การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สร้างโดย : นางสาวธันย์พิชา มีกุล
สร้างเมื่อ อังคาร, 17/11/2009 – 20:01
มีผู้อ่าน 496,903 ครั้ง (03/01/2023)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/44278
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เนื้อหาที่จะศึกษาประกอบด้วย
- ความหมาย วัตถุประสงค์ของการปฐมพยาบาล
- หลักทั่วไปของการปฐมพยาบาล
- การพันผ้า
- กรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย
- การปฐมพยาลกรณีได้รับสารพิษ
- การปฐมพยาบาลผู้ที่มีไข้
- การปฐมพยาบาลกรณีตกเลือด เกิดบาดแผล การทำแผล
- การช่วยเหลือผู้จมน้ำ
- การปฐมพยาบาลกรณีถูกสัตว์กัด,ต่อย
- การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Transporting)
- การปฐมพยาบาลผู้ที่กระดูกหัก
1. ความหมาย วัตถุประสงค์ของการปฐมพยาบาล
การปฐมพยาบาล หมายถึง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ณ สถานที่เกิดเหตุ โดยใช้อุปกรณ์เท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น นำมาใช้ในการรักษาเบื้องต้น ควรทำการปฐมพยาบาลให้เร็วที่สุดหลังเกิดเหตุโดยอาจทำได้ในทันที หรือระหว่างการนำผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่รักษาพยาบาลอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย หรืออาการบาดเจ็บนั้นๆ ก่อนที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการดูแลรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาล มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
- เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุต่างๆในขณะนั้น
- เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย
- เพื่อทำให้บรรเทาความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และช่วยให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
- เพื่อป้องกันความพิการ หรือความเจ็บปวดอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
ขอบเขตของผู้ทำการปฐมพยาบาล
ผู้ปฐมพยาบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น จะหมดหน้าที่เมื่อผู้บาดเจ็บปลอดภัยหรือได้รับการรักษาจากแพทย์หรือสถานพยาบาลแล้ว ขอบเขตหน้าที่ของผู้ปฐมพยาบาลมี 2 ประการใหญ่ ๆ คือ
- วิเคราะห์สาเหตุและความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือได้ถูกต้อง มีขั้นตอนดังนี้
- ซักประวัติของอุบัติเหตุ จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้บาดเจ็บที่รู้สึกตัวดี
- ซักถามอาการผิดปกติหลังได้รับอุบัติเหตุ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมากที่บริเวณใด ฯลฯ
- ตรวจร่างกายผู้บาดเจ็บทุกครั้งก่อนให้การปฐมพยาบาล โดยตรวจตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม บาดแผล กระดูกหัก เป็นต้น
- ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยช่วยเป็นลำดับขั้นดังนี้
- ถ้าผู้บาดเจ็บอยู่ในบริเวณที่มีอันตรายต้องเคลื่อนย้ายออกมาก่อน เช่น ตึกพังถล่มลงมา ไฟไหม้ในโรงภาพยนต์ เป็นต้น
- ช่วยชีวิต โดยจะตรวจดูลักษณะการหายใจว่ามีการอุดตันของทางเดินหายใจหรือไม่ หัวใจหยุดเต้นหรือไม่ ถ้ามีก็ให้รีบช่วยกู้ชีวิตซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป
- ช่วยมิให้เกิดอันตรายมากขึ้น ถ้ามีกระดูกหักต้องเข้าเฝือกก่อน เพื่อมิให้มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อมากขึ้น ถ้ามีบาดแผลต้องคลุมด้วยผ้าสะอาด เพื่อมิให้ฝุ่นละอองเข้าไปทำให้ติดเชื้อ ในรายที่สงสัยว่ามีการหักของกระดูกสันหลัง ต้องให้อยู่นิ่งที่สุด และถ้าจะต้องเคลื่อนย้ายจะต้องให้แนวกระดูกสันหลังตรง โดยนอนราบบนพื้นไม้แข็ง มีหมอนหรือผ้าประคองศีรษะมิให้เคลื่อนไหว ให้คำปลอบโยนผู้บาดเจ็บ ให้กำลังใจ อยู่กับผู้บาดเจ็บตลอดเวลา พลิกตัว หรือ จับต้องด้วยความอ่อนโยนและระมัดระวัง ไม่ละทิ้งผู้บาดเจ็บอาจต้องหาผู้อื่นมาอยู่ด้วยถ้าจำเป็น
2. หลักทั่วไปของการปฐมพยาบาล
หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาล
- เมื่อพบผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ต้องรีบช่วยเหลือทันที ยกเว้นในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ เช่น มีแก็สพิษ มีวัสดุกีดขวาง เป็นต้น ให้ย้ายผู้ป่วยออกมาในที่ปลอดภัยเสียก่อนจึงดำเนินการช่วยเหลือ
- ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีที่จะมีอันตรายต่อชีวิตโดยรีบด่วนก่อน
- อย่าให้มีคนมุง ทั้งนี้เพื่อให้มีอากาศปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ และมีบริเวณกว้างขวางเพียงพอ อีกทั้งสะดวกในการให้การปฐมพยาบาลด้วย
- จัดให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่าที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาล และไม่เพิ่มอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บด้วย ควรจัดให้อยู่ในท่านอนหงายและทางเดินหายใจโล่ง พร้อมทั้งสังเกตอาการต่างๆ ของผู้บาดเจ็บ และวางแผนการให้การช่วยเหลืออย่างมีสติ ไม่ตื่นเต้นตกใจ สังเกตสิ่งแวดล้อมว่ามีสิ่งของอันตรายอยู่ใกล้เคียงหรือไม่ ลักษณะของผู้บาดเจ็บนั้นบ่งบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย (suicide) หรือ ถูกทำร้าย (homocide) หรือ เป็นอุบัติเหตุที่แท้จริง
- บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ อาการ ลักษณะของผู้บาดเจ็บเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ได้ทำลงไป พร้อมทั้งนำติดตัวไปกับผู้บาดเจ็บเสมอเพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป
- อย่าทำการรักษาด้วยตนเอง ให้เพียงการปฐมพยาบาลที่จำเป็นอย่างถูกต้อง แล้วนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที
การลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตามความรุนแรง ซึ่งอาจแบ่งได้หลายแบบ ได้ดังนี้
แบบที่ 1
- ลำดับแรก จะต้องให้การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บกรณีที่ทางเดินลมหายใจอุดตัน (obstructed airway) โดยมีอาการหายใจลำบาก หรือ หยุดหายใจ และ มักจะมีการหยุดเต้นของหัวใจตามมา ขั้นต่อไปคือ การเสียเลือดอย่างรุนแรง ศีรษะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง แผลทะลุที่ช่องอกและท้อง ได้รับสารพิษ หัวใจวาย และช็อคขั้นรุนแรง
- ลำดับที่สอง ให้การปฐมพยาบาลแผลไหม้ทุกชนิด กระดูกหัก และการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง
- ลำดับที่สาม ให้การปฐมพยาบาลการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระดูกนิ้วหักมีเลือดซึม
อย่างไรก็ตามการเรียงความสำคัญก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้นด้วย
แบบที่ 2
3. การพันผ้า (Bandaging)
เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากกระดูกหัก หรือมีบาดแผลตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การพันผ้าก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเพื่อร่วมกับการดามอวัยวะที่หัก หรือ พันแผลก่อนนำส่งโรงพยาบาล
4. การปฐมพยาบาลกรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย
1. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
การปฐมพยาบาล
1. ห้ามขยี้ตา ลืมตาในน้ำสะอาด น้ำเกลือ 0.9% หรือ Boric acid 3% กรอกตาไปมาผงอาจหลุดออกมา
2. ถ้าผงอยู่ในเปลือกตาด้านล่าง ให้ดึงเปลือกตาล่างลงมาแล้วใช้ผ้าสะอาดเขี่ยออก
3. ถ้าผงอยู่ในเปลือกตาด้านบน ให้ดึงเปลือกตาบนลงมาทับเปลือกตาล่าง ขนของเปลือกตาล่างจะทำหน้าที่คล้ายแปรง ปัดเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ถ้ายังไม่ออกต้องปลิ้นหนังตาบนออกแล้วใช้มุมชายผ้าสะอาดเขี่ยออก
4. ในกรณีที่ผงฝังในลูกตา ให้หยอดด้วยน้ำมันมะกอก หรือของเหลวที่สะอาดและไม่ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ให้หลับตา ใช้ผ้าปิดตา แล้วส่งโรงพยาบาล
กรณีที่ กรด-ด่าง เข้าตา
โดยที่ด่างจะละลายพวกสารประกอบพวกไขมันที่ผิวของลูกตา ขณะเดียวกันก็แทรกซึมเข้าไปในลูกตาได้ลึกกว่าพวกกรด ซึ่งมีฤทธิ์ไปทำให้โปรตีนที่ผิวของลูกตาตกตะกอน เมื่อโดนสารเคมีพวกนี้เข้าตาจะทำให้เกิดอาการแสบตา น้ำตาไหลพราก เจ็บปวดตามาก ตาแดง เปลือกตาบวม ตาพร่ามัว
การปฐมพยาบาล
1. ล้างตาทันทีด้วยน้ำสะอาดที่อยู่ใกล้มือที่สุด ถ้าไม่มีอาจใช้น้ำก๊อก น้ำในโอ่ง น้ำคลองแทน อย่ามัวรีรอ ขณะล้างตาให้แหวกตาผู้ป่วยให้กว้าง และบอกให้กรอกตาไปมาเพื่อล้างสารเคมีออกไห้มากที่สุด ถ้าเป็นสารละลายกรด ให้ล้างนาน 30 นาที แต่ถ้าเป็นสารละลายด่างควรล้างนานกว่า 1 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันเตรียมจัดส่งไปโรงพยาบาล
2. ในกรณีที่บ้านอยู่ห่างจากโรงพยาบาลมาก เสียเวลาเดินทางนาน ให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดขึ้ผึ้งป้ายตา เช่น ขึ้ผึ้งป้ายตาคลอแรมเฟนนิคอล ป้ายตาเพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกตาติดกัน ถ้ามีอาการปวดตามากให้รับประทานยาแก้ปวดทันที
2. สิ่งแปลกปลอมเข้าหู
อาจเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น ยุง มด หมัด เห็บ แมลงต่างๆ เข้าหู โดยเฉพาะในเด็กจะร้องไห้ ยิ่งแมลงขยับตัว หรือกัดจะเจ็บทุรนทุรายมาก หรือ อาจไม่มีชีวิต เช่น กระดุม เมล็ดพืช
การปฐมพยาบาล
1. ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตใช้น้ำ (ควรเป็นน้ำอุ่น) หยอดเข้าไปในหูให้เต็ม แมลงจะคลานออกมา หรือตายแล้วลอยขึ้นมา แต่ถ้าผู้ป่วยแก้วหูทะลุ ห้ามหยอดน้ำหรือฉีดน้ำเข้าไปเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบได้
2. กรณีใช้น้ำหยอดแล้วแมลงไม่ออกมาจะต้องตะแคงให้น้ำไหลออกให้หมด แล้วหยอดด้วยแอลกอฮอล์ 70 % หรือหยดอีเธอร์ลงไปเพื่อฆ่าแมลง
3. ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ หรืออีเธอร์ ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวแทน เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงกัดแก้วหู หรือใช้ Liquid paraffin
4. ถ้าแมลงนั้นตายและลอยขึ้นมาแล้ว ให้ใช้ไม้พันสำลีที่สะอาดทำความสะอาดหูข้างนั้นถ้าแมลงนั้นตายและไม่ลอยขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแมลงตัวใหญ่ ควรนำส่งโรงพยาบาล
5. กรณีที่ไม่มีชีวิต ให้ตะแคงหูข้างนั้น อาจหลุดออกมาเอง นำส่งโรงพยาบาลในรายที่ไม่ออก ไม่พยายามเขี่ยออกเพราะจะยิ่งทำให้วัตถุเลื่อนลงไปอีก
3. สิ่งแปลกปลอมเข้าคอ
สิ่งแปลกปลอมที่ติดคอ เช่น ก้างปลา กระดูกไก่ สตางค์ หรือฟันปลอม จะพบตั้งแต่ปาก โคนลิ้น ต่อมทอนซิล มักเป็นพวกก้างปลา หรืออาจจะลงในหลอดอาหารส่วนบน ก็อาจไม่เกิดอาการผิดปกติได้ แต่ถ้าเข้าหลอดลมอาจทำให้ทางเดินหายใจอุดตัน และตายได้
กรณีติดคอ จะมีอาการเจ็บเวลากลืน หรือ เจ็บคอมากเวลากลืน
การปฐมพยาบาล
1. ซักประวัติเกี่ยวกับวัตถุแปลกปลอมให้แน่ใจคืออะไร
2. ให้ผู้บาดเจ็บอ้าปากกว้าง ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมชัดเจน ให้ใช้ไม้กดลิ้นที่พันผ้าก็อซหรือผ้าสะอาด กดที่โคนลิ้นแล้วใช้ปากคีบ (forceps) คีบสิ่งแปลกปลอมออกมา ส่วนมากมักจะติดอยู่ที่ข้าง ๆ ต่อมทอนซิล
3. ถ้าเป็นก้างหรือกระดูกขนาดเล็ก ให้ดื่มน้ำมากๆ กลืนก้อนข้าวสุก หรือกลืนขนมปังนุ่มๆ สิ่งแปลกปลอม จะหลุดไปในกระเพาะอาหาร
4. ห้ามใช้มือแคะ หรือล้วง เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่มีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่บวม แดง และเอาออกยากขึ้น อาจมีการอักเสบและติดเชื้อตามมาได้
5. ถ้ามองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมเลย ควรนำส่งโรงพยาบาล แพทย์จะส่องกล้องและใช้คีมคีบออกมา
กรณีเข้าหลอดลม ผู้ป่วยจะมีอาการสำลักอย่างรุนแรง ไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง ถ้ามีการอุดตันมาก จะพบอาการตัวเขียว ปลายมือปลายเท้าเขียวร่วมด้วย
การปฐมพยาบาล
1. ช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออก
1.1 ในกรณีเป็นเด็กเล็ก ให้จับเด็กห้อยศีรษะและตบบริเวณกลางหลัง
1.2 ถ้าเป็นเด็กโต ให้จับนอนคว่ำพาดบนตักผู้ใหญ่ โดยให้ศีรษะของเด็กห้อยต่ำกว่าลำตัว แล้วตบบริเวณกลางหลัง
1.3 ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ให้จับนอนคว่ำพาดลำตัวกับโต๊ะหรือเก้าอี้ แล้วห้อยส่วนศีรษะลงต่ำกว่าลำตัว ใช้มือทั้งสองข้างยันพื้นไว้หรือมีคนช่วยจับ แล้วตบบริเวณกลางหลัง
1.4 ถ้าเป็นคนอ้วนหรือหญิงมีครรภ์ ให้วางมือบริเวณกึ่งกลางหน้าอกเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย ผู้ปฐมพยาบาลอยู่ด้านหลังของผู้ป่วย ให้กดแรงๆ บริเวณหน้าอกติดต่อกัน 6-10 ครั้ง
1.5 กรณีหมดสติให้นอนหงาย วางโคนฝ่ามือถัดจากซี่โครงซี่สุดท้าย วางอีกมือข้างบน กดแรงๆ เข้าด้านในและขึ้นข้างบน 5 ครั้ง
2. หลังจากเอาสิ่งแปลกปลอมออก ให้นำส่งโรงพยาบาล และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดขณะนำส่ง
การช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลมในเด็ก
การช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลมในเด็ก
การช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลมในผู้ใหญ่, คนอ้วน และหญิงตั้งครรภ์
การช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลมในผู้ที่หมดสติ
5. การปฐมพยาลกรณีได้รับสารพิษ
การได้รับสารพิษ หมายความถึง สารพิษเข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทาน สูดหายใจ สัมผัสทางผิวหนัง หรือ ฉีดผ่านทางผิวหนังเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดอันตราย พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้อาจเกิดจากความจงใจ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือจากอุบัติเหตุ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้
ชนิดของสารพิษ
สารที่ทำให้เกิดพิษต่อมนุษย์มีที่มาจากแหล่งต่างๆ กัน อาจเป็นพิษจากสัตว์ เช่น งูพิษ ผึ้ง แมงป่อง พิษจากพืช เช่น เห็ดพิษ ลำโพง ยางน่อง พิษจากแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ตะกั่ว ฟอสฟอรัส สารหนู และสารสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาอันตราย รวมทั้งสารสังเคราะห์ ที่ใช้ในครัวเรือนจำพวกน้ำยาฟอกขาว น้ำยาขัดห้องน้ำ เป็นต้น
สามารถจำแนกสารพิษจากแหล่งต่าง ๆ ตามลักษณะการออกฤทธิ์ เป็น 4 ชนิดดังนี้
1. ชนิดกัดเนื้อ (Corrosive) สารพิษชนิดนี้จะทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไหม้พอง ได้แก่ สารละลายกรด-ด่าง น้ำยาฟอกขาว เป็นต้น
2. ชนิดทำให้ระคายเคือง (Irritants) สารพิษชนิดนี้ทำให้เจ็บปวด ปวดแสบปวดร้อนและมีอาการอักเสบต่อมา ได้แก่ ฟอสฟอรัส สารหนู อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
3. ชนิดที่กดระบบประสาท (Narcotics) สารพิษชนิดนี้จะทำให้หมดสติ หลับลึก ปลุกไม่ตื่น ม่านตาหดเล็ก ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน พิษจากงูเห่า งูจงอาง เป็นต้น
4. ชนิดที่กระตุ้นระบบประสาท (Deliriants) สารพิษชนิดนี้ จะทำให้เกิดอาการเพ้อคลั่ง ใบหน้าและผิวหนังแดง ตื่นเต้น ชีพจรเต้นเร็ว ม่านตาขยาย ได้แก่ Atropine ลำโพง เป็นต้น
สารพิษจากการรับประทาน
สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน ส่วนมากเป็นพวกอาหารเป็นพิษ บูดเน่า เห็ดมีพิษ เป็นตัน ทำให้มีอาการไม่สบาย ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องร่วง นอกจากนี้ยังได้แก่
1. พวกกรดหรือด่างอย่างแรง เมื่อดื่มหรือรับประทานเข้าไป จะกัดทำลายเนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ริมฝีปาก จนถึงกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลไหม้บริเวณปาก ลิ้น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร มีอาการเจ็บปวดรุนแรง อาเจียนออกมาเป็นเลือดสีดำ
2. พวกยาเบื่อหนู เบื่อสุนัข และยาฆ่าแมลง เป็นสารที่ไม่ได้ทำลายเนื้อเยื่อโดยตรง แต่ทำให้มีอาการกระวนกระวาย เพ้อ หายใจลำบาก ผิวหนังแห้ง และร้อน ชีพจรเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหดเกร็ง และชักได้
3. พวกสารกดประสาท เมื่อรับประทานเข้าไปแรกๆ จะรู้สึกตื่นเต้นชั่วคราว ต่อมาจะเซื่องซึม หายใจช้า มีเสียงกรน ผิวหนังเย็นชื้น หน้าและมือเขียวคล้ำ กล้ามเนื้อปวกเปียก ได้แก่ พวกฝิ่น มอร์ฟีน ยานอนหลับ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
หลักการปฐมพยาบาล
ในกรณีรับประทานสารพิษ ผู้ช่วยเหลือต้องประเมินว่าผู้ป่วยรับสารพิษเข้าไปหรือไม่ โดยดูจากอาการและสิ่งแวดล้อมที่พบผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น พบในห้องครัว มีภาชนะบรรจุสารพิษอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อหาชนิดของสารที่รับประทานเข้าไป หรือเก็บตัวอย่างอาเจียนไปให้แพทย์ตรวจ
1. ทำให้สารพิษเจือจาง ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวและไม่มีอาการชัก โดยการให้ดื่มน้ำซึ่งหาง่ายที่สุด ถ้าดื่มนมจะดีกว่า เพราะว่านอกจากจะช่วยเจือจางแล้วยังช่วยเคลือบและป้องกันอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหารถ้ากินสารพิษที่เป็นกรดอย่างแรงเข้าไป ให้ดื่มด่างอ่อนๆ เช่น น้ำปูนใส ผงชอล์คละลายน้ำ หรือถ้ากินด่างอย่างแรงเข้าไป ก็ให้ดื่มกรดอ่อนๆ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว เป็นต้น
2. นำส่งโรงพยาบาลภายใน 15 นาที จะได้ช่วยล้างท้องเอาสารพิษนั้นออกจากกระเพาะอาหาร
3. ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อเอาสารพิษออกจากร่างกาย ในกรณีที่ต้องใช้เวลานานในการนำส่งไปโรงพยาบาล ผู้ช่วยเหลือต้องขจัดเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหารที่ยังไม่ได้ดูดซึมเข้าไปทำอันตรายต่อร่างกาย การทำให้อาเจียนมีหลายวิธี ดังนี้
3.1 ใช้นิ้วชี้หรือด้ามช้อนล้วงกวาดลำคอให้ลึก หรือให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ แล้วล้วงคอ
3.2 ใช้น้ำเกลือแกง 2 ช้อนชาผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือผงมาสตาร์ด 2 ช้อนชา ผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว แล้วให้ดื่มให้หมดใช้น้ำอุ่นละลายสบู่พอสมควร (ห้ามใช้ผงซักฟอก) ใช้ในกรณีรับประทานสารปรอท
แต่การทำให้อาเจียนอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงห้ามทำในผู้ป่วยต่อไปนี้
– หมดสติ หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว
– รับประทานสารพิษชนิดกัดเนื้อ เช่น กรด-ด่าง ซึ่งจะพบรอยไหม้แดงบริเวณปาก การอาเจียนจะเป็นการทำให้สารพิษย้อนกลับขึ้นมาทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของหลอดอาหารและปาก เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น
– รับประทานสารพิษพวกน้ำมันปิโตรเลียม เช่น น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน น้ำมันสน เป็นต้น
– สุขภาพไม่ดี เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น
4. ดูดซับสารพิษในระบบทางเดินอาหาร เป็นการลดปริมาณการดูดซึมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย สารที่ใช้ได้ผลดี คือ Activated charcoal ลักษณะเป็นผงถ่านสีดำ ให้ใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 1 แก้ว ให้ผู้ป่วยดื่ม หรือ ไข่ขาว 3-4 ฟองตีให้เข้ากัน หรือแป้งสาลีละลายน้ำ หรือ น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันสลัด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
6. การปฐมพยาบาลผู้ที่มีไข้
การปฐมพยาบาล ควรปฏิบัติดังนี้
1. เช็ดตัวลดไข้ เพื่อเป็นการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการปวดศีรษะร่วมกับการใช้กระเป๋าน้ำแข็งประคบบริเวณศีรษะและหน้าผาก
2. ให้ยาลดไข้ตามความเหมาะสม เช่น ในเด็กให้ยาพาราเซตามอล น้ำเชื่อมขนาดตามอายุของเด็ก ผู้ใหญ่ให้ยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด (500 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ด
3. ให้ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2,500-3,000 มิลลิลิตร ต่อวัน ยกเว้นในรายที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ
4. ให้นอนพักมากๆ ในห้องที่มีอุณหภูมิไม่สูง อากาศถ่ายเทได้สะดวกและอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้ร่างกาย ได้พักผ่อน ลดกิจกรรมในการใช้พลังงานลง เป็นการลดการใช้ออกซิเจน การเผาผลาญอาหารของร่างกาย
5. ให้อาหารที่มีประโยชน์ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้พลังงานสูง เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น
6. สังเกตความผิดปกติ เช่น สีผิวหนัง อาการหนาวสั่น อาการเพ้อ ชัก เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือทัน
น้ำที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้
การเช็ดตัวลดไข้ ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายโดยใช้หลักการนำความร้อน น้ำที่ใช้แบ่งเป็น 4 ชนิดคือ
1. น้ำธรรมดา อุณหภูมิ 30-37 องศาเซนเซียส ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ทั่วไปและไม่มีอาการหนาวสั่น
2. น้ำเย็น อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซนเซียส มักใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูงๆ
3. น้ำผสมแอลกอฮอล์ โดยใช้แอลกอฮอล์ 70% 1 ส่วน ผสมกับน้ำธรรมดาหรือน้ำแข็ง 3 ส่วน ใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูงมากๆ และอาจเกิดอาการชักได้ง่าย
4. น้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซนเซียส ใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่เป็นเด็ก หรือผู้ที่มีไข้ร่วมกับอาการหนาวสั่น
วิธีการเช็ดตัวลดไข้
1. เตรียมน้ำสำหรับเช็ดตัว ควรเตรียมผ้าอย่างน้อย 2 ผืน พร้อมแจ้งผู้ป่วยทราบ
2. ห่มผ้าให้ผู้ป่วย ถอดเสื้อผ้าออก
3. ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ลูบที่ใบหน้าให้ทั่ว วางพักที่ซอกคอ เปลี่ยนผ้าถูตัวชุบน้ำบ่อยๆ ลูบซ้ำ ๆ 3-4 ครั้ง เพราะบริเวณคอเป็นที่รวมของหลอดเลือดและความร้อน ช่วยใหัความร้อนถ่ายเทได้ดี ถ้ามีอาการหนาวสั่นควรหยุดเช็ดตัว
4. ในเด็กโต จะวางกระเป๋าน้ำแข็งที่ศีรษะ เพื่อให้เกิดความสบายและลดความร้อน
5. ใช้ผ้าชุบน้ำลูบบริเวณอก พักไว้สักครู่ แล้วเปลี่ยนผ้าใหม่ เพื่อให้ความร้อนถ่ายเทได้ดี
6. ใช้ผ้าชุบน้ำลูบแขนทีละข้าง โดยลูบจากปลายแขนเข้าหาหัวใจ พักไว้ที่ข้อพับ รักแร้ สักครู่และให้ผู้ป่วยกำผ้าไว้ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
7. ลูบบริเวณขาทีละข้าง โดยลูบจากปลายขาเข้าหาหัวใจ พักไว้ที่ข้อพับใต้เข่า ฝ่าเท้า ซอกขาหนีบ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
8. ลูบตัวบริเวณด้านหลัง โดยให้ผู้ป่วยตะแคงตัว เริ่มจากบริเวณต้นคอ เข้าหาหัวใจ แลัวเช็ดตัวให้แห้ง ทาแป้งเพื่อความสุขสบาย ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนา หลังจากนั้น 20-30 นาที วัดอุณหภูมิของร่างกายว่าลดลงหรือไม่
7. การปฐมพยาบาลกรณีตกเลือด เกิดบาดแผล การทำแผล
1. การตกเลือด คือการที่มีเลือดไหลออกจากหลอดเลือดปกติ แบ่งได้เป็นตกเลือดภายนอกและตกเลือดภายใน
2. การเกิดบาดแผลนอกจากจะมีการตกเลือดแล้วอาจจะเป็นบาดแผลที่ไม่มีเลือดก็ได้
3. การทำแผลเป็นการป้องกันบาดแผลไม่ให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นและทำให้แผลสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้เป็นปกติ
การตกเลือด
อาการ
จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดและระยะเวลาที่เสียเลือดอาการจะมีดังต่อไปนี้
1. หน้าซีด สังเกตได้จากริมฝีปาก เล็บ ลิ้น เปลือกตาด้านใน ผิวหนัง และฝ่ามือมีสีซีด
2. ผู้ป่วยบอกว่า รู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะ หูอื้อ ตาลาย และเหมือนจะเป็นลม
3. มีอาการช็อค ได้แก่ เหงื่อออก ตัวเย็นชื้น และหมดสติ
4. หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นเบา และเร็ว
การปฐมพยาบาล
ผู้ให้ความช่วยเหลือจะต้องตั้งสติ ไม่ตกใจ และดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้ผู้ป่วยนอนราบ ปลอบผู้ป่วยให้คลายความกังวล นอนอยู่นิ่ง ๆ เปิดบริเวณที่เลือดออกให้เห็นชัดเจน แต่อย่าให้ผู้ป่วยเห็นบาดแผลที่รุนแรง คลายเครื่องแต่งกายให้หลวมๆ
2. ยกส่วนที่เลือดออกให้อยู่สูงกว่าส่วนอื่น และห้ามเลือด
วิธีห้ามเลือด
แบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
1. การกดบาดแผลโดยตรง โดยใช้นิ้วมือที่สะอาดกดลงบนแผลที่มีเลือดออก หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าที่สะอาดที่หาได้ พับเป็นผืนสี่เหลี่ยมหลาย ๆ ชั้น กดลงบนแผล โดยใช้แรงสม่ำเสมอ หรือใช้ผ้าพันรัดแผลให้แน่นหลายๆ รอบ ถ้ามีเลือดซึมออกมาให้เห็น ต้องเพิ่มผ้าอีกหลายชั้นทับลงไป อย่าแกะผ้าผืนเดิมออก เพราะจะทำให้เลือดที่แข็งตัวเป็นลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ฉีกขาดหลุดติดออกมาด้วย เลือดก็จะออกมามากขึ้นอีก หากกดนานประมาณ 5-10 นาที ผ้ายังไม่ชุ่มเลือด แสดงว่าเลือดหยุด ให้ใช้ผ้าอีกผืนทับลงไปให้แน่นพอสมควร ก่อนนำส่งโรงพยาบาล วิธีนี้อาศัยความแน่นของผ้าที่กดหรือพันไว้ จะเป็นตัวช่วยกดลงบนจุดที่มีเลือดออก และจะทำให้เลือดนั้นแข็งตัวอุดปลายหลอดเลือดที่ฉีกขาดได้ หรืออาจใช้ความเย็นของน้ำแข็งช่วยประคบก็จะทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น
2. การกดหลอดเลือดแดงใหญ่เพื่อห้ามเลือด ใช้สำหรับบาดแผลตกเลือดจากหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำที่รุนแรง (ใช้วิธีแรกแล้วไม่ได้ผล) โดยถือหลักให้กดลงตรงจุดที่หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงส่วนที่เกิดแผล โดยหาชีพจรเหนือบาดแผลตามตำแหน่งต่างๆ ได้แก่
2.1 บริเวณคอ จะต้องเอียงหน้าไปทางด้านตรงข้ามกับคอที่จะกดเสียก่อน แล้วกดหลอดเลือดแดงบริเวณด้านข้างและใต้ลูกกระเดือกเล็กน้อย กดให้หลอดเลือดแดงนั้นกดลงไปที่กระดูกต้นคอ ก็จะทำให้เลือดไม่ไหลผ่านไปยังแผลที่มีเลือดออก
2.2 บริเวณแขน ให้กดที่บริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า ใต้รักแร้ลงมาและด้านในใต้ต้นแขน
2.3 บริเวณขา ให้กดได้ที่บริเวณกึ่งกลางขาหนีบ และข้อพับเข่า
การห้ามเลือดโดยการกดบาดแผลโดยตรง
3. การใช้สายรัดห้ามเลือดหรือทูนิเกต์ (Tourniquet) เป็นวิธีการห้ามเลือดวิธีสุดท้าย ในกรณีห้ามเลือดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้เพราะวิธีการนี้ถ้าทำไม่ถูกต้อง เช่น รัดแน่นและนานเกิน 6-8 ชั่วโมง อวัยวะส่วนที่ต่ำกว่าบริเวณที่รัดไว้อาจขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์ตาย ซึ่งทำให้ต้องตัดแขน ขา ทิ้งไป และการห้ามเลือดวิธีนี้ใช้กับอวัยวะส่วนปลาย เช่น แขน ขา เท่านั้น ส่วนสายรัดที่ใช้อาจเป็น เชือก ป่าน ปอ สายยาง ผ้าเช็ดหน้า เนคไท เข็มขัด เถาวัลย์ เป็นต้น
หลักการใช้สายรัดห้ามเลือด
1. ควรหุ้มปลายบริเวณที่รัดด้วยผ้า หรือ อาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มเพื่อป้องกันการเจ็บปวดจากการรัด หรือเกิดแผลที่ผิวหนังตามรอยรัดได้
2. ให้รัดเหนือบาดแผล ไม่ควรชิดบาดแผลเกินไป
3. ไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป การรัดหลวม ๆ จะไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดได้ ดังนั้นจึงควรรัดให้แน่นพอที่เลือดจะหยุดไหลจากแผลก็พอ
4. เมื่อรัดเหนือบาดแผลแล้วให้ยกส่วนปลายแขนหรือขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยลดการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงที่แผล
5. อย่ารัดนาน การรัดแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง การรัดนานเกินไปอาจทำให้มือ เท้า ของแขนขานั้นถูกรัดนั้นเน่าตายจากการขาดเลือด ดังนั้นถ้าเห็นว่ารัดนานพอควรแล้วควรคลายสายรัดออกเสียพักหนึ่ง เพื่อปล่อยให้เลือดผ่านไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆของแขน ขาที่รัดนั้น และเพื่อดูว่าเลือดหยุดไหลออกจากแผลหรือยัง ถ้ายังมีอีกก็รัดต่อ
6. ถ้าแผลไม่ใหญ่และเลือดออกไม่มาก อาจคลายเชือกทุก 15-30 นาที โดยคลายนาน ? -1 นาที ถ้ายังมีเลือดออกอาจคลายเพียง 1-3 วินาทีก็พอ
7. ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องถอดสายรัดออกจนกว่าจะหาวิธีการห้ามเลือดอื่นได้ หรือเมื่อพบแพทย์ที่จะรักษา
8. เพื่อให้การรัดนั้นแน่นเข้าและสะดวกในการคลายเป็นระยะ ๆ อาจใช้วิธีการขันชะเนาะเข้าช่วยดังนี้
1. รัดเหนือแผลให้แน่น 2 รอบแล้วผูก 1 ครั้ง
2. ใช้ไม้ที่แข็งแรง เช่น ตะเกียบ ดินสอ ปากกา เป็นต้น วางลง และผูกซ้ำอีกครั้ง
3.หมุนไม้เพื่อรัดให้แน่นจนเลือดหยุดไหล
4. ผูกปลายไม้อีกด้าน มัดกับแขนเพื่อให้ไม้อยู่กับที่
การเกิดบาดแผล
บาดแผลไหม้
บาดแผลไหม้ หมายถึง บาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อนหรือประกายจากกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อบาดเจ็บ มีผลให้เกิดอาการช็อค เนื่องจากสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมาก และบาดแผลของผิวหนัง ทำให้ติดเชื้อโรค
สาเหตุของบาดแผลไหม้
1. เกิดจากไฟไหม้หรือไฟลวก (flame) ทำให้เกิดการทำลายผิวหนังหรือเนื้อเยื่อของร่างกายจากผลของความร้อนแห้ง เช่น เปลวไฟ โลหะที่ร้อนแดง เป็นต้น
2. น้ำร้อนลวก (Scalds) เป็นการทำลายผิวหนังหรือ เนื้อเยื่อของร่างกายจากความร้อนเปียก เช่น น้ำร้อน ไอน้ำร้อน น้ำมันที่ร้อนๆ ของเหลวต่างๆ ที่ร้อน เป็นต้น
3. แสงแดด (Sunburns) และรังสี (Radiation) เป็นการทำลายผิวหนังจากการได้รับแสงอุลตร้าไวโอเล็ตเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนอันตรายจากรังสีมักเกิดจากอุบัติเหตุของการสร้างและขนถ่ายพลังงานนิวเคลียร์ หรือในบุคคลทำงานในบริเวณที่มีการฉายรังสี และมีการรั่วไหลของรังสี เป็นต้น
4. กระแสไฟฟ้า(Electrical) เกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย หรือ ถูกฟ้าผ่า
5. สารเคมี (Chemical) เกิดจากกรดหรือด่าง จะทำให้เกิดแผลกว้างใหญ่ มีการรุนแรง
บาดแผลไหม้
การปฐมพยาบาลกรณีเกิดบาดแผลจากไฟไหม้
1.หากมีไฟติดอยู่ที่เสื้อผ้า ให้รีบสาดน้ำไปบนตัวเพื่อดับไฟ รีบถอดเสื้อผ้าที่โชกน้ำร้อน น้ำมัน ออก แล้วใช้ผ้าหนา ๆ หรือ ผ้าชุบน้ำสะอาดคลุมตัวผู้บาดเจ็บไว้
2. ใช้น้ำเย็นราดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ หรือ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือ ใช้วุ้นของว่านหางจระเข้วางประคบบริเวณนั้นไว้ จนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะหายไป
3. รีบถอดเครื่องประดับออกจากบริเวณบาดแผล เช่น แหวน สร้อยข้อมือ ก่อนมีอาการบวม
4. อย่าเจาะแผลพุพองหรือตัดเศษผิวหนังออก
5. แผลที่พองแล้วแตกออก ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทาแผล
6.ปิดแผลด้วยผ้าก๊อสหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาด (อย่าใช้สำลี)
การปฐมพยาบาลกรณีเกิดบาดแผลจากวัตถุเคมี
วัตถุเคมี เช่น กรด ด่าง ทำให้เกิดบาดแผลไหม้ที่รุนแรง ได้ทั้งทางดวงตา และผิวหนัง
1. ชะล้างดวงตาและผิวหนังด้วยน้ำเปล่าจำนวนมาก โดยเปิดก๊อกน้ำให้น้ำไหลผ่านบาดแผลนานๆ หากหาน้ำสะอาดไม่ได้ ก็ใช้น้ำที่อยู่ใกล้มือที่สุดไปก่อน แล้วรีบไปพบแพทย์
2. ถ้าเกิดบาดแผลบริเวณหน้า ควรล้างตาด้วยให้สะอาดด้วยน้ำเย็น แล้วใช้ผ้าสะอาดปิดตาไว้ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา
3. รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การปฐมพยาบาลกรณีเกิดบาดแผลจากกระแสไฟฟ้า
อาการที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าดูดมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่ผิวหนังไหม้ หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ช็อค เป็นลม หมดสติ จนเสียชีวิตได้ จึงควรมีการช่วยเหลือดังนี้
1. หากผู้ป่วยติดอยู่กับแหล่งกระแสไฟฟ้ารั่ว รีบปิดสวิตซ์ไฟฟ้า ถ้าหาที่ปิดไม่ได้ให้ใช้ท่อนไม้แห้ง เช่น ด้ามไม้กวาดเขี่ยคนบาดเจ็บออกจากแหล่งไฟฟ้า
2. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้รีบผายปอด ถ้าหัวใจหยุดเต้น โดยคลำชีพจรไม่ได้ ให้นวดหัวใจทันที
3. ถ้าผู้ป่วยหายใจได้เอง แต่หมดสติ ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อไม่ให้เสมหะอุดตันทางเดินหายใจ ตรวจดูตามผิวหนังว่ามีบาดแผลไฟไหม้หรือไม่
4. ถ้าพบบาดแผลให้ใช้น้ำเย็นชะล้าง แล้วปิดแผลด้วยขี้ผึ้งทาแผล แล้วนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
การทำแผล (Dressing)
หลักการดูแลเบื้องต้นในกรณีมีบาดแผล
1. หากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในบาดแผล ควรชะล้างด้วยน้ำสะอาด ให้ออกมากที่สุด แล้วปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาด
2. บาดแผลที่ถูกทิ่ม แทง ตำ ด้วยวัตถุต่างๆ ปักคาอยู่ ห้ามดึงออก ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะเมื่อดึงออกอาจทำให้เลือดออกไม่หยุดได้
3. บาดแผลบริเวณทรวงอก ที่มีทางติดต่อกับช่องปอด ให้ใช้ผ้าหนาๆ ปิดทับบนปากแผลให้แน่นโดยเร็ว เพื่อมิให้อากาศเข้าออกเวลาหายใจ
การปฐมพยาบาลบาดแผลที่ทรวงอก
4. บาดแผลบริเวณหน้าท้อง ควรปิดบาดแผลด้วยผ้าที่สะอาดเพื่อห้ามเลือด หากพบมีส่วนของลำไส้โผล่ออกมา ให้ปิดแผลด้วยผ้าสะอาดที่ชุ่มน้ำเกลือ ให้นอนหงายงอเข่าทั้งสองข้างเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องหย่อน ไม่ควรให้รับประทานน้ำหรืออาหาร ให้รับไปโรงพยาบาล
5. บาดแผลบริเวณแขนและขา ควรห้ามเลือดก่อน หากชิ้นส่วนหลุดออกไปควรเก็บไว้ในถุงพลาสติกแห้ง มัดปากถุงให้ดี นำไปแช่ในน้ำที่มีน้ำแข็งและนำส่งไปยังโรงพยาบาลด้วย เพื่อแพทย์จะได้มีโอกาสผ่าตัดอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บได้
เครื่องใช้ในการทำแผล
1. สำลี หรือผ้าก็อสสำหรับชุบน้ำยาเช็ดแผลและผิวหนังรอบแผล
2. น้ำยาสำหรับทำความสะอาดเลือกใช้ตามความเหมาะสม
2.1 น้ำเกลือ ใช้สำหรับล้างแผล นิยมใช้มากเพราะมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับระดับความเป็นกรด-ด่างของเลือด จงทำให้ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ และขณะทำแผลผู้ป่วยไม่แสบ ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำ 1 ลิตร ผสมเกลือ 1 ช้อนชา ต้มให้เดือด แล้วปล่อยให้เย็น นำมาใช้แทนน้ำเกลือได้
2.2 . น้ำต้มสุก ใช้แทนน้ำเกลือกรณีที่ไม่มีน้ำเกลือ
3. แอลกอฮอล 70% ใช้สำหรับเช็ดผิวหนังรอบๆ แผล เพื่อลดจำนวนเชื้อโรคที่อยู่ตามผิวหนัง
4. ทิงเจอร์ไอโอดีน 2.5% ใช้สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผล และให้ใช้แอลกอฮอล 70% เช็ดตามด้วยทุกครั้งทั้งนี้เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้พอง
5. เบทาดิน (Betadine) ใช้สำหรับเช็ดแผลและผิวหนังรอบแผล เนื่องจากน้ำยานี้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ไม่ระคายเคืองเนื้อเยื่อและผิวหนังเหมือนกับทิงเจอร์ไอโอดีน จึงนิยมใช้ค่อนข้างมาก
6. ยาเหลือง (Acriflavine) ใช้ใส่แผลเรื้อรังต่างๆ
7. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซค์ ใช้สำหรับล้างแผลสกปรก แผลมีหนอง แผลที่ถูกของแหลมทิ่มตำ เช่น ตะปู
8. ผ้าก๊อส แผลทั่วไปนิยมใช้ผ้าก๊อสปิดแผล ขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล
9.พลาสเตอร์ นอกจากนี้อาจใช้ผ้าพันแผล ผ้าผูกยึด
วิธีการทำแผล
ก่อนลงมือทำแผล ควรช่วยผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมในการทำแผล บางครั้งอาจจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยถอดเสื้อผ้าออก และใช้ผ้าห่มคลุม เปิดเฉพาะตำแหน่งแผล วิธีทำแผล แบ่งออกได้ 2 วิธี คือ
1. การทำแผลชนิดแห้ง (dry dressing) ใช้ทำแผลชนิดที่เปิดปากแผลปิด เช่น แผลผ่าตัดที่แผลติดกัน
2. การทำแผลชนิดเปียก (wet dressing) ใช้ทำแผลชนิดที่ปากแผลเปิด เช่น แผลเปื่อยกดทับ แผลผ่าตัดที่มีการติดเชื้อแล้วขอบแผลแยก แผลผ่าตัดที่แพทย์ไม่เย็บขอบแผลเข้าหากัน
ขั้นตอนการทำแผลทั้งสองวิธีแตกต่างกันเฉพาะการเช็ดแผล การทำแผลชนิดแห้ง เพียงแต่ใช้สำลีชุบ แอลกอฮอล 70% เช็ดแผลและผิวหนังรอบแผลเท่านั้น ส่วนการทำแผลชนิดเปียกนั้นใช้สำลีชุบน้ำยาระงับเชื้อเช็ดผิวหนังที่ชิดแผลและบริเวณรอบๆแผลก่อน แล้วจึงใช้น้ำเกลือหรือน้ำยาล้างแผลชนิดอื่นล้างแผลให้สะอาด เมื่อสะอาดดีแล้วใช้ผ้าก๊อสชุบน้ำเกลือใส่ไว้ในแผล เช็ดผิวหนังรอบแผลให้แห้งจึงปิดแผล
8. การช่วยเหลือผู้จมน้ำ
จมน้ำ (Drowning) หมายถึง การตายเนื่องจากการสำลักน้ำที่จมเข้าไปในปอดทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
อาการและอาการแสดง
โดยทั่วไป เมื่อนำผู้จมน้ำขึ้นมาจากน้ำ มักจะพบว่ามีฟองน้ำลายรอบบริเวณริมฝีปากและรูจมูก หายใจช้าลง ชีพจรเบาคลำไม่ชัดเจน ซีด หมดสติ
การช่วยเหลือผู้จมน้ำ ขณะจมให้เข้าฝั่ง
วิธีที่ 1 ใช้วิธีดึงเข้าหาฝั่งโดยการกอดไขว้หน้าอก
วิธีการนี้ผู้ช่วยเหลือต้องเข้าด้านหลังผู้จมน้ำ ใช้มือข้างหนึ่งพาดบ่าไหล่ด้านหลังไขว้ทะแยงหน้าอก จับข้างลำตัวด้านตรงข้ามผู้จมน้ำ มืออีกข้างใช้ว่ายเข้าหาฝั่ง ในขณะที่พยุงตัวผู้จมน้ำเข้าหาฝั่งต้องให้ใบหน้า โดยเฉพาะปากและจมูกผู้จมน้ำอยู่พ้นเหนือผิวน้ำ
วิธีที่ 2 วิธีดึงเข้าหาฝั่งด้วยวิธีจับคาง
วิธีนี้ผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลังของผู้จมน้ำ ใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับขากรรไกรทั้ง 2 ข้างของผู้จมน้ำ แล้วใช้เท้าตีน้ำช่วยพยุงเข้าหาฝั่ง และพยายามให้ใบหน้าของผู้จมน้ำลอยเหนือผิวน้ำ
วิธีที่ 3 วิธีดึงเข้าหาฝั่งด้วยวิธีจับผม
ผู้ช่วยเหลือเข้าด้านหลังผู้จมน้ำ ใช้มือข้างหนึ่งจับผมผู้จมน้ำไว้ให้แน่น แล้วใช้มืออีกข้างว่ายพยุงตัวเข้าหาฝั่ง โดยที่ปากและจมูกผู้จมน้ำลอยเหนือผิวน้ำ วิธีเหมาะสำหรับผู้ที่ดิ้นมาก หรือ พยายามกอดรัดผู้ช่วยเหลือ
การปฐมพยาบาล
1. รีบตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีการหายใจหรือหัวใจไม่เต้น ให้ช่วยหายใจและกระตุ้นการเต้นของหัวใจภายนอก (CPR)รายละเอียดจะกล่าวในบทต่อไป
2. ไม่ควรเสียเวลากับการพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือกระเพาะอาหารในระหว่าง CPR อาจจะจัดให้ผู้จมน้ำนอนในท่าศีรษะต่ำ ประมาณ 15 องศา ปลายเท้าสูงเล็กน้อย
2.1 กรณีมีน้ำในกระเพาะมาก ทำให้ลำบากในการ CPR อาจต้องเอาน้ำออกจากกระเพาะ โดยจัดให้นอนตะแคงตัว แล้วกดท้องให้ดันมาทางด้านยอดอก น้ำก็จะออกจากกระเพาะอาหาร
2.2 ถ้าต้องการเอาน้ำออกจากปอด อาจจัดให้นอนคว่ำตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ก้มตัวลงใช้มือทั้ง 2 ข้างจับบริเวณชายโครงทั้งสองข้างของผู้จมน้ำยกขึ้นและลง น้ำจะออกจากปากและจมูก แต่ก็ไม่ควรเสียเวลากับสิ่งดังกล่าวมากนัก
3. กรณีผู้จมน้ำมีประวัติการจมน้ำเนื่องจากการกระโดดน้ำ หรือ เล่นกระดานโต้คลื่น การช่วยเหลือต้องระวังเรื่องกระดูกหัก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้จมน้ำ โดยเมื่อนำผู้จมน้ำถึงน้ำตื้นพอที่ผู้ช่วยเหลือจะยืนได้สะดวกแล้ว ให้ใช้ไม้กระดานแข็งสอดใต้น้ำรองรับตัวผู้จมน้ำ ใช้ผ้ารัดตัวผู้จมน้ำให้ติดกับไม้ไว้
4. ให้ความอบอุ่นกับร่างกายผู้จมน้ำโดยใช้ผ้าคลุมตัวไว้
5. นำส่งโรงพยาบาลในกรณีอาการไม่ดี
ก. การใช้ไม้กระดานรองรับตัว
ข. การรัดตัวก่อนยกขึ้นจากน้ำ
9. การปฐมพยาบาลกรณีถูกสัตว์กัด,ต่อย
กรณีที่ถูกสัตว์ทำร้ายที่พบบ่อยแบ่งออกได้ดังนี้
1. งูกัด
2. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข, แมว กัด
3. สัตว์ที่มีเหล็กไนต่อย
งูกัด
หากถูกงูกัดควรตีงูให้ตายแล้วเก็บซากไปให้แพทย์ตรวจดูว่าเป็นงูประเภทใด จะได้ใช้เซรุ่มต้านพิษงูฉีดถูกชนิดและให้สังเกตรอยงูกัด ถ้าเป็นรอยงูกัดของงูพิษ จะปรากฏรอยเขี้ยวงูเป็น 2 จุด อาจเป็นรอยลากยาว ขณะกระชากหนี หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว
พิษของงู
มี 3 ประเภทขึ้นอยู่กับชนิดของงู
1. พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) เกิดจากงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา
อาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และตายในที่สุด
2. พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) เกิดจากงูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ
อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว ตายในที่สุด
3. พิษต่อกล้ามเนื้อ (Mytotoxin) เกิดจากงูทะเล
อาการ เริ่มแรก ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมาปัสสาวะสีแดงคล้ำ จากกล้ามเนื้อถูกทำลาย ตามด้วยไตวาย และหายใจล้มเหลว
การปฐมพยาบาล
1. ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล
2. บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม
3. ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว
4. การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ
5. การห้ามเลือดควรใช้ผ้าสะอาดกดแผลโดยตรง
6. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะเคลื่อนไหวมากทำให้พิษของงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น
7. วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำหรือระดับเดียวกับหัวใจ
8. ให้ยาแก้ปวดได้ แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาดองเหล้า
ข้อควรระวัง
– อาการของพิษงูเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หลังถูกกัด หรือ อาจนานถึง 9 ชม. จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
– การฉีดเซรุ่มแก้พิษงู ส่วนใหญ่ทำมาจากม้า ซึ่งอาจแพ้ได้ จึงควรฉีดต่อเมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข, แมว กัด
โรคที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดที่สำคัญคือโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีความเสี่ยงดังนี้
– ถ้าถูกกัดโอกาสจะเป็นโรคเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่กัด
– กัดที่ขา โอกาสเป็นโรค 21%
– กัดที่หน้า โอกาสเป็นโรค 88%
– ถ้าแผลตื้นหรือ เป็นรอยถลอก จะเป็นโรคน้อยกว่าแผลลึกๆ หลาย ๆ แผล
– เชื้อติดต่อสู่คนทางน้ำลาย (ถูกกัด ,เยื่อเมือก)
– ระยะที่แสดงอาการอาจตั้งแต่ 4 วัน – 4 ปี
อาการของสุนัขที่เป็นพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะอาการนำ จะซึมลง กินข้าวและน้ำน้อยลง ระยะนี้กินเวลา 2-3 วัน ก่อนเข้าระยะที่สอง
2. ระยะตื่นเต้น เป็นอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ระยะนี้พบได้ 1-7 วันก่อนเข้าระยะท้าย
3. ระยะอัมพาต จะเกิดอัมพาตทั่วตัว ถ้ามีอาการอัมพาตสุนัขจะตายใน 24 ชม.
รวมระยะเวลาที่เริ่มมีอาการจนถึงตายไม่เกิน 10 วัน ส่วนใหญ่จะตายใน 4-6 วัน
อาการของพิษสุนัขบ้าในคน แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะอาการนำ จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลียคล้ายเป็นไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกไป คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และในคนไทย พบว่ามีอาการคันรอบๆ บริเวณที่ถูกกัด หรือ คันแขนขาข้างที่ถูกกัด อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบๆ บริเวณที่ถูกกัด
2. ระยะอาการทางระบบประสาท แบ่งย่อยเป็น
2.1 อาการกลัวน้ำ จะมีอาการตึงแน่นในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลัก และเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อในลำคอกระตุกเกร็ง ร้องโหยหวนคล้ายหมาเห่าหอน เพราะกล้ามเนื้อควบคุมสายเสียงเป็นอัมพาต
2.2 อาการกลัวลม ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกลมพัด
2.3 อาการประสาทไว ผู้ป่วยจะกลัว สะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง
2.4 อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว
2.5 อาการอื่นๆ เช่น อัมพาต
3. ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เข้าสู่ระยะโคม่า
การปฐมพยาบาล
1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆ ครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้
2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น alcohol 70%
3. ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกก่อนระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก
4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ) ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน
5. กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย
6. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้สัตว์มีอาการก่อน
สัตว์ที่มีเหล็กไนต่อย
สัตว์พวกผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า มดตะนอย พวกนี้ จะมีเหล็กไน และจะมีต่อมน้ำพิษ ผู้ป่วยที่ถูกต่อยจะมีอาการเจ็บ ปวด และบวม ตรงบริเวณที่ถูกต่อย ถ้ายังไม่ดึงเหล็กไนออก กล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกต่อยจะหดตัวต่อไปอีก 2-3 นาที ทำให้เหล็กไนฝังตัวลึกอีก และน้ำพิษจะถูกปล่อยเข้าไปเพิ่มมากขึ้น อาการอื่นๆ ที่พบ คือ ลมพิษ หอบหืด อาเจียน คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการหายใจไม่ออก และช็อกได้จนถึงเสียชีวิตได้ในที่สุด
การปฐมพยาบาล
1. ให้รีบเอาเหล็กไนออก โดยใช้ใบมีดขูดออกหรือใช้เทปใสปิดทาบแล้วดึงออกเหล็กไนจะติดออกมา
2. ล้างบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้ง แล้วทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้ามีอาการปวดมาก ก็ประคบด้วยความเย็น เพื่อลดอาการปวด เมื่ออาการทุเลาลง
3. ทาบริเวณที่ถูกต่อยด้วย antihistamine cream จะบรรเทาอาการบวมแดงได้มาก
4. ถ้าแพ้พิษจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก หน้าเขียว ความดันโลหิตต่ำลงและช็อค กรณีเช่นนี้ต้องใช้สายรัดรัดเหนือบริเวณที่ถูกต่อย ถ้าสามารถทำได้ จนกระทั่งอาการแพ้หมดไป ขณะเดียวกันก็รีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อรู้ว่ามีอาการแพ้พิษดังกล่าว
10. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Transporting)
การเคลื่อนย้ายที่ถูกวิธีมีความสำคัญมาก ถ้าผู้ช่วยเหลือมีประสบการณ์ มีความรู้ ความเข้าใจ มีหลักการและรู้จักวิธีการเคลื่อนย้ายที่ถูกวิธี จะช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีชีวิตรอด ปลอดภัย ลดความพิการ หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้
11. การปฐมพยาบาลผู้ที่กระดูกหัก
กระดูกหัก หมายถึง ภาวะที่ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกัน อาจเป็นการแตกแยกโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางส่วนติดกันอยู่บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแรงที่มากระแทกต่อกระดูก ทำให้แนวการหักของกระดูกแตกต่างกัน
แหล่งที่มา : http://www.nurse.nu.ac.th/web11/E-learning/FirstAid/cai/firstaid011.html