วันพ่อขุนรามคำแหง

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 12/10/2008 – 10:45
มีผู้อ่าน 13,475 ครั้ง (29/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16931

วันพ่อขุนรามคำแหง
ตรงกับวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี

     เดือนธันวาคม ปีพระพุทธศักราช 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” 
     ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดว่าควรที่จะเป็น วันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งวันนั้นตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2376   ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีพระพุทธศักราช 2532  ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ  คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว 
     ดังนั้นวันที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2533 จึงเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” วันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก  นับแต่นั้นมาจังหวัดสุโขทัย และทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดให้มี งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย  

กิจกรรมหลักประกอบด้วย

     พิธีสักการะ บวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขบวนแห่ และพิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ  โดยสถานที่จัดงานของจังหวัดสุโขทัย คือ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ส่วนสถานที่จัดงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ  ณ บริเวณลานพ่อขุน และหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

พระราชประวัติ

     พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3   แห่งราชวงศ์พระร่วงสมัยกรุงสุโขทัย เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และนางเสือง  มีพระเชษฐา 2 พระองค์ องค์ใหญ่สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ องค์กลางทรงพระนามว่า” บานเมือง “และมีพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมีพระชนม์ได้ 19 พรรษา ได้เสด็จไปในกองทัพกับพระะชนกและได้ทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ชัยชนะ พระชนกจึงพระราชทานพระนามว่า “พระรามคำแหง ” เมื่อพระชนกสวรรคต พ่อขุนบานเมืองผู้เป็นพระเชษฐาได้ขึ้นครองราชย์และแต่งตั้งให้พ่อขุนรามคำแหงไปครองเมืองเชลียง และเมื่อพ่อขุนบานเมืองสวรรคต พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัย เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง
     พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และนักอักษรศาสตร์ พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงแต่งตั้งราชทูตไปสานสัมพันธไมตรีกับจีน และได้นำช่างปั้นจากจีนมาปั้นเครื่องชามสังคโลกในกรุงสุโขทัย  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ได้เป็นไมตรีกับเมืองลังกาและได้พระพุทธสิหิงค์จากเมืองลังกาโดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกทอดหนึ่งในรัชสมัยนี้

https://www.finearts.go.th/uploads/uploads/tinymce/source/70/ศิลาจารึกหลักที่%20๑/2.jpg

พระราชกรณียกิจ
  การทหาร
     ความเป็นนักรบของพระองค์นั้น เห็นได้ตั้งแต่ยังมิได้ครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับชนะในการกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดา และทรงเป็นจอมทัพในการทำสงครามขยายอาณาเขตตลอดรัชสมัยของพระบิดา และพ่อขุนบานเมือง
  การเมือง
     พระองค์ทรงมีพระเมตตาเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาชน โดยการสนับสนุนการประกอบอาชีพอย่างเสรี ทรงยกเลิกจังกอบ ซึ่งเป็นภาษีที่คิดตามความกว้างของเรือ ให้กรรมสิทธิที่ดินทำกิน ตลอดจนเสรีภาพให้แก่ราษฎร
  การทูต
     พระองค์มีนโยบายกระชับมิตรกับดินแดนต่างๆทั้งที่ใกล้เคียง และแม้แต่ดินแดนอันห่างไกลที่มีอำนาจ เช่น ล้านนา พะเยา ศิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช) ตลอดจนถึงจีน นอกจากนี้ยังปรากฏทรงให้ความช่วยเหลือสนับสนุนรัฐที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย เช่น มอญ และล้านช้างเป็นต้น
  การศาสนาและปรัชญา
     พระองค์นั้นทรงเห็นความสำคัญของพระศาสนา พระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังปรากฏว่า พระองค์ทรงนิมนต์พระเถระจากเมืองศิริธรรมนคร มาสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในสุโขทัย ทรงจัดสร้างพระอารามทั้งในและนอกราชธานี รวมทั้งทรงสนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมและการสร้างศาสนวัตถุอีกด้วย นอกจากพระราชกรณียกิจทางด้านพระศาสนาแล้วยังมีความสำคัญเช่นกันคือ ทรงส่งเสริมความเจริญทางภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ การประดิษฐ์อักษรไทย หรือ ลายสือไทย เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการประดิษฐ์ลายสือไทย จนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย และเนื่องจากพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ปวงชนชาวไทย จึงยกย่องให้พระองค์ทรงเป็น “มหาราช” พระองค์แรกแห่งประวัติศาสตร์ไทย

แหล่งข้อมูล :

  • ru.ac.th