ระบบต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์
สร้างโดย : นางสาวมยุรา ฉลูทอง
สร้างเมื่อ ศุกร์, 23/10/2009 – 17:36
จากองค์ประกอบพื้นฐานของร่างกาย ที่เริ่มจาก เซลล์ (Cell) โดยเซลล์หลาย ๆ เซลล์รวมกลุ่มเป็นเนื้อเยื้อ (Tissue) เนื้อเยื้อหลาย ๆ ประเภทจะรวมกลุ่มเป็นอวัยวะ (Organ) และอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะจะทำหน้าที่ประสานกันเป็นระบบอวัยวะ (Organ system) โดยระบบทุกระบบจะทำงานประสานกันเพื่อให้ร่างกาย (Body) อยู่ได้
ระบบอวัยวะในร่างกายคนเรา สามารถแบ่งตามหน้าที่ได้หลายระบบ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบผิวหนัง ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ระบบหายใจ ระบบโครงกระดูก ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบน้ำเหลือง ระบบขับถ่าย โดยในการทำงาน ถ้าระบบใดระบบหนึ่งผิดปรกติ ร่างกายก็จะแสดงความผิดปรกติออกมา เช่น มีอาการ หรือเป็นโรค
ขอนำเสนอระบบดังต่อไปนี้
- ระบบย่อยอาหาร (Digestive System)
- ระบบหมุนเวียนโลหิต (Circulatory System)
- ระบบหายใจ (Respiratory System)
- ระบบประสาท (Nervous System)
- ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System)
- ระบบโครงกระดูก (Skeletal System)
- ระบบขับถ่าย (Excretory system)
- ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system)
1. ระบบย่อยอาหาร (Digestive System)
อวัยวะระบบย่อยอาหารประกอบด้วย
- ฟัน (Teeth)
- ลิ้น (Tongue)
- ต่อมน้ำลาย (Salivary Grand)
- หลอดอาหาร (Esophagus)
- กระเพาะอาหาร (Stomach)
- ตับอ่อน (Pancreas)
- ตับ (Liver)
- ถุงน้ำดี (Gallbladder)
- ลำไส้เล็ก (Small intestine) ลำไส้เล็ก มี 3 ส่วน คือ
- ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum)
- ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum)
- ลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum)
- ลำไส้ใหญ่ (Large intestine) ลำไส้ใหญ่ มี 5 ส่วน คือ
- ลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้น(Ascending Colon)
- ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (Transverse Colon)
- ลำไส้ใหญ่ส่วนลง (Descending Colon)
- ลำไส้ใหญ่ส่วนโค้ง(Sigmoid Colon)
- ไส้ติ่ง (Vermiform Appendix)
- ไส้ตรง (Rectum)
- ทวารหนัก (Anus)
กระบวนการในการย่อยอาหาร
1. การย่อยเชิงกล เป็นการเปลี่ยนแปลงอาหารให้มีขนาดอนุภาคเล็กลง โดยการบดเคี้ยวของฟัน
2. การย่อยเชิงเคมี เป้นการเปลี่ยนแปลงอาหารให้มีขนาดอนุภาคเล็กลง โดยอาศัยเอนไซม์หรือน้ำย่อย
เอนไซม์
เอนไซม์เป็นสารประกอบประเภทโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่เร่งอัตราการเกิดปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกาย เอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยสารอาหารเรียกว่า “น้ำย่อย” เอนไซม์มีสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
– เป็นสารประเภทโปรตีนที่สร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิต
– ช่วยเร่งปฏิกิริยาในการย่อยอาหารให้เกิดเร็วขึ้นและเมื่อเร่งปฏิกิริยาแล้วยังคงมีสภาพเดิมสามารถใช้เร่งปฏิกิริยาโมเลกุลอื่นได้อีก
– มีความจำเพาะต่อสารที่เกิดปฏิกิริยาชนิดหนึ่ง ๆ
– เอนไซม์จะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์
1. อุณหภูมิ เอนไซม์แต่ละชนิดทำงานได้ดีที่อุณหภูมิต่างกัน แต่เอนไซม์ในร่างกายทำงานได้ดีที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส
2. ความเป็นกรด-เบส เอนไซม์บางชนิดทำงานได้ดีเมื่อมีสภาพที่เป็นกรด เช่น เอนไซม์เพปซินในกระเพาะอาหาร เอนไซม์บางอย่างทำงานได้ดีในสภาพที่เป็นเบส เช่น เอนไซม์ในลำไส้เล็ก เป็นต้น
3. ความเข้มข้น เอนไซมืที่มีความเข้มข้นมากจะทำงานได้ดีกว่าเอนไซม์ที่มีความเข้มข้นน้อย
การทำงานของเอนไซม์
1. เอนไซม์ในน้ำลาย ทำงานได้ดีในสภาวะเป็นเบสเล็กน้อย เป็นกลาง หรือเป็นกรดเล็กน้อยจะขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลและที่อุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 37 องศาเซลเซียส
2. เอนไซม์ในกระเพาะอาหาร ทำงานได้ดีในสภาวะเป็นกรด และที่อุณหภูมิปกติของร่างกาย
3. เอนไซม์ในลำไส้เล็ก ทำงานได้ดีในสภาวะเป็นเบส และอุณหภูมิปกติของร่างกาย สารอาหารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่จะถูกย่อยให้เป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สุด ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต ————–> กลูโคส
โปรตีน ————–> กรดอะมิโน
ไขมัน ————–> กรดไขมัน + กลีเซอรอล
การทำงานของระบบย่อยอาหาร
ปาก | เมื่ออาหารเข้าปากฟันจะทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้มีขนาดเล็กลง โดยมีลิ้นช่วยในการคลุกเคล้าอาหารให้ผสมกับน้ำลายที่ผลิตจากต่อมน้ำลายใต้หู ใต้ลิ้น และใต้ขากรรไกร ทำให้อาหารลื่น อ่อนนุ่ม ในน้ำลายจะมีเอนไซม์ชื่อ ไทยาลิน(Ptyalin) ซึ่งเป็นอะไมเลสชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล เราจึงรู้สึกหวานเมื่อเราอมข้าว |
หลอดอาหาร | เป็นกล้ามเนื้อเรียบทำหน้าที่บีบรัดอาหารให้เคลื่อนที่ลงสู่กระเพาะอาหาร |
กระเพาะอาหาร | จะสร้างเอนไซม์เพปซินและกรดไฮโดรคลอริออกมา เพื่อช่วยในการย่อยอาหารประเภทโปรตีนให้มีขนาดเล็กลง และส่งไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก ส่วนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และไขมันจะไม่มีการย่อยในกระเพาะอาหาร |
ลำไส้เล็ก | จะมีการย่อยสารอาหารทั้งประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตซึ่งจะมีเอนไซม์ที่ผลิตจากหลายแหล่งเพื่อช่วยในการย่อย ได้แก่ 1. ผนังลำไส้เล็ก สร้างเอนไซม์มอลเทส ย่อยน้ำตาลมอลโทสเป็นน้ำตาลกลูโคส เอนไซม์ซูเครส ย่อยน้ำตาลซูโครสเป็นน้ำตาลกลูโคสกับน้ำตาลฟรักโทส เอนไซม์แลกเทส ย่อยน้ำตาลแลกโทสเป็นน้ำตาลกลูโคสกับน้ำตาลกาแลกโทส 2. ตับอ่อน สร้างเอนไซม์ไลเพสย่อยไขมันเป็นกรดไขมันกับกลีเซอรอล เอนไซม์อะไมเลส ย่อยแป้งเป็นน้ำตาลมอลโทส เอนไซม์ทริปซินย่อยโปรตีนหรือเพปไทด์เป็นกรดอะมิโน 3. ตับ สร้างน้ำดี ไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ น้ำดีไม่ใช่เอนไซม์จึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการย่อยแต่น้ำดีจะช่วยทำให้ไขมันแตกตัวออกมาเป็นเม็ดเล็กๆเพื่อให้เอนไซม์ไลเพสย่อยไขมันได้ง่ายขึ้น บริเวณลำไส้เล็กจึงเป็นบริเวณที่มีการย่อยสารอาหารทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเตรต อย่างสมบูรณ์และสามารถดูดซึมผ่านหนังลำไส้เล็กเข้าสู่หลอดเลือด และถูกส่งไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ส่วนกากอาหารจะเคลื่อนต่อไปยังลำไส้ใหญ่ |
ลำไส้ใหญ่ | จะไม่มีการย่อยอาหารแต่จะมีการดูดซึมน้ำ แร่ธาตุ วิตามินบางชนิดและกลูโคสออกจากกากอาหารกลับเข้าสู่กระแสเลือดทำให้กากอาหารเหนียวข้นและเป็นก้อน จากนั้นจะเคลื่อนไปรวมกันที่ลำไส้ตรง และขับออกทางทวารหนักเป็นอุจจาระ |
2. ระบบหมุนเวียนโลหิต (Circulatory System)
ระบบไหลเวียนโลหิต ประกอบด้วย 1. หัวใจ (Heart) 2. หลอดเลือดแดง (Artery) 3. หลอดเลือดดำ (Vein) 4. หลอดเลือดแดงฝอย (Arteriole) 5. หลอดเลือดดำฝอย (Venule) มีอวัยวะที่เกี่ยวข้อง คือ 1. ปอด (Lung) และ 2. ไต (Kidney) |
จัดทำโดยอาจารย์วิสูตร รอดสมบูรณ์
จำหน่ายโดยบริษัทไอ.ที.เอ็ดดูเคชั้น(ประเทศไทย).ขอนแก่น
การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต
หัวใจของคนเรามีลักษณะเป็นโพรง มี 4 ห้อง โดยแบ่งเป็นห้องบน 2 ห้องเรียก เอเตรียม(Atrium) และห้องล่าง 2 ห้อง เรียกว่า เวนตริเคิล (Ventricle) หัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายมีลิ้นไบคัสพิดคั่นฺ(Bicuspid)อยู่ ส่วนห้องบนขวาและล่างขวามีลิ้นไตรคัสพิด(Tricuspid)คั่นอยู่ ซึ่งลิ้นทั้งสองทำหน้าที่คอยปิด-เปิด เพื่อไม่ให้เลืดดไหลย้อนกลับ หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดโดยการบีบตัวและคลายตัวของกล้ามเนี้อหัวใจเป็นจังหวะ ทำให้เลือดไหลไปตามหลอดเลือดต่าง ๆ
ห้องเอเตรียมขวาจะรับเลือดจากหลอดเลือดดำ ชื่อ ซุพีเรียเวนาคาวา (Superior Vena cava) ซึ่งนำเลือดมาจากศรีษะและแขน และรับเลือดจากหลอดเลือดดำชื่อ อินฟีเรียเวนาคาวา (Inferior Vena cava) ซึ่งนำเลือดมาจากลำตัวและขาเข้าสู่หัวใจ เมื่อเอเตรียมขวาบีบตัว เลือดจะเข้าสู่เวนตริเคิลขวาโดยผ่านลิ้นไตรคัสพิด เมื่อเวนตริเคิลขวาบีบตัวเลือดจะผ่านลิ้นพัลโมนารีเซมิลูนาร์(Pulmonary Semilunar Valve) ซึ่งเปิดเข้าสู่หลอดเลือดแดงชื่อพัลโมนารีอาร์เตอรี (Pulmonary Artery) หลอดเลือดนี้นำเลือดไปยังปอดเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊ส โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และรับออกซิเจน เลือดที่มีออกซิเจนสูงนี้จะไหลกลับสู่หัวใจทางหลอดเลือดดำชื่อพัลโมนารีเวน(Pulmonary Vein) เข้าสู่หัวใจห้องเอเตรียมซ้ายเมื่อเอเตรียมซ้ายบีบตัว เลือดก็จะผ่านลิ้นไบคัสพิดเข้าสู่ห้องเวนตริเคิลซ้าย แล้วเวนตริเคิลซ้ายบีบตัวดันเลือดให้ไหลผ่านลิ้นเอออน์ติกเซมิลูนาร์ (Aortic Semilunar Valve) เข้าสู่เอออร์ตา(Aorta) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่จากเอออร์ตาจะมีหลอดเลือดแตกแขนงแยกไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
Link ที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
3. ระบบหายใจ (Respiratory System)
อวัยวะในระบบหายใจ ประกอบด้วย 1. โพรงจมูก (Nasal Cavity) 2. ช่องปาก (Oral Cavity) 3. ลิ้น (Tongue) 4. ลูกกระเดือก 5. คอหอย (Pharynx) 6. ลิ้นปิดกล่องเสียง (Epiglottis) 7. กล่องเสียง (Larynx) 8. เส้นเสียง หรือ สายเสียง (Vocal Cord) 9. หลอดลม (Trachea) 10. ปอด (Lung) 11. กะบังลม (Diaphragm) |
จัดทำโดยอาจารย์วิสูตร รอดสมบูรณ์
จำหน่ายโดยบริษัทไอ.ที.เอ็ดดูเคชั้น(ประเทศไทย).ขอนแก่น
กระบวนการหายใจ
เมื่อเราหายใจเข้า อากาศจากภายนอกร่างกายจะผ่านรูจมูกเข้าไปตามช่องจมูก ขนและเยื่อในช่องจมูกจะช่วยกรองฝุ่นละอองที่ปนมากับอากาศไว้ อากาศจะถูกปรับอุณหภูมิและความชื้นให้พอเหมาะกับร่างกาย จึงจะผ่านหลอดคอเข้าสู่หลอดลม และเข้าสู่ปอดในที่สุด ที่ปอดมีถุงลมเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีหลอดเลือดฝอยห้อมล้อมอยู่ เมื่ออากาศมาถึงบริเวณถุงลม อากาศที่มีออกซิเจนสูงจะแพร่ผ่านผนังถุงลมเข้าสู่หลอดเลือดฝอยโดยเข้าไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง จากนั้นจะไหลตามหลอดเลือดกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อให้หัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะที่เลือดถูกลำเลียงไปตามหลอดเลือดนั้นแก๊สออกซิเจนจะแพร่จากเซลล์เม็ดเลือดแดงเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในเซลล์จะแพร่จากเซลล์เข้าสู่หลอดเลือดและละลายในน้ำเลือด และไหลกลับสู่หัวใจโดยทางหลอดเลือดอีกชนิดหนึ่ง
กลไกการหายใจ
จังหวะการหายใจเข้า กระดูกซี่โครง ——> เลื่อนสูงขึ้น กระบังลม ——> หดตัวและเลื่อนต่ำลง ปริมาตรในช่องอก —–> เพิ่มมากขึ้น ความดันอากาศรอบๆ ปอด ——> ต่ำลง | จังหวะการหายใจออก กระดูกซี่โครง ——> เลื่อนต่ำลง กระบังลม ——> ขยายตัวและเลื่อนสูงขึ้น ปริมาตรในช่องอก —–> ลดน้อยลง ความดันอากาศรอบๆ ปอด ——> สูงขึ้น |
4. ระบบประสาท (Nervous System)
ระบบประสาทประกอบด้วยสมอง (Brian) และไขสันหลัง (Spinal Cord) ทำหน้าที่ร่วมกันในการควบคุมการทำงาน และการรับความรู้สึกของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย
ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS) ประกอบด้วย
1. สมอง บรรจุในกะโหลกศีรษะ มีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความคิด ความจำ การพูด ฯลฯ
* สมองส่วนหน้า ประกอบด้วย
– ซีรีบริม (Cerebrum) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ การพูด การมองเห็น การดมกลิ่น การชิมรส
– ไฮโพทาลามัส (Hypothathalamus) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย การควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
– ทาลามัส (Thalamus) เป็นสถานีถ่ายทอดกระแสประสาทเพื่อส่งไปยังสมองที่เกี่ยวข้องกับกระแสประสาทนั้น ๆ
* สมองส่วนกลาง เป็นส่วนที่ต่อจากสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลูกตาและม่านตา
* สมองส่วนท้าย ประกอบด้วย
– พอนส์ (Pons) ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
– ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย
– เมดุลลาออบลองกาตา (Medulla Oblongata) ทำหน้าที่ศูนย์กลางการเต้นของหัวใจ การกลืน จาม ไอ สะอึก เป็นต้น
2. ไขสันหลัง เป็น่ส่วนที่ต่อจากสมองลงไปตามช่องกระดูกสันหลัง ไขสันหลังด้านนอกมีเนื้อสีขาว ไม่มีเซลล์ประสาท ส่วนด้านในเป็นเนื้อสีเทา มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึก เป็นตัวนำสัญญาณข้อมูลจากอวัยวะรับความรู้สึกไปยังสมอง และเซลล์ประสาทสั่งการ เป็นตัวนำสัญญาณคำสังจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
อวัยวะรับสัมผัส (Receptor)
ตา เป็นอวัยวะที่ใช้ในการมองเห็น ซึ่งประกอบด้วย
- กระจกตา (Cornea) มีลักษณะโค้งนูนทำหน้าที่เป็นทางผ่านของแสง
- ม่านตา (Iris) เป็นกล้ามเนื้อที่หดและขยายตัวได้ ทำหน้าที่ควบคุมความกว้างของรูม่านตา (Pupil) ในที่มืดม่านตาจะขยายออกเพื่อให้ได้รับแสงมา ส่วนในที่สว่างม่านตาจะหดเล็กลงเพื่อลดปริมาณแสง
- เลนส์ตา (Lens) ทำหน้าที่โฟกัสภาพให้มาตกที่จอตาพอดีโดยการปรับเปลี่ยนรูปร่างของเลนส์ตาโดยที่เมื่อมองภาพไกลเลนส์ตาจะแบนลง เมื่อมองภาพใกล้เลนส์ตาจะกลมมากขึ้น
- จอรับภาพ/จอตา (Retina) เป็นผนังชั้นในสุดของลูกนัยน์ตา มีเส้นใยประสาทรับความรู้สึก ประกอบด้วย เซลล์รับแสงและเซลล์ประสาททำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงจากนัยน์ตาให้กลายเป็นกรแสประสาทส่งสู่สมอง
หู ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับฟังและการทรงตัว แบ่งเป็น
- หูชั้นนอก ประกอบด้วยใบหูและเยื่อแก้วหู ใบหูทำหน้าที่รับคลื่นเสียง ผ่านเข้าสู่ช่องหูส่งไปยังเยื่อแก้วหู
- หูชั้นกลาง ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ
กระดูกค้อน กระดูกทั่งและกระดูกโกลน ทำหน้าที่รับคลื่นเสียงส่งต่อไปยังหูชั้นใน ภายในหูชั้นกลางจะมีโพรงอากาศ เรียกว่า ท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian Tube) เชื่อต่อหูชั้นกลางกับคอหอย - หูชั้นใน ประกอบด้วย ท่อรูปหอยโข่ง(Cochlea) ทำหน้าที่รับเสียง ภายในมีของเหลวกระดุ้นให้สัญญาณถูกส่งไปยังประสาทรับเสียงเข้าสู่สมอง
ท่อรูปครึ่งวงกลม (Semicircular Canal) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว ภายในบรรจุของเหลวมีเซลล์รับความรู้สึกซึ่งไวต่อการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกาย
จมูก เป็นอวัยวะช่วยในการหายใจ
ภายในรูจมูกมีเซลล์รับกลิ่นอยู่ที่บริเวณเยื่อบุจมูก เมื่อมีกลิ่นต่าง ๆ ผ่านเข้ามาในรูจมูก เลิ่นเหล่านี้จะไปกระทบกับเซลล์รับกลิ่น เซลล์รับกลิ่นจะส่งความรู้สึกไปยังสมองส่วนซีรีบรัม
ลิ้น ทำหน้าที่ช่วยในการเคี้ยวอาหาร และรับรส ประกอบด้วย
ตุ่มรับรส (Teat Bud) จำนวนมาก ทำหน้าที่รับสร โดยแบ่งบริเวณที่รับรสต่าง ๆ ดังนี้
ปลายลิ้น —–> หวาน
ด้านข้างลิ้น —–> เค็มและเปรี้ยว
โคนลิ้น ——> ขม
ผิวหนัง เป็นบริเวณที่ต้องสัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอกมากมาย
ผิวหนังประกอบด้วยปลายประสาทรับความรู้สึก ซึ่งจะรับรู้ความรู้สึกต่างชนิดกัน เช่นความเจ็บปวด ความร้อน เย็น แรงกดดัน
5. ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System)
การเคลื่อนไหวร่างกาย จะต้องอาศัยระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการหดตัวเนื่องจากคำสั่งของสมองสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว เราแบ่งกล้ามเนื้อออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle)
เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ มีลักษณะเรียวแหลมหัวท้าย ไม่มีลายมีนิวเคลียสเดียวอยู่กลางเซลล์ เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในร่างกาย กล้ามเนื้อที่ผนังลำไส้ กล้ามเนื้อที่บริเวณกระเพาะอหาร กล้ามเนื้อหูรูดที่ม่านตา
ทำงานอยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary control)
2. กล้ามเนื้อลาย (Striated muscle)
เซลล์กล้ามเนื้อลายมีลักษณะยาว มีลายตามขวาง แต่ละเซลล์มีหลายนิวเคลียสอยู่บริเวณของเซลล์ เป็นกล้ามเนื้อที่เกาะติดกับกระดูก เช่น กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา
ทำงานตามคำสั่งภายใต้อำนาจจิตใจ (Involuntary control)
3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle)
เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีลักษณะเป็นทรงกระบอก แตกแขนงออกเป็นแฉกเชื่อมประสานกัน มีลายตามขวาง ส่วนใหญ่มีนิวเคลียสเดียวอยู่กลางเซลล์ พบบริเวณหัวใจเท่านั้น มีความแข็งแรง เพราะต้องทำงานตามจังหวะการเต้นของหัวใจตลอดชีวิต
ทำงานอยู่นอกอำนาจของจิตใจ(Involuntary control)
6. ระบบโครงกระดูก (Skeletal System)
ร่างกายของคนเรามีโครงกระดูกทำหน้าที่เป็นแกนยึดอวัยวะต่าง ๆ ให้สามารถเคลื่อนไหวได้
กระดูกภายในร่างกายของเรา ประกอบด้วย
กระดูกกะโหลกศีรษะ 29 ชิ้น
กระดูกสันหลัง 26 ชิ้น
กระดูกแขน 60 ชิ้น
กระดูกขา 60 ชิ้น
กระดูกสะบัก กระดูกเชิงกรานและกระดูกไหปลาร้า 6 ชิ้น
กระดูกอกและซี่โครง 25 ชิ้น
รวมทั้งสิ้น 206 ชิ้น
กระดูกแกนกลาง (Axial Skeleton) ประกอบด้วย
กะโหลกศีรษะ (Skull) 29 ชิ้น
กระดูกสันหลัง (Vertebral Column) 26 ชิ้น
กระดูกอก (Sternum) 1 ชิ้น
กระดูดซี่โครง (Ribs) 24 ชิ้น
รวม 80 ชิ้น
กะโหลกศีระษะทำหน้าที่ห่อหุ้มและป้องกันสมอง ส่วนกระดูกสันหลังทำหน้าที่ป้องกันไขสันหลังและรองรับน้ำหนักร่างกาย ประกอบกับกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ลักษณะเป็นข้อเชื่อมต่อกันด้วยกล้ามเนื้อและเอ็น กระดูกที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะภายใน คือ กระดูกซี่โครง ตอนปลายของกระดูกจะโค้งมาทางด้านหน้าและเข้าเชื่อมต่อกับ กระดูกหน้าอก ยกเว้น กระดูก 2 คู่ซี่สั้น ๆ จะไม่เชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอก เรียกว่า ซี่โครงลอย
กระดูกรยางค์(Appendicular Skeleton) ประกอบด้วย
กระดูกแขนข้างละ 30 ชิ้น รวม 60 ชิ้น
กระดูกขาข้างละ 30 ชิ้น รวม 60 ชิ้น
กระดูกสะบักข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น
กระดูกเชิงกรานข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น
กระดูกไหปลาร้าข้างละ 1 ชิ้น รวม 2 ชิ้น
รวม 126 ชิ้น
7. ระบบขับถ่าย (Excretory system)
ของเสียต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการในร่างกาย จะถูกกำจัดออกไปนอกร่างกาย ได้แก่
- กากอาหาร(อุจจาระ)จากกระบวนการย่อยอาหาร จะขับถ่ายออกทางทวารหนัก
- แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการหายใจ จะขับถ่ายออกทางจมูก
- เหงื่อ จะถูกขับออกทางผิวหนัง
- ปัสสาวะ จะถูกขับออกทางท่อปัสสาวะโดยไตทำหน้าที่ในการกรอง
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะคล้ายเม็ดถั่ว มีสีแดงแกมน้ำตาล ไตของคนเรามี 2 ข้าง อยู่บริเวณช่องท้องด้านหลังใกล้กระดูกสันหลังบริเวณเอว ประกอบด้วย
- เนื้อเยื่อ 2ชั้น ชั้นนอกเรียกคอร์เทกซ์(Cortex) ชั้นนอกเรียกว่า เมดุลลา(Medulla)
- กรวยไต
- หน่วยไต (Nephron) มีลักษณะเป็นท่อขดอยู่ และมีหลอดเลือดฝอยเป็นกระจุกกระจายเต็มไปหมด ไตแต่ละข้างมีเนฟรอนประมาณ 1 ล้านหน่วย เชื่อมต่อกับท่อไตฝอย ซึ่งปลายท่อไตฝอยทั้งหมดไปรวมกันที่ท่อไต
เนฟรอนทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ได้แก่ น้ำ เกลือแร่ และยูเรีย ไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ
โดยผ่านไปตามท่อไตฝอยและท่อไต ซึ่งจะกำจัดออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะต่อไป
8. ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system)
ระบบสืบพันธุ์เพศชาย
อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วย
- อัณฑะ(Testis) เป็นต่อมรูปไข่ มี 2 อัน ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Sperm) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และสร้างฮอร์โมนเพศชายเพื่อควบคุมลัษณะต่าง ๆ ของเพศชาย ภายในอัณฑะประกอบด้วย หลอดสร้างตัวอสุจิ (Seminaferous) เป็นหลอดเล็ก ๆ ขดไปมาอยู่ภายใน ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ
- ถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) อยู่นอกช่องท้อง ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในการสร้างตัวอสุจิ ซึ่งอสุจิจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส โดยอัณฑะทั้งสองอันจะอยู่ภายในถุงอัณฑะ
- หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epidymis) อยู่ด้านบนของอัณฑะ ทำหน้าที่เก็บตัวอสุจิจนตัวอสุจิเติบโตและแข็งแรงพร้อมที่จะปฏิสนธิ
- หลอดนำตัวอสุจิ (Vas Deferens) อยู่ต่อจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
- ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicle) ทำหน้าที่สร้างอาหารเพื่อใช้เลี้ยงตัวอสุจิ เช่น น้ำตาลฟรั๊กโตส วิตามินซี โปรตีนโกลบูลิน เป็นต้น และสร้างของเหลวมาผสมกับอสุจิเพื่อทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมสำหรับตัวอสุจิ
- ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) อยู่ตอนต้นของท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่หลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อน ๆ เข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อทำลายฤทธิ์กรดในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ
- ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) อยู่ใต้ต่อมลูกหมากลงไป เป็นกระเปาะเล็ก ๆ ทำหน้าที่หลั่งสารไปหล่อลื่นท่อปัสสาวะในขณะที่เกิดการกระตุ้นทางเพศ ทำให้ตัวอสุจิเคลื่อนที่เร็ว
เซลล์สืบพันธ์เพศชาย คือ อสุจิ
ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
- ส่วนหัว เป็นส่วนที่มีนิวเคลียสอยู่
- ส่วนร่างกาย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาว
- ส่วนหาง เป็นส่วนที่ใช้ในการเคลื่อนที่
ตัวอสุจิจะมีค่า pH ประมาณ 7.35-7.50 มีสภาวะค่อนข้างเป็นเบส ในน้ำอสุจินอกจากจะมีตัวอสุจิแล้ว ยังมีส่วนผสมของสารอื่น ๆ อีกด้วย
ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย
- รังไข่ (Ovary) มีรูปร่างคล้ายมะม่วงหิมพานต์ มี 2 อันอยู่บริเวณปีกมดลูกแต่ละข้าง ทำหน้าที่ดังนี้
- ผลิตไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง โดยปกติไข่จะสุกเดือนละ 1 ใบ จากรังไข่แต่ละข้างสลับกันทุกเดือน และออกจากรังไข่ทุกรอบเดือน เรียกว่า การตกไข่ ตลอดช่วงของเพศหญิงจะมีการผลิตไข่ประมาณ 400 ใบ เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึง 50 ปี จึงจะหยุดผลิต เซลล์ไข่จะมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง
- สร้างฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญมีดังนี้
1) เอสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำนม และควบคุมการเกิดลักษณะต่าง ๆ ของเพศหญิง
2) โปรเจสเทอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่ทำงานร่วมกับเอสโทรเจนในการควบคุมเกี่ยวกับการเจริญของมดลูก การเปลิ่ยนเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมรับไข่ที่ผสมแล้ว
- ท่อนำไข่ (Oviduct) หรือ ปีกมดลูก (Fallopion Tube) เป็นทางเชื่อมระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูก โดยมีปลายข้างหนึ่งเปิดอยู่ใกล้กับรังไข่ เรียกว่า ปากแตร (Funnel) บุด้วยเซลล์ที่มีขนสั้น ๆ ทำหน้าที่พัดโบกไข่ที่ตกมาจากรังไข่ให้เข้าไปในท่อนำไข่ ท่อนำไข่เป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่
- มดลูก (Uterus) มีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ หรือ คล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับลง อยู่ในบริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน ภายในเป็นโพรง ทำหน้าที่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- ช่องคลอด (Vagina) อยู่ต่อจากมดลูกลงมา ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูกเป็นทางออกของทารกเมื่อครบกำหนดคลอด และยังเป็นช่องให้ประจำเดือนออกมาด้วย
การปฏิสนธิ(Fertilization) คือกระบวนการที่เซลล์สืบพันธุ์เพศชายและเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงผสมกัน
เกิดเป็นเซลล์ใหม่ 1 เซลล์ การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายชายต้องสอดองคชาตเข้าไปในช่องคลอดของฝ่ายหญิง
อสุจินับล้านตัวจะถูกฉีดออกจากองคชาต จากนั้นอสุจิจะว่ายเข้าไปตามท่อรังไข่ และจะมีอสุจิเพียงตัวเดียวที่
สามารถเจาะผ่านผนังเซลล์ไข่เข้าไปผสมกับไข่ได้ อสุจิตัวอื่นๆจะตายหมด
ระยะการปฏิสนธิ (Fertilization stage)
ประกอบด้วย 5 ระยะ คือ
- เครเวจ (Cleavage) เป็นระยะที่อสุจิกับไข่รวมตัวกันเป็นเซลล์เดียวแล้วเกิดการแบ่งเป็นออกเป็น 2 เซลล์อีกครั้งหนึ่ง
- มอรูลา (Morula) เป็นระยะต่อจากเครเวจ เซลล์ 2 เซลล์แบ่งเซลล์ต่อไปจนกระทั่งมีจำนวนเซลล์ครบถ้วน
- บลาสทูลา (Blastula) เป็นระยะต่อจากโมรูลา เซลล์เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเซลล์
- แกสตรูลา (Gastrula) เป็นระยะต่อจากบาสตรูลา ระยะนี้คือระยะที่เซลล์มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งแล้วจัดรูปแบบของตำแหน่งเซลล์ใหม่
- เอมบริโอ (Embryo) เป็นระยะสุดท้ายของการปฏิสนธิ ระยะนี้เป็นระยะที่เซลล์ต่างๆเปลี่ยนแปลงรูปแบบจนเสร็จสมบูรณ์ได้ตัวอ่อนที่ปรากฏรูปร่างที่ชัดเจน คือ มีผิวหนัง ประสาทสัมผัส และอวัยวะภายใน
แหล่งอ้างอิง:
ดร.บัญชา แสนทวี.หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ เล่ม 3.สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช.กรุงเทพฯ.2547
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน CAI เรื่องตัวเรา จัดทำโดยอาจารย์วิสูตร รอดสมบูรณ์ จำหน่ายโดยบริษัทไอ.ที.เอ็ดดูเคชั้น(ประเทศไทย).ขอนแก่น
ประดับ นาคแก้วและคณะ.หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2.สำนักพิมพ์แม็ค.กุรุงเทพฯ.2547
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.ขีวิตกับสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.กรุงเทพฯ.2548