การใช้หลักภาษา

สร้างโดย : นางวิลาวัลย์ ภูอาราม
สร้างเมื่อ พุธ, 26/11/2008 – 00:17
มีผู้อ่าน 123301 ครั้ง (12/01/2023)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18364

การใช้หลักภาษา

๑. รูปสระ

รูปสระ คือ ส่วนประกอบของเครื่องหมายที่ใช้เขียนแทนเสียงสระ มีทั้งหมด ๒๑ รูป ซึ่งมีชื่อ วิธีการเขียนและวิธีใช้ดังนี้

๑. ะ (วิสรรชนีย์) ใช้เป็นสระอะเมื่ออยู่หลังพยัญชนะ เช่น ปะ กะ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระอื่น เช่น เตะ แตะ โต๊ะ เอียะ อัวะ
๒. -ั (ไม้ผัด, ไม้หันอากาศ) ใช้เขียนบนพยัญชนะแทนเสียงสระอะเมื่อมีตัวสะกด เช่น มัด และประสมกับสระรูปอื่น เช่น ตัว ผัวะ
 ๓. -็ (ไม้ไต่คู้) ใช้เขียนไว้บนพยัญชนะที่ประสมกับรัสสระที่มีวิสรรชนีย์ เพื่อแทนวิสรรชนีย์เมื่อมีตัวสะกด เช่น เจ็ด (เจะ+ด) และใช้แทนสระเอาะที่มีวรรณยุกต์โท ที่มีคำเดียวคือคำว่า ก็ (เก้าะ)
๔. า (ลากข้าง) ใช้เป็นสระอา สำหรับเขียนหลังพยัญชนะและใช้ประสมกับรูปสระรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา เช่น เกาะ ลำเพา
๕. -ิ (พินทุ์อิ) ใช้เป็นสระอิ สำหรับเขียนไว้บนพยัญชนะ เช่น ซิ ผลิ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระ อี อือ เอียะ เอีย เอือะ เอือ เช่น ผี คือ เกี๊ยะ เสีย เสือ
๖. -่ (ฝนทอง) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิ ทำให้เป็นสระอี เช่น ผี มี ป
๗. ” (ฟันหนู) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิเป็นสระอือ เอือะ เอือ เช่น มือ เสือ
๘. -ํ (หยาดน้ำค้าง, นฤคหิต) ใช้เขียนไว้ข้างบนลากข้าง ทำให้เป็นสระอำ ( ำ) และเขียนบนพินทุ์อิเป็นสระอึ เช่น จำนำ ปรึกษา ศึกษา
๙. -ุ (ตีนเหยียด) ใช้เป็นสระอุ เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะ เช่น ดุ
๑๐. -ู (ตีนคู้) ใช้เป็นสระอู เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะต้น เช่น ปู งู ดู
๑๑. เ- (ไม้หน้า) ใช้เป็นสระเอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น เกเร ถ้าใช้สองรูปด้วยกันจะเป็นสระแอ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระอื่น เช่น เอือ เอา เออะ เอียะ เอีย เอาะ แอะ
๑๒. ใ- (ไม้ม้วน) ใช้เป็นสระใอ สำหรับเขียนไว้หน้าพยัญชนะ เช่น ใคร ใต้ ฯลฯ
๑๓. ไ- (ไม้มลาย) ใช้เป็นสระไอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น ไฟไหม้ ฯลฯ
๑๔. โ- (ไม้โอ) ใช้เป็นสระโอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น โมโห ใช้ประสมกับวิสรรชนีย์ทำให้เป็นสระ โอะ เช่น โละ โปะ
๑๕. ฤ (ตัวรึ) ใช้เป็นสระ ฤ จะใช้โดดๆ เช่น ฤดี หรือจะใช้ประสมกับพยัญชนะ (ต้องเขียนไว้หลังพยัญชนะ) และออกเสียงสระได้หลายเสียง ออกเสียงเป็น ริ เช่น กฤษณา ออกเสียงเป็น รึ เช่น ฤดู ฤทัย พฤกษ์ ออกเสียงเป็น เรอ เช่น ฤกษ์
๑๖. ฤๅ (ตัวรือ) ใช้เป็นสระ ฤๅ ใช้โดดๆ เช่น ฤๅไม่ หรือใช้เป็นพยางค์หน้าของคำ เช่น ฤๅดี
๑๗. ฦ (ตัวลึ) ใช้เป็นสระ ฦ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๘. ฦๅ (ตัวลือ) ใช้เป็นสระ ฦๅ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๙. ย (ตัวยอ) ใช้ประสมกับสูปสระรูปอื่น ทำให้เป็นสระอื่น เช่น สระเอีย เอียะ
๒๐. ว (ตัววอ) ใช้ประสมกับสระรูปอื่น เป็นสระ อัวะ อัว
๒๑. อ (ตัวออ) ใช้เขียนหลังพยัญชนะเป็นสระ ออ และประสมกับรูปสระรูปอื่น เป็นสระ อือ เออะ เอือะ เอือ

๒. เสียงสระ

เสียงสระ เกิดจากการนำรูปสระทั้ง ๒๑ รูป มาประกอบกันทำให้เกิดเสียงสระขึ้น ๓๒ เสียง แบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ

๑. สระแท้ มีจำนวน ๑๘ เสียง แบ่งออกเป็น ๒ พวกตามลักษณะของการออกเสียง
    สระเสียงสั้น เรียกว่า รัสสระ ได้แก่ อะ อิ อึ อึ เอะ เออะ โอะ แอะ เอาะ
    สระเสียงยาวเรียกว่า ฑีฆสระ ได้แก่ อา อี อื อู เอ เออ โอ แอ ออ
๒.สระประสม มีจำนวน 6 เสียง คือ
เอีย เกิดจากเสียง -ี + -า เอีย
เอียะ เกิดจากเสียง -ิ + -ะ เอียะ
เอือ เกิดจากเสียง -ื + -า เอือ
เอือะ เกิดจากเสียง -ึ + -า เอือะ
อัว เกิดจากเสียง -ู + -า อัว
อัวะ เกิดจากเสียง -ุ + -ะ อัวะ
    การออกเสียงสระประสม จะใช้ลิ้นส่วนหน้า ลิ้นส่วนกลางและลิ้นส่วนหลังจะขยับเคลื่อนที่ ทำหน้าที่ออกเสียงร่วมด้วย เสียงที่เกิดขึ้นมีลักษณะเสียงประสม เราจึงเรียกว่า สระประสม
๓. สระเกิน มีจำนวน ๘ เสียง ดังนี้
๑. อำ มีเสียง อะ+ม
๒. ไอ มีเสียง อะ+ย
๓. ใอ มีเสียง อะ+ย
๔. เอา มีเสียง อะ+ว
๕. ฤ มีเสียง ร+อึ
๖. ฤา มีเสียง ร+อื
๗. ฦ มีเสียง ล+อึ
๘. ฦา มีเสียง ล+อื
    สระ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา มีลักษณะการออกเสียงระหว่างเสียงสระกับเสียงพยัญชนะ ดังนั้น สระ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา ไม่นับว่าเป็นเสียงสระ เพราะมีเสียงสระที่เป็นสระแท้ประสมอยู่กับเสียงพยัญชนะ แต่จะนับเป็นลักษณะของพยางค์แท้

๓. มาตราตัวสะกด

มาตราตัวสะกด หมายถึง พยัญชนะที่ประกอบอยู่ท้ายสระ และมีเสียงประสมเข้ากับสระ
    มาตราตัวสะกดมีอยู่ ๘ แม่ ได้แก่ แม่กง แม่กน แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ แม่เกย และแม่เกอว
พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในแต่ละมาตรา่ ได้แก่
๑. แม่ ก กา คำที่ไม่มีตัวสะกด
๒. แม่ กก (- k) / ก / ได้แก่ ก ข ค ฆ
๓. แม่ กด (- t) / ด / ได้แก่ จ ด ต ถ ท ธ ฎ ฏ ฑ ฒ ช ซ ศ ษ ส
๔. แม่ กบ (- p) / บ / ได้แก่ บ ป พ ภ ฟ
๕. แม่ กน (- n) / น / ได้แก่ น ณ ญ ร ล ฬ
๖. แม่ กง (- n) / ง / ได้แก่ ง
๗. แม่ กม (- m) / ม / ได้แก่ ม
๘. แม่ เกย (- j) / ย / ได้แก่ ย
๙. แม่ เกอว (- w) / ว / ได้แก่ ว
มาตราตัวสะกด แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. มาตราตัวสะกดตรงรูป ๔ มาตรา ได้แก่  แม่กก แม่กด แม่กบ และแม่กน
๒. มาตราตัวสะกดไม่ตรงรูป ๔ มาตรา ได้แก่ แม่กง แม่กม แม่เกย และแม่เกอว

๔. ไตรยางศ์

ไตรยางศ์ หรือ อักษรสามหมู่ คือระบบการจัดหมวดหมู่อักษรไทย (เฉพาะรูปพยัญชนะ) ตามลักษณะการผันวรรณยุกต์ ของพยัญชนะแต่ละหมวด เนื่องจากพยัญชนะไทย เมื่อกำกับด้วยวรรณยุกต์หนึ่งๆ แล้วจะมีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน การจัดหมวดพยัญชนะ ทำให้การเรียนภาษาไทยง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่า ในชั้นแรกนั้น การแบ่งหมวดหมู่พยัญชนะน่าจะทำขึ้นเพื่อประโยชน์ ในการแต่งตำราสอนภาษาไทยแก่นักเรียน
คำว่า ไตรยางศ์ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ตฺรยฺ (ไตร) ซึ่งแปลว่า สาม รวมกับ อํศ (องศ์) ซึ่งแปลว่า ส่วน ดังนั้น ไตรยางศ์ จึงแปลรวมกันได้ว่าว่า สามส่วน
ไตรยางศ์มีการจัดหมวดหมู่เพื่อแบ่งพยัญชนะไทยออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
* อักษรสูง มี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
* อักษรกลาง มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
* อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
    การจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์นั้นมีหลักฐานปรากฏครั้งแรกในหนังสือจินดามณี เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าเป็นผลงานของพระโหราธิบดีได้แต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้
ประโยคช่วยจำหมวดหมู่ไตรยางศ์
อักษรสูง  ของ(ข)ของ(ฃ)ฉัน(ฉ)ถูก(ฐ ถ)เผา(ผ)ฝัง(ฝ)เสีย(ศ ษ ส)หาย(ห)
    หรือ ผี (ผ) ฝาก (ฝ) ถุง (ถ ฐ) ข้าว (ข ฃ) สาร (ศ ษ ส) ให้ (ห) ฉัน (ฉ)
อักษรกลาง 
    ไก่(ก)จิก(จ)เด็กตาย(ฎ ฏ)เด็กตาย(ด ต)บน(บ)ปาก(ป)โอ่ง(อ)
ที่เหลือเป็นอักษรต่ำ

๕. ชนิดของคำ

คำในภาษาไทยจำแนกได้ ๗ ชนิด คือ

๑. คำนาม ๒. คำสรรพนาม ๓. คำกริยา ๔. คำวิเศษณ์ ๕. คำบุพบท ๖. คำสันธาน และ ๗. คำอุทาน

๑. คำนาม

คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่น เด็ก พ่อ แม่ นก ช้าง บ้าน โรงเรียน ความดี ความรัก ฯลฯ

คำนามแบ่งเป็น ๕ ชนิด ดังนี้
๑. สามมานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อทั่วไปไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น พ่อ แม่ นก รถ ขนม ทหาร ตำรวจ ครู คน ประเทศ รัฐบาล ฯลฯ
ตัวอย่าง
– นักเรียนอ่านหนังสือ
– แม่ซื้อผลไม้ในตลาด
๒. วิสามานยนาม คือ นามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เช่น ครูสมศรี ประเทศไทย วันจันทร์ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ฯลฯ
ตัวอย่าง
– โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี
– เด็กชายวุฒิชัยได้รับรางวัลเรียนดีเยี่ยม
๓. ลักษณะนาม คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะของนามหรือกริยา เพื่อบอกขนาด รูปร่างสัณฐาน ปริมาณ เช่น ตัว ด้าม เม็ด หลัง ฯลฯ
ตัวอย่าง
– บ้านหลังนี้ทาสีสวยมาก
– ฟันน้ำนมน้องหัก ๒ ซี่
๔. สมุหนาม คือ คำนามที่บอกหมวดหมู่ของนามทั่วไปและนามเฉพาะ เพื่อบอกถึงลักษณะที่รวมกันเป็นหมู่ เป็นพวก เช่น ฝูง โขลง กอง กลุ่ม คณะ ฯลฯ
ตัวอย่าง
– กองทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา
– ฝูงนกบินออกหาอาหารในเวชาเช้าตรู่
๕. อาการนาม คือ คำนามที่บอกกิริยาอาการหรือความปรากฏเป็นต่าง ซึ่งมีคำ “การ” ความ”นำหน้า
ตัวอย่าง
– การเดินทางในครั้งนี้ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง
– ความรักทำให้คนตาบอด
ข้อสังเกต
การ   ใช้นำหน้าคำกริยา เช่น การเดิน การวิ่ง การพูด การเจรจา การอ่าน การทำงาน การกิน ฯลฯ
ความ ใช้นำหน้าคำวิเศษณ์และคำกริยาเกี่ยวกับจิตใจ เช่น ความดี ความรัก ความสวย ความเจริญ ความสุข ความคิด ความฝัน ความเข้าใจ ฯลฯ

๒. คำสรรพนาม

คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนาม ที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ แบ่งเป็น ๖ ชนิด ดังนี้
๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนในการพูดจา แบ่งเป็น ๓ พวก คือ
– สรรพนามบุรุษที่ ๑  หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูด  เช่น  ฉัน  ผม กระผม  ข้าพเจ้า  กู  เราอาตมา ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ
– สรรพนามบุรุษที่ ๒ หมายถึง  คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ฟัง  เช่น  เธอ  ท่าน คุณ  มึง  เอ็ง  ลื้อ  แกใต้เท้า พระองค์
– สรรพนามบุรุษที่ ๓  หมายถึง  คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดถึง หรือสิ่งที่กล่าวถึง เช่น  เขา  มัน  แกท่าน หล่อน พระองค์ ฯลฯ
๒. ประพันธสรรพนาม  คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และประโยคทำหน้าที่เชื่อมประโยค ๒ ประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ คำ ที่ ซึ่ง อัน ผู้
ตัวอย่าง
– ฉันชอบคนที่มีมารยาทดี
– นักเรียนซึ่งนั่งอยู่ในห้องพักครูมีมารยาทดี
– บทเพลงอันไพเราะย่อมเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
– ครูผู้เสียสละเพื่อนักเรียนสมควรได้รับการยกย่อง
๓. วิภาคสรรพนาม  คือ  คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อแบ่งพวก หรือรวมพวก ได้แก่ คำ บ้าง ต่าง กัน
ตัวอย่าง
– นักเรียนบ้างก็เล่นบ้างก็คุยในชั้นเรียน
– ชาวบ้านต่างช่วยกันเก็บขยะในบริเวณวัด
– ญาติพี่น้องนั่งคุยกัน
๔. นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่แสดงความชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น
ตัวอย่าง
– นี่คือโรงเรียนของฉัน
– นั่นเขากำลังเดินมา
– โน่นคือบ้านของเขา
๕. อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่บอกความไม่เจาะจง ได้แก่ คำ ใคร อะไร ไหน อย่างไร อะไร ๆ ผู้ใด ๆ ใด ๆ ซึ่งไม่ใช่คำถาม
ตัวอย่าง
– เขาชอบพูดโกหกจนไม่มีใครเชื่อเขาอีกแล้ว
– อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้พักผ่อน    
– ผู้ใดไม่ต้องการก็ไม่เป็นไร
๖.  ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่มีความหมายเป็นคำถาม ได้แก่ คำ อะไร ใคร อย่างไร ทำไม ผู้ใด
ตัวอย่าง
– เธอชอบเรียนอะไรมากที่สุด
– ใครนั่งอยู่ในห้องเรียนตอนพักกลางวัน
– ทำไมไม่เข้าห้องเรียน

๓. คำกริยา

คำกริยา คือ คำที่แสดงแสดงความหมายว่า กระทำ หรือมีอาการ หรืออยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง
ตัวอย่าง
– นักเรียนต้องอ่านหนังสือทุกวัน
– น้องกินข้าวจุ
คำกริยาแบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด คือ
๑. สกรรมกริยา คือ คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับข้างท้ายจึงจะได้ความสมบูรณ์
ตัวอย่าง
– เราควรดับไฟก่อนเข้านอน
– แม่เขียนจดหมายถึงลูก
๒. อกรรมกริยา คือ คำกริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ต้องมีกรรมมารับข้างท้าย
ตัวอย่าง
– พายุพัดแรง
– เธอหัวเราะ
๓. วิกตรรถกริยา คือ คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม คือต้องมีคำมาเติมข้างท้ายจึงจะมีความสมบูรณ์ ได้แก่ คำเป็น  เหมือน  คล้าย คือ เช่น
ตัวอย่าง
– พ่อเป็นครู
– น้องเหมือนแม่
– คนโกรธคือโง่
๔. กริยานุเคราะห์  คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่ช่วยหรือประกอบกริยาสำคัญในประโยคให้ได้ความยิ่งขึ้น ได้แก่ คำ คง กำลัง จะ เคย ฯลฯ
ตัวอย่าง
– ครูกำลังสอนหนังสือ
– ฝนคงจะตก

๔. คำวิเศษณ์

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

คำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น ๑๐ ชนิด คือ
๑. ลักษณวิเศษณ์
คือ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ ชนิด สี ขนาด สัณฐาน รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก ได้แก่ คำ ใหญ่ เล็ก เร็ว ช้า หอม เหม็น เปรี้ยว หวาน ดี ชั่ว ร้อน เย็น ฯลฯ
ตัวอย่าง
– บ้านเล็กในป่าใหญ่
– ผักสดมีประโยชน์ต่อร่างกาย
– น้องสูงพี่เตี้ย
๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลาในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เช้า สาย บ่าย เย็น
ตัวอย่าง
– เขาไปทำงานเช้า
– เย็นนี้ฝนคงจะตก
– เราจากกันมานานมาก
๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ ระยะทาง ได้แก่ คำ ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ฯลฯ
ตัวอย่าง
– พี่เดินหน้า น้องเดินหลัง
– โรงเรียนอยู่ใกล้ตลาด
– แจกันอยู่บนโต๊ะ
๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนหรือปริมาณ ได้แก่คำ มาก น้อย หนึ่ง สอง หลาย ทั้งหมด ฯลฯ
ตัวอย่าง
– เขาไปเที่ยวหลายวัน
– ฉันเลี้ยงสุนัขสองตัว
– คนอ้วนกินจุ
๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ ชอกกำหนดแน่นอน ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น นั้น โน้น เหล่านี้ เฉพาะ แน่นอน จริง ฯลฯ
๖. อนิยมสรรพนาม คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความไม่ชี้เฉพาะ ไม่แน่นอน ได้แก่ คำ อะไร ทำไม อย่างไร ไย เช่นไร ฉันใด กี่ ฯลฯ     
ตัวอย่าง
– เขาจะไปไหนก็ช่างเขาเถอะ
– แม่ซื้ออะไรมาเราก็ทานได้ทั้งนั้น
– เธอมาทำไมไม่มีใครสนใจ
๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเนื้อความเป็นคำถามหรือความสงสัย ได้แก่ คำ อะไร ไหน ทำไม อย่างไร ฯลฯ
ตัวอย่าง
– น้องทำอะไร
– สิ่งใดอยู่บนโต๊ะ
– เธอจะทำอย่างไร
๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ในการเรียกขานและโต้ตอบกัน ได้แก่ คำ คะ ขา ครับ ขอรับ จ๋า จ๊ะ พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ
ตัวอย่าง
– หนู่จ๋ามาหาครูหน่อยซิจ๊ะ
– คุณพ่อครับผมขออนุญาตไปดูหนังนะครับ
– หนูกลับมาแล้วค่ะ
๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความปฏิเสธ ได้แก่ คำ ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ หามิได้ บ่ ฯลฯ
ตัวอย่าง
– เขาไม่ทำการบ้านส่งครู
– คนพูดโกหกจริงไม่มีใครเชื่อถือ     
– หนังสือนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันไม่สามารถรับได้
๑๐. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมประโยค ให้มีความเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ คำที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ชนิดที่ ที่ว่า ว่า เพราะเหตุว่า ฯลฯ
ตัวอย่าง
– เขาฉลาดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
– แม่ทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก
– เขาบอกว่า เขากินจุมาก

๕. คำบุพบท

คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำหนึ่งหรือกลุ่มคำหนึ่งให้สัมพันธ์กับคำอื่น หรือกลุ่มคำอื่น เพื่อแสดงความหมายต่าง ๆ เช่น ความเป็นเจ้าของ ลักษณะ เหตุผล เวลา สถานที่ ประมาณ ความต้องการ เปรียบเทียบ ฯลฯ ได้แก่ คำ ใน แก่ แต่ ต่อ สำหรับ โดย ด้วย ของ แห่ง ใกล้ ไกล ฯลฯ คำบุพบทแบ่งเป็น ๒ พวก คือ
๑. คำบุพบทที่เชื่อมโยงกับบทอื่น
๑.๑ บุพบทนำหน้ากรรม ได้แก่ คำ แก่ ซึ่ง    
ตัวอย่าง
– อย่าเห็นแก่ตัว
– เราต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
๑.๒ บุพบทนำหน้าคำที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ คำ แห่ง ของ
ตัวอย่าง
– สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
– หนังสือของนักเรียน
๑.๓ บุพบทนำหน้าคำบอกลักษณะ ได้แก่ คำ ด้วย กับ แก่ ต่อ
ตัวอย่าง
– ยายกินข้าวด้วยมือ
– ครูให้รางวัลแก่นักเรียนเรียนดี
๑.๔ บุพบทนำหน้าคำบอกเวลา ได้แก่ คำ เมื่อ ตั้งแต่ กระทั่ง จน
ตัวอย่าง
– เขามาถึงบ้านเมื่อเช้านี้
– พ่อทำงานจนเที่ยงคืน
๑.๕ บุพบทนำหน้าคำบอกสถานที่ ได้แก่ คำ ที่ ใน เหนือ ใกล้ จาก แต่
ตัวอย่าง
– เขามาแต่บ้าน
– น้ำอยู่ในตู้เย็น
๑.๖ บุพบทนำหน้าคำบอกประมาณ ได้แก่ คำ ตลอด เกือบ ทั้ง ราว
ตัวอย่าง
– ฝนตกหนักตลอดปี
– น้องไปโรงเรียนเกือบสาย
๒. คำบุพบทที่ไม่เชื่อมโยงกับบทอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์       
ตัวอย่าง
– ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมเป็นหลักสำคัญทางศาสนา
– ข้าแต่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าความเมตตาจากท่าน
– ดูก่อน ท่านผู้เจริญ ความเมตตาต่อสรรพสัตว์เป็นสิ่งพึงกระทำ

๖. คำสันธาน

คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยคข้อความกับข้อความ หรือความให้สละสลวย ได้แก่ คำ และ หรือ แต่ เพราะ ฯลฯ
คำสันธานทำหน้าที่ได้ ๔ ลักษณะ ดังนี้
๑. ใช้เชื่อมคำกับคำ เช่น ฉันและเธอชอบเรียนวิชาภาษาไทย , เธอชอบมะลิหรือกุหลาบ
๒. ใช้เชื่อมข้อความ เช่น คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่อม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
๓. ใช้เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น แม่ชอบปลูกไม้ดอกแต่พ่อชอบปลูกไม้ประดับ , น้องไปโรงเรียนไม่ได้เพราะไม่สบาย
๔.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น เขาก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน , คนเราก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา
คำสันธานมี ๔ ชนิด คือ
๑. คำสันธานเชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่ คำ กับ , และ , ทั้ง…และ , ทั้ง…ก็ ,  ครั้น…ก็ ,  ครั้น…จึง , พอ…ก็
ตัวอย่าง
– พ่อและแม่รักฉันมาก
– ฉันอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
– พอมาถึงบ้านฝนก็ตก
๒. คำสันธานเชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ คำ แต่ ,  แต่ทว่า ,  ถึง…ก็ ,  กว่า…ก็
ตัวอย่าง
– น้องอ่านหนังสือแต่พี่ฟังเพลง
– ถึงเขาจะปากร้ายแต่เขาก็ใจดี
– กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว
๓. คำสันธานเชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ คำ หรือ ,  หรือไม่ก็ ,  มิฉะนั้น ,  ไม่เช่นนั้น ,  ไม่…ก็
ตัวอย่าง
– เธอจะอ่านหนังสือหรือฟังเพลง
– เราต้องขยันเรียนมิฉะนั้นจะสอบตก
– นักเรียนต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนหรือไม่ก็พัฒนาเขตรับผิดชอบ
๔. คำสันธานเชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ จึง ,  เพราะ ,  เพราะว่า ,  เพราะ…..จึง ,  ฉะนั้น…จึง
ตัวอย่าง
– นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนจึงสอบไม่ผ่าน
– เพราะเขาเป็นคนดีจึงได้รับการยกย่อง
– สุพิศมีความรับผิดชอบดังนั้นจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน
ข้อสังเกต
๑. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น เพราะ……จึง, กว่า……ก็ ฯลฯ
๒. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยค เช่น
    อยู่ระหว่างคำ    ฉันซื้อดอกกุหลาบและดอกบัว
    อยู่หน้าประโยค    เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ
    อยู่ระหว่างประโยค    เธอจะเล่นหรือจะเรียน
๓. ประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมจะแยกได้เป็นประโยคย่อยตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป
๔. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท โดยการพิจารณาการแยกประโยคเป็นสำคัญ เช่น
– เราทำงานเพื่อชาติ (เป็นบุพบท)
– เราทำงานเพื่อเราจะได้สนองคุณชาติ (เป็นสันธาน)
๕. คำสันธานอาจเป็นกลุ่มคำก็ได
๖. ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค ที่, ซึ่ง, อัน จัดเป็นคำสันธานด้วย เช่น
– สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
– เขาทำงานอยู่ในท้องถิ่นซึ่งห่างไกลความเจริญ
– ชายที่ยืนอยู่นั้นเป็นทหาร

๗. คำอุทาน

คำอุทาน คือคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งอาจเปล่งออกมาในขณะที่ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ คำอุทานส่วนมากไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายเน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ 
คำอุทานแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก ดังนี้
๑. อุทานบอกอาการ เช่น โอ๊ย อ้าว ว๊าย โอย โอ๊ย ตายจริง คุณพระช่วย โอ้โฮ ฯลฯ เช่น
– โอ๊ย ! เจ็บเหลือเกิน
– ตายจริง ! ฉันไม่น่าลืมเลย
๒. อุทานเสริมบท เช่น อาบน้ำ อาบท่า,  ไปวัด ไปวา,  ผ้าผ่อน,  เสื้อแสง,  เปียกปอน  ฯลฯ

๖. รร (รอหัน)

รอหัน (รร) หมายถึง อักษร   ร  ที่เรียงซ้อนกันสองตัว ถ้าประสมพยัญชนะจะออกเสียงเป็นอัน  เช่น บรรทุก   บรรยาย   บรรลุบรรทม   มรรคา
วิธีการใช้ ร หัน (รร) มีดังนี้
๑. ใช้เมื่อเขียนในคำที่แผลงมาจากคำว่า กระ เช่น กระโชก เป็น กรรโชก
๒. ใช้เมื่อเขียนในคำที่แผลงมาจาก   ประ เช่น    ประทัด   เป็น   บรรทัด     ประดา   เป็น    บรรดา
๓. ใช้เมื่อเขียนในคำที่แผลงมาจาก   คระ  เช่น    คระลอง  เป็น   ครรลอง    คระไล   เป็น  ครรไล
๔. ใช้เมื่อเป็นคำภาษาสันสกฤต เช่น กรรม สวรรค์

๗. ลักษณะของคำไทย

ลักษณะของคำในภาษาไทยมี ๔ ชนิด คือ
๑. คำมูล ๒. คำประสม ๓. คำซ้ำ ๔. คำซ้อน

๑. คำมูล

คำมูล คือ คำที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. คำมูลเป็นพยางค์เดียวโดด ๆ  จะเป็นคำมาจากภาษาใดก็ได้ แต่ต้องเป็นคำเดียว เช่น
    ภาษาไทย     –   พ่อ  แม่  หมู  หมา  แมว  น้อง
    ภาษาจีน       –   เกี๊ยะ  เกี๊ยว  เจี๊ยะ  แป๊ะ  ซิ้ม
    ภาษาอังกฤษ  –   ไมล์  เมตร  ปอนด์  ฟุต
๒. ถ้าเป็นคำหลายพยางค์ เมื่อแยกแต่ละพยางค์แล้ว อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้  แต่ความหมายของแต่ละพยางค์ไม่เกี่ยวข้องกับความหมายของคำมูลนั้นเลย เช่น   กระดาษ  ศิลปะ  กำมะลอ
๓. คำมูลคำเดียวในภาษาไทยอาจมีความหมายได้หลายอย่าง  เช่น
– นกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ในเกาะแห่งหนึ่ง
– พวกเงาะชอบกินลูกเงาะ
ข้อสังเกตคำมูล
คำมูลหลายพยางค์ ควรดูว่าในคำหลายพยางค์นั้นมีความหมายทุกพยางค์หรือไม่ถ้ามีความหมายบ้างไม่มีความหมายบ้างเป็นคำมูลหลายพยางค์ เช่น
    มะละกอ = คำมูล 3 พยางค์                              นาฬิกา = คำมูล 3 พยางค์
    มะ =  ไม่มีความหมาย                                      นา =  มีความหมาย
    ละ =  ไม่มีความหมาย                                      ฬิ  =  ไม่มีความหมาย
    กอ  =  มีความหมาย                                        กา =  มีความหมาย

๒. คำประสม

คำประสม เกิดจากเมื่อเรามีความคิดใหม่ ๆ และความต้องการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เราก็มีวิธีคิดคำเพิ่มขึ้นโดยนำเอาคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประสมกันเรียกว่า คำประสม เกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ขึ้น  เช่น  พัดลม  เตารีด ไฟฟ้า ตู้เย็น ลูกคิด ตากล้อง ผู้แทน เรือบิน  รถราง  น้ำอัดลม  ฯลฯ

คำประสมที่เกิดความหมายใหม่ขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับความหมายเดิมในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ความหมายของคำประสมมีเค้าความหมายเดิมของคำมูลมารวมกันโดยตรง เช่น   รองเท้า ไม้แขวนเสื้อ ไม้กวาด
๒. ความหมายของคำประสมในทำนองเปรียบเทียบ เช่น หางเสือ ลูกเสือ หัวแข็ง ปากแข็ง ปากกา  และบางคำเป็นสำนวน เช่น ยกเมฆ ชักดาบ โคมลอย น้ำพักน้ำแรง ล่มหัวจมท้าย ฯลฯ
๓. คำประสมที่เกิดจากนำคำมูลที่มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือความหมายคล้ายกันมาซ้อนกันเป็นคำขึ้นเช่น ว่องไว ว่ากล่าว เหลียวแล ช้านาน  ถ้อยคำ วิ่งเต้น  รูปภาพ  เรือนหอ ฯลฯ
๔. นำคำมูลที่มีความหมายกว้าง ๆ มาประสมกับคำมูลคำอื่น ๆ ทำให้เกิดความหมายเฉพาะขึ้น เช่น ชาว  (ย่อมาจากผู้ที่อยู่)   เช่น  
– ชาวบ้าน  ชาวเขา  ชาวเกาะ
– นัก (ย่อมาจากผู้ที่กระทำ)  เช่น  นักเรียน  นักร้อง  นักดนตรี
– เครื่อง(ย่อมาจากสิ่งที่ประกอบกันหรือของที่เข้าสำรับกัน)  เช่น  เครื่องยนต์ เครื่องจักร  เครื่องกีฬา  เครื่องเขียน
– ช่าง (ย่อมาจากผู้ที่ชำนาญ)   เช่น  ช่างกล  ช่างยนต์  ช่างเครื่อง
– ที่ (ย่อมาจากตำแหน่งหรือถิ่น)  เช่น   ที่นอน   ที่อยู่
– ผู้ เช่น  ผู้หญิง  ผู้ใหญ่  ผู้น้อย

 ข้อสังเกตคำประสม

๑. คำประสมจะเป็นวิทยาการสมัยใหม่ เช่น เตารีด หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องอบผ้า เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ
๒. คำประสมเป็นคำเดียวกันจะแยกออกจากกันไม่ได้ ความหายจะไม่เหมือนเดิม เช่น นางแบบ  รับรอง  มนุษย์กบ  คำประสมจะเป็นคำใหม่เกิดขึ้น
๓. วิธีสังเกตค่ำประสมนักจะมีลักษณะนามให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น ใบนี้  คนนี้ ชุดนี้ ฯลฯ   เช่น วันนี้ไม่มีคนใช้คนนี้เลย  (คำประสม)
๔. คำประสมที่ขึ้นตนด้วยคำว่า “ลูก แม่” ต้องหมายถึงคนจึงจะเป็นคำประสม เช่น ลูกเสือ (คน)   แม่มด (คน)   ถ้าเป็นลูกของเสือ แม่ของมด  จะเป็นคำเรียงกันธรรมดา  ยกเว้น ลูกน้ำเป็นคำประสม  เพราะมีความหมายเปลี่ยนไป ไม่ใช่ลูกของน้ำ แต่เป็นลูกของยุง เป็นต้น

๓. คำซ้ำ

คำซ้ำ คือ  การนำคำประเภทเดียวกัน ชนิดเดียวกันมาซ้ำ ๆ กัน มักจะมีไม้ยมก (ๆ) เป็นเครื่องสังเกต เช่น แดง ๆ ดำ ๆ ดี ๆ  คำซ้ำมีหลายประเภท  คือ
๑. ซ้ำคำเพื่อบอกความเป็นพหูพจน์ เช่น หนุ่ม ๆ สาว ๆ เด็ก ๆ พ่อ ๆ แม่ ๆ๒
๒. ซ้ำคำเพื่อเน้นน้ำหนักให้มากขึ้น เช่น ขาว ๆ  สวย ๆ ดี ๆ เลว ๆ
๓. ซ้ำคำเพื่อบอกความไม่แน่ใจ เช่น หลัง ๆ  ท้าย ๆ  นั่งอยู่ข้างหลัง ๆ
๔. ซ้ำคำเพื่อแยกออกเป็นส่วน ๆ เช่น ตู้ ๆ ชิ้น ๆ  เรื่อง ๆ
๕. ซ้ำคำเพื่อให้เกิดภาพพจน์ เช่น หม้อข้าวเดือดปุด ๆ เขาพยักหน้าหงึก ๆ เธอใจสั่นริก ๆ เขาไหว้ปลก ๆ ลมพัดฉิว ๆ   ฝนตกจั๊ก ๆ   เป็นต้น
    การซ้ำคำจะซ้ำเป็นคู่ ๆ เช่น 2-4-6-8 คำจะไม่ซ้ำเป็นเลขคี่ เพราะการซ้ำ หมายถึง การกระทำกริยาต่อเนื่องกันไป เช่น เดินเร็ว ๆ เข้า

ข้อสังเกตของคำซ้ำ

๑. คำต่างประเภทกัน ต่างชนิดกันซ้ำกันไม่ได้ เช่น
– นายดำดำนา (ดำแรกเป็นนาม ดำหลังเป็นกิริยา คำคนละชนิดกัน ซ้ำกันไม่ได้)
– แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก  (ลูกคำแรกเป็นกรรม ลูกคำสองเป็นประธาน ซ้ำกันไม่ได้เพราะทำหน้าที่คนละอย่างกัน)
๒. ในกรณีพูดแล้วหยุด มีจังหวะหยุด ถือว่าไม่ได้ทำกิริยาต่อเนื่อง ไม่ใช่คำซ้ำ  เช่น ไป ไป๊ ไปให้พ้น  (ไม่ใช่คำซ้ำ)  เป็นเป็นเป็น ตายเป็นตาย  (ถือว่าไม่ใช่คำซ้ำ คำซ้ำต้องเป็นคู่ ๆ)

๔. คำซ้อน

คำซ้อน หมายถึง  การนำเอาคำใกล้เคียงกัน 2  คำมาซ้อนกัน หรือนำคำ 2 คำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน เช่น บ้านเรือน วิ่งเต้น เต้นรำ ใกล้ชิด ความหมายตรงข้าม เช่น   เท็จจริง  ยากง่าย  ดีชั่ว  ถี่ห่าง  ใกล้ไกล
คำซ้อนมี ๒ ประเภท คือ

๑. คำซ้อนเพื่อความหมาย เราเน้นความหมายเป็นหลัก เช่น ใหญ่โต เล็กน้อย กว้างขวาง
๒. คำซ้อนเพื่อเสียง เราเน้นเสียงเป็นเกณฑ์ มักจะมีเสียงไปด้วยกันได้ เช่น เซ้าซี้ จู้จี้ โยเย โดกเดก งุ่นง่าน ซมซาน ฯลฯ