นายกฯ เปรียบครูผู้ปิดทองหลังพระ

เทิดพระเกียรติ"ในหลวง"พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน โดยแท้จริง ด้านคุรุสภาดัน 6 ยุทธศาสตร์ พัฒนาครูพัฒนาการศึกษาชาติ
ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพิธีวันครู ครั้งที่ 56 "ครูดี ตามรอย...พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" ประจำปี 2555 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ทำพิธีถวายเครื่องสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พร้อมพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายราชสักการะ "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" และนำครูกล่าวถวายสัตย์ "ครูดี ตามรอย...พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" จากนั้นได้ทำพิธีคารวะครูอาวุโส ได้แก่ คุณครูอรศรี มนตรี ครูผู้สอนระดับอนุบาล คุณครูกาญจนา นันทขว้าง ครูผู้สอนระดับประถมศึกษา และคุณครูสุภาพ วัฒนวิกย์กรรม์ ครู้ผู้สอนระดับมัธยมศึกษา พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษา อาทิ รางวัลคุรุสภา รางวัลครูดีเด่น รางวัลคุรคุณธรรม และรางวัลตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวคำปราศรัยตอนหนึ่งว่า คำว่า "ครู" มีความหมายลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สอน ยังต้องมีหน้าที่ในการอบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์มีคุณธรรม จริยธรรม ให้เหมาะสมกับการเป็นพลเมืองดีของชาติ ครูเหมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ เด็กได้ดีครูก็ภูมิใจ ครูถือเป็นผู้มีจิตอาสาอย่างแท้จริง
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญต่อครูมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ทรงครองสิริราชสมบัติ และทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินโดยแท้จริง ด้วยทรงมีความเป็นครูที่มีพระเมตตาต่อประชาชน เสมือนศิษย์ของพระองค์ ทรงถ่ายทอดความรู้ให้แก่พสกนิกรของท่าน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง โดยผ่านการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ประชาชนที่อยู่ในชนบท แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทรงมีพระราชดำริจัดทำโครงการ "พระดาบส" ซึ่งเป็นรูปแบบของการศึกษานอกระบบที่ช่วยให้ประชาชนได้เรียนหลักสูตรต่างๆ และการศึกษาตามอัธยาศัยก็เช่นกัน พระองค์ได้ทรงพระราชทานความรู้แก่ประชาชนผ่านศูนย์ฝึกศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด" นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา ได้ยื่นข้อเสนอของคุรุสภาต่อนายกฯ โดยมีสาระสำคัญว่า สมัชชาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเห็นว่า รัฐบาลควรกำหนดให้ "ปี 2555 การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ" โดยยึดการศึกษาเป็นภารกิจที่สำคัญของทุกคน ร่วมคิดร่วมทำ ไม่ยึดเป็นภาระของกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อร่วมกันผลักดัน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา, เสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุคคล และองค์กรต่างๆ ในการจัดการศึกษา, ผลักดันให้นักศึกษามีบทบาทในการบริหาร ศธ., พัฒนาการบริหารจัดการหน่วยงานทางการศึกษาสู่มาตรฐานสากล, บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และมุ่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศ