อุบลราชธานี (Ubon Ratchathani) Ep.01 : แก่งสามพันโบก

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ : 05 ธันวาคม 2565

อุบลราชธานี (Ubon Ratchathani) Ep.01

แก่งสามพันโบก

       แก่งสามพันโบก ตั้งอยู่บริเวณบ้านสองคอน เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขงซึ่งเกิดจากแรงน้ำที่กัดเซาะใน ช่วงฤดูน้ำหลากกลายเป็นแอ่งจำนวนมาก ลักษณะคล้ายหาดชมดาวที่อำเภอนาตาล คำว่า “โบก” หมายถึง “แอ่ง” หรือ “บ่อน้ำลึก” สามพันโบกจะปรากฏให้เห็นในช่วงฤดูแล้งยามที่แม่น้ำโขงลดระดับลง ตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม ชาวบ้านเรียกว่า “แกรนด์แคนยอนน้ำโขง”

       ทางเข้าแก่งสามพันโบกจะพบก้อนหินลักษณะคล้ายหัวสุนัข ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า “แต่ก่อนมีเจ้าเมืองเป็นผู้เรืองอำนาจประทับใจความงามของสามพันโบก จึงได้ส่งเสนามาศึกษาเพิ่มเติม เมื่อมาแล้วพบขุมทรัพย์เป็นทองคำ จึงให้สุนัขเฝ้าทางเข้าจนกว่าเจ้าเมืองจะออกมา เมื่อเจ้าเมืองได้เห็นสมบัติเกิดความโลภกลัวเสนาจะได้ส่วนแบ่ง จึงได้ออกไปทางอื่น สุนัขผู้ภักดีก็เฝ้ารออยู่ตรงนั้นจนตาย” บางตำนานก็ว่า “ลูกพญานาคในลำน้ำโขงเป็นผู้ขุดเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกสายหนึ่ง และได้ให้สุนัขเฝ้าทางเข้าระหว่างการขุดจนกระทั่งสุนัขได้ตายลง กลายเป็นหินรูปสุนัขในที่สุด”

  • หาดสลึง หาดทรายขาวละเอียดทอดยาวตลอดแนวลำน้ำโขงกว่า 860 เมตร ตั้งอยู่ที่บ้านปากกะกลาง ตำบลสองคอน นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว หาดสลึงยังเป็นจุดขึ้นเรือเพื่อไปยังสามพันโบกและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อีกด้วย
  • ปากบ้อง เป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุดตลอดระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร โดยมีความกว้างเพียง 56 เมตร
  • หินหัวพะเนียง อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน ถัดจากบริเวณปากบ้องขึ้นไปทางเหนือ 500 เมตร มีแก่งใหญ่ขวางกลางลำน้ำทำให้แม่น้ำโขงแยกเป็นสองสาย เป็นที่มาของบ้านสองคอน “พะเนียง” ในภาษาถิ่นของชาวอุบลราชธานี คือ แท่นไม้ที่ใช้สวมใบไถเหล็ก แต่ลักษณะหินในบริเวณนี้บางกลุ่มจะเป็นช่อแหลมคม ซึ่งเกิดจากการปะทุขึ้นมาของหินทรายร้อนคล้ายหินภูเขาไฟ แต่ไม่ใช่แมกมาหรือลาวา เมื่อปะทุขึ้นมาปะทะกับกระแสน้ำเย็น จึงแข็งตัวกลายเป็นหินที่มีลักษณะเป็นช่อ
  • หาดสองคอน เป็นจุดที่สายน้ำโขงสองสายมาบรรจบกัน คือ สายหนึ่งอยู่ฝั่งไทย อีกสายหนึ่งอยู่ฝั่งลาว ซึ่งจุดนี้จะมีกระแสน้ำไหลแรงและทวนกระแสน้ำด้วย
  • หาดหงส์ เป็นเนินทรายละเอียดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการพัดพาของน้ำและตะกอนที่มาทับถมกันคล้ายทะเลทราย จึงได้รับการขนานนามว่า “มินิซาฮาร่า” หรือ “มินิมุยเน่” (เวียดนาม) ตั้งอยู่ทางใต้ของสามพันโบกและอยู่ก่อนถึงหาดหินสี ด้านท้ายของหาดหงส์จะเป็นพื้นโคลนและดินที่แห้งจนแตกริมแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีฉากหลังเป็นผาหิน เมื่อแสงแดดในช่วงบ่ายตกกระทบกับผืนทรายสีทองจะเกิดเป็นประกายระยิบระยับสวยงามมาก
  • หาดหินสี หรือ ลานหินสี หรือ ทุ่งหินเหลื่อม ลานหินกว้างสลับกับหาดทรายเป็นบางช่วง ตั้งอยู่ทางใต้ของสามพันโบก หินในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะมีผิวเรียบ เป็นมันวาวมีสีเหลือง เทา เขียว ม่วง ส้ม และน้ำเงิน และมี “หินแจกัน” เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหลี่ยมมุมหินเป็นรูปแจกัน

การเดินทาง : จากตัวอำเภอโพธิ์ไทร ใช้ทางหลวงหมายเลข 2337 ตรงไปจนถึงจุดบรรจบระหว่างทางหลวงหมายเลข 2337 กับทางหลวงหมายเลข 2112 ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2112 และเลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงชนบท อบ. 4090 ตรงไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทางลงไปชมสามพันโบก รวมระยะทางจากตัวอำเภอโพธิ์ไทร ประมาณ 23 กิโลเมตร หากมาจากตัวเมืองอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2050 ผ่านอำเภอตระการพืชผล ไปยังอำเภอโพธิ์ไทร และใช้ทางหลวงหมายเลข 2337 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2112 และทางหลวงชนบท อบ. 4090 จนถึงสามพันโบก รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 118 กิโลเมตร

       บริเวณทางลงไปยังสามพันโบก มีรถสองแถวของชาวบ้านในพื้นที่ให้บริการขับพาลงไปยังสามพันโบก คันละ 200 บาท (หากเดินลงไปเองระยะทางประมาณ 250 เมตร) และมัคคุเทศก์เยาวชนพาชมจุดสำคัญของสามพันโบก ค่าใช้จ่ายแล้วแต่นักท่องเที่ยวจะให้

แหล่งข้อมูล : https://thai.tourismthailand.org/Attraction/แก่งสามพันโบก

ภาพโดย : www.thaigoodview.com