วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และการเกิดสุริยุปราคา

ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสุริยุปราคา
ก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น จะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดเป็นประกายแวววาวในรูปแบบต่างๆคือ
1. ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily's Beads) จะเกิดก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นจะส่องลอดผ่านบริเวณที่ลุ่ม ที่ต่ำ หุบเขา หุบเหวลึกบนพื้นผิวดวงจันทร์อันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ปรากฏเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัดสีสวยสดใสที่เรียงร้อยกันล้อมรอบดวงจันทร์สวยงามมากเราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ ฟรานซิสเบลีย์ (Francis Baily) ซึ่งเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเป็นคนแรก เมื่อเกิดสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2379
ปรากฎการณ์ลูกปัดเบลีย์ อันสวยงาม
2. ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) จะเกิดก่อนดวงอาทิตย์มืดหมดดวง ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏเป็นเสี้ยวเล็กมากๆ บรรยากาศของโลกจะส่งผลให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมาจากเสี้ยวเล็กๆ นั้นมีการกระเพื่อม ซึ่งช่วงนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นริ้วเป็นแถบของการกระเพื่อมของแสงอันเนื่องมาจากบรรยากาศของโลกรบกวน เป็นแถบเงารูปคลื่นสีดำซึ่งจะทอดเป็นริ้วๆทั่วไป เหมือนแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่สะท้อนขึ้นไปบนเรือดูแปลกตามาก จะเห็นได้ชัดเจนหากปูพื้นด้วยผ้าสีขาวกลางแจ้ง ผู้สังเกตพบเป็นคนแรก คือ เอช. โกลด์ชมิดท์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศโลก ไม่ได้เกี่ยวกับดวงจันทร์
3. ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect) จะเกิดขึ้นเมื่อลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลอดผ่านหลุมอุกกาบาตใหญ่บนดวงจันทร์ลงมา ซึ่งจะเกิดก่อนและหลังการบังมืดหมดดวงประมาณ 10 วินาที ปรากฏการณ์เป็นดวงสว่างจ้าอยู่เพียงดวงเดียวบนขอบเสี้ยวของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับไป เป็นรูปคล้ายแหวนเพชรส่องประกายสวยงามมาก
ภาพขณะเกิดปรากฎการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect)