัดมุม (Quadrant) ซึ่งใช้วัดมุมได้ละเอียดถึงลิปดาเลยทีเดียวหนุ่มผู้นั้นได้กลายมาเป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยกลาง คือ ไทโค บราฮี (Tycho Brahe) และแรงบันดาลใจการเกิดสุริยุปราคานี้เอง ยังทำให้เกิดการสร้างหอดูดาวที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นอีกด้วย
7. สามารถตรวจสอบการเบนของแสงสว่างในสนามแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวัดตำแหน่งและการกำหนดตำแหน่งของดาวฤกษ์
8. เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เราสามารถเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างบางดวงได้ เช่น ดาวในกลุ่มแมงป่อง กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นต้น
ผลกระทบของการเกิดสุริยุปราคาที่มีต่อโลก
เนื่องจากการเกิดสุริยุปราคากินเวลาไม่นาน จึงไม่เกิดผลกระทบกับสรรพสิ่งบนโลกมากนัก ยกเว้นบางสิ่งที่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น ต้นไม้บางชนิดเกิดหุบใบขณะที่แสงอาทิตย์ลับหายไปอย่างกะทันหัน หรือการสังเคราะห์อาหารของพืชใบเขียวที่ต้องอาศัยแสงแดดจากดวงอาทิตย์ก็ต้องยุติลง
ส่วนผลกระทบที่มีต่อตัวเรานั้น นอกจากจะก่อให้เกิดความตื่นเต้นแล้ว ปรากฏการณ์นี้จะทำให้ตัวเรามีความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้นรู้จักวิเคราะวิจารณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งในเรื่องของอิทธิพลและความเป็นไปของโลก
การเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทย
ในประเทศไทย การเกิดสุริยุปราคามีขึ้นไม่บ่อยนักแต่เชื่อกันว่ามีสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นและเห็นได้ในประเทศไทยหลายครั้งด้วยกัน เท่าที่มีการบันทึกไว้พออ้างอิงได้ คือ
ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเสด็จทอดพระเนตร การเกิดสุริยุปราคา
เมื่อปี พ.ศ. 2231 ณ พระตำหนักเย็น
– สุริยุปราคาที่เกิดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งพระองค์เสด็จทอดพระเนตรร่วมกับบาทหลวงเยซูอิต ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์และได้นำความรู้ทางดาราศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในสมัยนั้น ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ซึ่งเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงโดยเสด็จทอดพระเนตรที่เมืองละโว้ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ซึ่งเป็นสุริยุปราคาบางส่วน สันนิษฐานว่าทรงเสด็จทอดพระเนตร ณ พระตำหนักเย็น ทะเลชุบศรทั้ง 2 ครั้งโดยทอดพระเนตรภาพดวงอาทิตย์บนฉากที่รับภาพจากกล้องโทรทรรศน์ที่บาทหลวงตั้งถวายให้ทอดพระเนตร
หลังจากนั้นประเทศไทยก็ว่างจากข่าวคราวการเกิดสุริยุปราคา จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถทางด้านดาราศาสตร์ โดยทรงศึกษาวิชาการด้านนี้ด้วยพระองค์เองจากตำราโหราศาสตร์ไทยและตำราโหราศาสตร์สากล ที่ทรงสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทรงวัดเส้นรุ้งเส้นแวงด้วยพระองค์เองทรงคำนวณว่าจะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง ที่บ้านคลองลึกตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่นยำ ทั้งๆที่ทรงคำนวนไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี โดยทรงใช้กล้องโทรทรรศน์ส่วนพระองค์ในการทอดพระเนตร ทำให้พระองค์ทรงได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ และทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย” และในวันนี้คือวันที่ 18 สิงหาคม ก็ได้รับการกำหนดให้เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ของทุกปี การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ จึงนับว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเหตุการณ์หนึ่งทีเดียว
ภาพถ่ายขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ เมื่อปี พ.ศ. 2411
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ขณะเสด็จทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ
กล้องโทรทรรศน์ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
ทรงใช้ทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ เมื่อพ.ศ. 2411
เป็นกล้องที่นับว่าทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น
การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นครั้งต่อมาคือในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2418 กินเวลามืดนาน 4 นาที 42 วินาที เห็นได้ชัดที่แหลมเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง กินเวลามืดนาน 6 นาที เห็นได้ชัดที่อำเภอโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
และในสมัยรัชกาลปัจจุบันเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง 2 ครั้งด้วยกัน คือ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 เห็นได้ชัดที่อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีกหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย กินเวลามืดนาน 6 นาทีและครั้งที่ 2 ซึ่งกินเวลาห่างกันถึง 40 ปี คือ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งเห็นได้ชัดในหลายจังหวัดของประเทศไทย นานเกือบ 2 นาที โดยจังหวัดที่เห็นได้ชัดเจนและมากอำเภอที่สุด คือจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งต่อไปที่ประเทศไทยจะมีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้อีก คือ ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2613 หรืออีก 75 ปีข้างหน้า โดยเงามืดจะเคลื่อนผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
โลกเราจะเห็นสุริยุปราคาอีกครั้งเมื่อใด
มนุษย์ได้เห็นสุริยุปราคาดังนี้
-วันที่ 11 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2542 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง กินเวลานาน 2 นาที 23 วินาที ซึ่งสามารถเห็นได้ทั้งในทวีปยุโรป, ทางตะวันออกกลาง และประเทศอินเดีย แต่ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น
– วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2544 จะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง ในทวีปแอตแลนติก, ทวีปอัฟริกา และทางเกาะมาดาคัสการ์ (ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น)
– วันที่ 14 ธันวาคม 2544 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน ที่มหาสมุทรแปซิฟิก และแถบอเมริกากลาง (ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น)
– วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2545 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน ที่ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือ (ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น)
– วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2545 จะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งจะเห็นได้ในทวีปอัฟริกาใต้ และในทวีปออสเตเลีย (ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น) จากการคำนวณเฉพาะปีที่จะเกิดในประเทศไทย และคนไทยมีโอกาสได้เห็นเป็นบางส่วน ก็คือ
– วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 จะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง เห็นได้ชัดเจนในรัฐอลาสกา, กรีนแลนด์, รัสเชีย และจีน กินเวลานาน 2 นาที 27 วินาที
– วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน เห็นได้ชัดที่แถบมหาสมุทรแอตแลนติค, มหาสมุทรอินเดีย กินเวลานาน 7 นาที 56 วินาที
– วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 จะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง เห็นได้ชัดเจนที่ประเทศอินเดีย, ปากีสถาน, พม่า, จีน และแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ กินเวลา 6 นาที 39 วินาที ดูรายรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.thaigoodview.com/node/29224
– วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน เห็นได้ชัดที่ทวีปอัฟริกากลาง, มหาสมุทรอินเดีย, ประเทศพม่าและจีน กินเวลานาน 11 นาที 10 วินาที
– วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 จะเกิด สุริยุปราคาเต็มดวง เห็นชัดที่มหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิกเหนือ กินเวลานาน 4 นาที 09 วินาที
– วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน เห็นได้ชัดที่ประเทศอินเดีย, มหาสมุทรอินเดียและแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือ กินเวลานาน 3 นาที 40 วินาที
– วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน เห็นชัดที่ทวีปอัฟริกากลาง, อินเดีย, จีน และแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ กินเวลานาน 1 นาที 22 วินาที
– วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565 จะเกิด สุริยุปราคาวงแหวน เห็นชัดที่มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ กินเวลานาน 1 นาที 16 วินาที
ส่วนปีที่จะเกิดสุริยุปราคา และเห็นได้ชัดในประเทศไทยจากการคำนวณ คือใน วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2585 คือในอีก 42 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นสุริยุปราคาวงแหวนที่เกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย, ในประเทศไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยจะเห็นได้ชัดเจนทางภาคใต้ของประเทศส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย จะได้เห็นในอีก 75 ปีข้างหน้า คือในวันที่ 11 เมษายน ปี พ.ศ. 2613
นักดาราศาสตร์สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเมื่อใด ก็เพราะนักดาราศาสตร์จะคอยติดตามการเคลื่อนที่ของโลกและดวงจันทร์อยู่เสมอ ว่าโลกและดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอย่างไร และสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์อย่างไรบ้าง
การคำนวณการเกิดสุริยุปราคาใน รัชกาลที่ 4
ย่อ