ที่มาของภาพ : https://www.agrinewsthai.com/did-you-know/54857
ชื่อพื้นเมือง* | แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่ |
ชื่อบาลี * | แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่ |
ชื่อวิทยาศาสตร์* | แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่ |
ชื่อสามัญ | Bamboo |
ชื่อวงศ์ | Gramineae (Poaceae) |
ถิ่นกำเนิด | ส่วนใหญ่ในเขตร้อน เช่น อินเดีย ไทย ฯลฯ ในเขตอบอุ่นมีบ้าง |
สภาพนิเวศน์ | พบตามป่าที่ระดับต่ำกว่า 300 เมตร |
การขยายพันธุ์ | เพาะเมล็ด แยกเหง้า ปักชำต้นที่มีข้อติดอยู่ด้วย |
ประโยชน์ | ใบปรุงเป็นยาขับฟอกระดู ใบต้มกับน้ำขับพยาธิ ตาใบผสมกับพริกไทยดำและเกลือเล็กน้อยใช้ขับพยาธิ รากใช้รักษาเกลื้อน ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะและแก้หนองใน (รากไผ่นิยมใช้รากไผ่รวก) หน่อไม้ใช้เป็นอาหาร ผลหุงรับประทานเหมือนข้าว ไม้ไผ่ ใช้จักสาน สร้างบ้าน ทำหมวก ทำตอกเย็บของ ฯลฯ |
ไผ่ (Bamboo) คือพืชไม้ใช้สอยที่ให้ประโยชน์ได้หลายด้านและอยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งแทบจะอยู่ในทุกส่วนของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เราใช้กันเป็นประจำ อย่างไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำจากไผ่ หรือแม้กระทั่งอาหารจากหน่อไม้ที่เป็นผลผลิตจากต้นไผ่ กลายมาเป็นเมนูโปรดหลากหลายเมนู แต่ใครจะรู้บ้างว่า “ต้นไผ่” ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าทึ่งให้เราอัศจรรย์ใจอยู่ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ “ไม้ไผ่บางชนิดเป็นพืชที่เติบโตได้เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถสูงขึ้นได้มากถึง 89 ซม. ภายในวันเดียว หรือคิดเป็น 3.8 ซม. ต่อ 1 ชั่วโมง แถมมันยังมีความสูงมาก โดยสถิติในอเมริกาคือ 65-98 ฟุต ส่วนในยุโรปจะสูงถึง 130 ฟุต“
ก่อนอื่นมารู้จักชนิดของไผ่กันก่อน ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกไผ่ในประเทศไทยที่พบมีอยู่ 30 ชนิด ดังนี้
ที่มาของภาพ : https://www.agrinewsthai.com/wp-content/uploads/2023/02/330990851_1822943928069696_4775541874801158933_n.jpg.webp
ไผ่ข้าวหลาม (Cephalostachyum pergracile) เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำต้นลักษณะตรง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 เซนติเมตร เนื้อลำบางหนาไม่ถึง 5 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร สูงประมาณ 7-30 เซนติเมตร มีสีเขียวปนเทา กาบมีสีหมากสุก กาบหุ้มลำหลุดร่วงง่าย มีการแตกกิ่งขนาดเท่า ๆ กันรอบข้อ ลำอายุประมาณ 6-10 เดือนใช้ทำกระบอกข้าวหลาม เครื่องจักสานต่าง ๆ ลำแก่ใช้ในการสร้างบ้านเรือน โดยมากใช้ทำกลอนหลังคา สานเป็นฝาหรือเพดาน
ไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus) เป็นไม้ไผ่หน่ออัด ใบ ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ไม่มีหนาม ผิวเป็นมัน มีกิ่งแขนงมาก สูงประมาณ 6-20 เซนติเมตร มีเนื้อหนาประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 15-50 เซนติเมตร เนื้อไม้หยาบ โดยทั่วไปลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-12.5 เซนติเมตร ถ้าพบบริเวณเนินเขาสูงลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร นิยมใช้ทำไม้เสียบอาหาร ไม้ตะเกียบ ไม้ก้านธูป แผ่นไม้ไผ่อัด และเยื่อกระดาษ
ไผ่ป่า (Bambusa bambos) เป็นไผ่ขนาดใหญ่ กอแน่น มีหนาม และมีแขนงรกแน่น โดยเฉพาะตรงบริเวณโคนลำ สูงประมาณ 10-24 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-18 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เนื้อหนา 1-5 เซนติเมตร ลำอ่อนมีสีเขียว ลำแก่จะมีสีเขียวเหลือง ลำต้นใช้ทำนั่งร้านสำหรับก่อสร้างหรือทาสี ใช้ทำบันไดขึ้นต้นตาล
ไผ่เป๊าะ (Dendrocalamus giganteus) เป็นไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกอ กิ่งเรียวเล็ก ลำสูง 25-30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-25 เซนติเมตร ปล้องค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของลำ ปล้องบาง หนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร
ไผ่เพ็ก (Vietnamosasa pusilla) เป็นไผ่ขนาดเล็ก ลำต้นโดยเฉลี่ยสูงราวๆ 0.5 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ลำต้นใช้ทำแผงตากสาหร่ายทะเล ทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครอบครัว เช่น ที่รองจาน ตะกร้าขยะใบเล็ก ๆ
ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 7-15 เมตร ส่วนโคนมีเนื้อหนาเกือบตัน ที่ปลายลำมีเนื้อบาง ถ้าพบในบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง ลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ถ้าพบในที่แห้งแล้งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลำมีสีเขียวอมเทา ปล้องจะยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร นิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน หรือใช้ในการตบแต่งบ้านเหมาะสำหรับใช้ทำเยื่อกระดาษเป็นไม้ค้ำพืช ต้มอัดใส่ปี๊บทำให้มีการทำหน่อไม้ปี๊บ
ที่มาของภาพ : https://www.agrinewsthai.com/wp-content/uploads/2023/02/331145474_695131552409810_7276586607131103254_n.jpg.webp
ไผ่ลำมะลอก (Bambusa longispiculata) เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นพุ่มใหญ่ระหว่างลำต่อลำห่างกันพอสมควร สูง ประมาณ 10-15 ม. น่าจะเป็นประเภทขึ้นลำเดี่ยว บริเวณโคนต้นสะอาด ผลัดใบทุกฤดูร้อน ลำต้นสี เขียวแก่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-10 เซนติเมตร ปล้องห่างปานกลาง ใช้ในการก่อสร้าง นั่งร้าน เสาโป๊ะ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องจักสาน
ไผ่เลี้ยง (Bambusa mulfiplex) ลำต้นสีเขียวสด มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 2.5-7 เมตร ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์ประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ไม่มีหนามลำกลวงแต่มีเนื้อค่อนข้างหนา ลำอ่อนมีสารสีขาวคล้ายแว๊กซ์เคลือบอยู่ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนของลำต้นมีเนื้อเกือบตัน จึงแข็งแรงนิยมทำคันเบ็ดและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์
ไผ่สีสุก (Bambusa blumeana) ขึ้นเป็นกอใหญ่หนาแน่นมาก มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร กิ่งและแขนงมีหนามแหลมคม ลักษณะของลำต้นกลวง เนื้อหนาประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ส่วนโคนต้นจะมีความหนาถึง 1.5 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวสดผิวเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 25-60 เซนติเมตร ใช้ทำเครื่องจักสาน เฟอร์นิเจอร์ ใช้ในการก่อสร้าง นั่งร้าน และเครื่องใช้ที่ต้องใช้งานเป็นเวลานาน
ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii) ลำต้นขึ้นเป็นกอ มีสีเขียวอมเทา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปล้องยาว 40-50 เซนติเมตร สูงเต็มที่ระหว่าง 10-15 เมตร ลำต้นทำเครื่องจักสานเป็นของใช้ในครัวเรือน ก่อสร้างชั่วคราว อุตสาหกรรมเยื่อ กระดาษ
ไผ่หลอด (Neohouzeaua mekongensis) ลำต้นมีสีเขียวเป็นมัน เป็นไผ่ขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร ปล้องยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ไม่มีหนาม ขึ้นเป็นกอเป็นพุ่ม แขนงสั้น ลำต้นมีขนาดเท่ากันนิยมใช้ทำม่าน
ไผ่หวาน (Bambusa sp). เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอเป็นหุ้มแน่น ลำอ่อนมีสีเขียวใบไม้ ลำแก่จะมีสีเขียวแก่ ลำต้นมักมักมีลักษณะคดงอ มีการแตกกิ่งจำนวน 2-5 กิ่งตลอดลำ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-8 เมตร ลำต้นใช้เป็นเชื้อเพลิง หน่อมีรสหวานอร่อย สามารถรับประทานสดได้ และนิยมนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด
ไผ่หอม (Bambusa polymorpha) เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกอแน่น ลำต้นสูงประมาณ 10-25 เมตร ปล้องมี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7.5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำมีความหนา ประมาณ 12-20 มิลลิเมตรลำต้นใช้ทำหางบ้องไฟ
ไผ่เหลือง (Bambusa vulgaris) เป็นไผ่ขนาดกลาง สีเขียวมีแถบเหลือง หรือสีเขียวเข้ม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ปล้องยาวโดยเฉลี่ย 20-45 เซนติเมตร สูงประมาณ 8-15 เมตร ขึ้นเป็นกอไม่แน่น ผิวของลำเป็นมัน มีขนสีดำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำแจกัน ทำที่เขี่ยบุหรี่ และใช้ทำเครื่องเรือน ส่วนใหญ่ปลูกเป็นไม้ประดับเพราะสีเหลืองของลำต้น
ไผ่เฮียะ (Cephalostachyum virgatum) เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำเรียว เปลาตรง สูงประมาณ 6-12 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร เนื้อลำบางลำต้นใช้ในการทำโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และเครื่องจักสาน
เรื่องน่าทึ่งของไผ่
1. ไผ่เป็นพืชที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก
ไม้ไผ่ถือเป็นไม้ที่มีค่าแรงต้านทานการดึง (Tensile Strength) ที่แข็งแกร่งกว่าเหล็ก ซึ่งค่านี้มาจากการทดสอบวัตถุด้วยการดึงออกจากกันจนกว่าจะขาด ไผ่มีความเหนียว และยังต้านทานการทุบตีได้ดีกว่าคอนกรีต จึงทำให้ไผ่เป็นหนึ่งในวัตถุที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และในปี 2001 มีสถาปนิกชาวเวียดนามมุ่งมั่นที่จะทำให้ไผ่นั้นกลายเป็นเหล็กสีเขียวเพื่อใช้เป็นโครงสร้างอาคาร จึงได้สร้างผลงานพาวิเลียนไม้ไผ่ในงาน Sherman Contemporary Art Foundationครั้งที่ 16 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยให้ชื่อว่า “เหล็กสีเขียวของศตวรรษที่ 21” ด้วยการนำไผ่ไปแช่น้ำ และนำมารมควัน (ไผ่เมื่อโดนความร้อนจะทำให้แข็งแกร่งขึ้น) ผูกต่อกันเป็นโครง จุดมุ่งหมายของงานชิ้นนี้ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นวัสดุโครงสร้างของไม้ไผ่ ที่มีทั้งความแข็งแรงและความเหนียว สามารถที่จะทดแทนเหล็กได้
ที่มาของภาพ : https://arts.unimelb.edu.au/__data/assets/image/0004/2896960/pavilions1-tile.jpg
2. ไม้ไผ่ ผู้ผลิตออกซิเจนรายใหญ่ของโลก
ไผ่ ผลิตออกซิเจนได้ดีกว่าไม้ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ถึง 35 % โดยป่าไผ่บนพื้นที่ 10 ไร่ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงราว 19 ตันต่อปี ลองคิดดูว่าถ้าเรามีพื้นที่ปลูกไผ่ เป็นพัน ๆ ไร่ จะช่วยฟอกอากาศที่เป็นพิษได้มากแค่ไหน
3. ไผ่ ช่วย โทมัส เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟ
เอดิสันและทีมงานของเขาค้นพบว่า เส้นใยคาร์บอนไม้ไผ่ ช่วยให้แสงไฟติดยาวนานได้มากกว่า 1,200 ชั่วโมง ซึ่งดีกว่าเส้นใยคาร์บอนที่ทำจากผ้าฝ้าย เส้นใยลินิน เปลือกไม้ หรือกระดาษ ที่เขาเคยจดสิทธิบัตรมาก่อน
ที่มาของภาพ : https://www.rakbankerd.com/kaset/Hilight-Kaset/170_3_1561957670355.jpg
4. ไม้ไผ่ เป็นพืชที่โตเร็วที่สุดในโลก
ไม้ไผ่บางชนิดเป็นพืชที่เติบโตได้เร็วที่สุดในโลก โดยสามารถสูงขึ้นได้มากถึง 89 ซม. ภายในวันเดียว หรือคิดเป็น 3.8 ซม. ต่อ 1 ชั่วโมง แถมมันยังมีความสูงมาก โดยสถิติในอเมริกาคือ 65-98 ฟุต ส่วนในยุโรปจะสูงถึง 130 ฟุต
ที่มาของภาพ : https://i0.wp.com/www.rakbankerd.com/kaset/Hilight-Kaset/170_4_1561957672682.jpg?ssl=1
5. ไผ่ ออกดอกได้เพียงครั้งเดียว และเมื่อออกดอกแล้วก็จะตาย
พืชชนิดอื่นออกดอกแล้วอีกไม่นานเราต้องได้กินผล แต่ไผ่น้้นไม่ใช่ เมื่อไหร่ที่ไผ่ออกดอกเป็นสัญญาณบอกว่าไผ่กอนั้นจะหมดอายุและจะตายในอีกไม่นาน ซึ่งเราเรียกอาการนั้นว่า “ตายขุย”
6. ไผ่ ทำให้ดินดี
ที่ไหนมีไผ่เติบโตดี ที่นั่นมักมีดินดี อาจเพราะไผ่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรืออาจเพราะการปลูกไผ่นั้นทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ อันเกิดจากการทับถมของใบก็เป็นได้เช่นกัน การนำดินขุยไผ่หรือดินที่ได้จากการทับถมจากใบไผ่ในสวนไปปลูกพืชชนิดอื่น มักพบว่าทำให้พืชนั้นๆ เติบโตงอกงามดี
ที่มาของภาพ : http://www.monmai.com/media/2017/10/kuipai01.jpg
7. ไม้ไผ่ ต้านเชื้อแบคทีเรียได้โดยธรรมชาติ
เส้นใยของไผ่ ต้านเชื้อแบคทีเรียได้โดยธรรมชาติ ไผ่จึงกลายเป็นวัตถุดิบที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ สำหรับการนำมาทำเป็นเสื้อผ้า เคยมีการทดสอบด้วยการนำไม้ไผ่และผ้าฝ้ายเปรียบเทียบการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใน 24 ชั่วโมง ผลลัพธ์คือ ไม้ไผ่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เกือบหมด ในขณะที่ผ้าฝ้ายไม่สามารถฆ่าได้เลย
ที่มาของภาพ : https://www.pr.rmutt.ac.th/wp-content/uploads/2022/10/prd-rmutt220104-07-1024×605.jpg
8. ไม้ไผ่ ช่วยดับกลิ่น
จากคุณสมบัติที่ไม้ไผ่นั้นสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้ จึงทำให้ไผ่กลายเป็นเครื่องดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ตามธรรมชาติ และเรามักจะเห็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในรูปแบบของผงชาร์โคลจากไผ่ช่วยดูดกลิ่นขายกันในโลกออนไลน์อยู่มากในปัจจุบัน
ชาร์โคล หรือผงถ่านมีชื่อเต็มมาจาก แอคทิเวท ชาร์โคล (Activated Charcoal) หรือ ผงคาร์บอนกัมมันต์ ซึ่งเป็นผงถ่านที่ได้จากการเผาไม้ไผ่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส
ที่มาของภาพ : https://cache-igetweb-v2.mt108.info/uploads/images-cache/7932/filemanager/ebb8736052dd7e424c016376edcad701_full.jpg
9. ไม้ไผ่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ไม้ไผ่เป็นหนึ่งในพืชที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากที่สุดในโลก อย่างที่เราทราบกันแล้วว่าไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบที่ยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น บ้าน เสื้อผ้า จักรยาน เครื่องดนตรี เครื่องครัว อาวุธ งานศิลปะ และอื่นๆ อีกมากมาย และตอนนี้มีหลากหลายไอเดียเก๋ ๆ ที่นำไม้ไผ่มาทำ อย่างลำโพงที่มีดีไซน์ที่แหวกแนว และยังสร้างสรรค์ขึ้นง่ายเพราะมีการดัดแปลงไม้ไผ่น้อยมาก ลำไผ่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เสียงของลำโพงก้องกระจายจากการใช้ไม้ไผ่เป็นตัวส่ง ลำโพง iBamboo Speaker ปัจจุบันใช้ได้กับ iphone4 และ 4s เท่านั้น แน่นอนว่าคงมีคนใช้อยู่น้อยมาก แต่ก็ถือเป็นไอเดียที่เจ๋งไม่น้อยเลยทีเดียว และในส่วนของ iZen Keyboard คือ คีย์บอร์ดตัวแรกในตลาดที่ทำมาจากไม้ไผ่ และมี Bluetooth เอาไว้ติดตั้งกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์นี้ทำจากไม้ไผ่ 92% ด้วยงานมือ และยังสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นอย่างอื่นได้ด้วย รวมไปถึง ASUS ที่พยายามสร้างสรรค์แบรนด์ ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการดีไซน์ Notebook จากไม้ไผ่ เพิ่มคุณสมบัติการกันน้ำ และรอยขูดขีดได้เป็นอย่างดี แถมมีคนมายืนยันว่าเคยเอาคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ขึ้นไปบนภูเขา Mt. Everest ที่สูงที่สุดในโลก เพื่อดูว่าคอมพิวเตอร์ตัวนี้สามารถทนทานต่อสภาวะอากาศที่นั่นได้หรือไม่ ผลการท้าพิสูจน์ที่ได้รับคือ คอมพิวเตอร์ยังใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ที่มาของภาพ : https://www.rakbankerd.com/kaset/Hilight-Kaset/170_5_1561957676180.jpg
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
ขอบคุณข้อมูลจาก : TCDC,Listverse
https://www.agrinewsthai.com/did-you-know/54857
https://www.opsmoac.go.th/chachoengsao-article_prov-preview-411491791793